วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ต.ค. 2553
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐสโลวีเนีย
Republic of Slovenia
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในบริเวณยุโรปกลาง ทิศเหนือติดออสเตรีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดฮังการี ทิศตะวันตกติดอิตาลี ทิศตะวันออก และทิศใต้ติดโครเอเชีย มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอเดรียติก
พื้นที่ 20,273 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าไทย 25 เท่า)
เมืองหลวง กรุงลุบลิยานา
ประชากร 2.05 ล้านคน (ปี 2554)
ภูมิอากาศ แบบเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อประมาณ 21 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 0 องศาเซลเซียส
ภาษา สโลวีเนีย ร้อบละ 91.1 เซอร์เบียน-โครเอเชียน ร้อยละ 4.5 อื่นๆ หรือไม่ระบุ ร้อยละ 4.4
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาธิลิก ร้อยละ 57.8 มุสลิม ร้อยละ 2.4 คริสต์นิกายออธอด็อกซ์ ร้อยละ 2.3 คริสต์นิกายอื่นๆ ร้อยละ 0.9 ไม่นับถือศาสนา ร้อยละ 10.1 อื่นๆ หรือไม่ระบุ ร้อยละ 26.5
หน่วยเงินตรา ยูโร
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 46.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 23,230 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -2.4 (ปี 2555)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสองสภา (Bicameral Parliament) คือ วุฒิสภา (National Council) ทำหน้าที่นิติบัญญัติ มี 40 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 22 ที่นั่ง มาจากตัวแทนกลุ่มทางสังคม เศรษฐกิจและสาขาอาชีพต่างๆ 18 ที่นั่ง มีวาระ 5 ปี และ สภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) มี 90 ที่นั่ง มาจากระบบสัดส่วน 50 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 38 ที่นั่ง มาจากผู้แทนชนกลุ่มน้อยชาวฮังกาเรียนและอิตาเลียน 2 ที่นั่ง มีวาระ 4 ปี
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย Alenka Bratusek ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 และ ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ปัจจุบัน คือ นาย Borut Pahor มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 5 ปี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2555
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ยุคสงครามโลกและระบอบสังคมนิยม
สโลวีเนียได้รับความบอบช้ำอย่างมากจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และประเทศมหาอำนาจพยายามแบ่งแยกดินแดนสโลวีเนียออกเป็นส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเสื่อมสลายของราชวงศ์ Habsburg และอาณาจักร Astro-Hugarian ชาวสโลวีน โครอัต และเซิร์บ ได้รวมกันก่อตั้งรัฐอิสระทีมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุง Zagreb และต่อมาด้วยผลจากที่อิตาลีได้เข้าคุกคามยึดครองดินแดนต่างๆ ทำให้ อาณาจักรสโลวีน โครอัต และเซิร์บ ได้ประกาศรวมตัวกับอาณาจักร Serbia และเปลี่ยนชื่อเป็นอาณาจักร Yugoslavia ซึ่งปกครองภายใต้ระบบกษัตริย์ ในปี 2472
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง อาณาจักรยูโกสลาเวียขาดเอกภาพ นายพล Josip Broz Tito ยุติระบอบกษัตริย์ และขึ้นเป็นประธานาธิบดี ซึ่งด้วยนโยบายเด็ดขาดประกอบกับอัจฉริยภาพของประธานาธิบดี Tito ได้ทำให้สาธารณรัฐต่างๆ ของยูโกสลาเวียยังคงรวมกันอยู่ได้
ต่อมาในช่วงที่มีการต่อตั้งกลุ่ม Liberation Front และพรรคคอมมิวนิสต์ อันนำไปสู่การปฏิวัติให้ประเทศเป็นระบบสังคมนิยมนั้น ได้มีการรวมดินแดนสโลวีเนียในปัจจุบันเข้ากับยูโกสลาเวียใหม่ที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยม อย่างไรก็ดี การปกครองในสโลวีเนียเป็นระบบสังคมนิยมที่ไม่รุนแรงโดยได้ผสมผสานระบบกลไกทางตลาดเข้ากับการวางแผนจากส่วนกลาง เป็นผลให้เศรษฐกิจของสโลวีเนียมีความเจริญรุดหน้ามากที่สุดในบรรดา 6 สาธารณรัฐของยูโกสลาเวีย และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจในความเป็นชาวสโลวีน ทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
การแยกตัวเป็นเอกราชของสโลวีเนีย
ความแตกแยกในยูโกสลาเวียเกิดจากปัจจัยพื้นฐานหลายประการ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือปัจจัยทางประวัติศาสตร์ที่สั่งสมมานานกว่าพันปี จากการที่สาธารณรัฐต่างๆ ที่รวมกันเป็นสหพันธ์สาธารณัฐ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งทางด้านเชื้อชาติ ศสนา ความเป็นมาทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติเป็นปัญหาที่คุกรุ่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างชาวโครอัท ชาวเซิร์บ และชาวมุสลิม ทั้งนี้ ในอดีต สโลวีเนียและโครเอเชียเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันและจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี แหน่งราชวงศ์ Habsburg จึงมีความผูกพันทางสังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และจิตใจกับยุโรปตะวันตก ในขณะที่รัฐทั้งหลายทางตอนใต้ ได้แก่ เซอร์เบียน มอนตินิโกร บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และมาเซโดเนีย เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรไปแซนไทน์ และจักรวรรดิ์ออตโตมันมานับพันปี จึงได้รับการหล่อหลอมวัฒนธรรมแบบบอลข่าน คือแบบมุสลิมหรือคริสเตียนตะวันออก (Orthodox)
ในปี 2517 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้ยูโกสลาเวียเปลี่ยนรูปแบบจากรัฐที่รวมอำนาจไว้ที่สูนย์กลางไปเป็นสหพันธ์อย่างหลวมๆ ทั้งนี้ การถึงแก่อสัญกรรมของนายพบ Josip Broz Tito แห่งยูโกสลาเวียในปี 2523 ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยได้เกิดความระส่ำระสายทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในยูโกสลาเวีย และนำไปสู่การเสื่อมลสายของยูโกสลาเวียในเวลาต่อมา
ในปี 2530 กลุ่มปัญญาชนได่รวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตยและเอกราชให้แก่สโลวีเนีย และได้รณรงค์ต่อต้านอำนาจศูนย์กลางจากยูโกลาเวีย ในปี 2533 มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในสโลวีเนีย และในปีเดียวกันได้มีการจัดให้มีการลงประชามติเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชของสโลวีเนีย ซึ่งผลปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 88 ลงเสียงสนับสนุน
วันที่ 25 มิถุนายน 2534 สโลวีเนียประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากยูโกสลาเวีย แต่ถูกกองทัพยูโกสลาเวียบุกเข้าโจมตีในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการเจรจาสงบศึกในเดือนตุลาคม 2534 และสโลวีเนียประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนธันวาคม 2534
สหภาพยุโรปรับรองสโลเวียในฐานะประเทศในเดือนมกราคม 2535 และสโลวีเนียเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในเดือนพฤษภาคม 2535
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 สโลวีเนียได้เข้าเป็สมาชิกสหภาพยุโรปโดยสมบูรณ์ และได้มีการประการศใช้เงินสกุลยูโร เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550
สถานการณ์ทางการเมือง
พรรค Social Democrats (SD) ของนายกรัฐมนตรี Borut Pahor ซึ่งมีนโยบายกลาง-ซ้าย ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2008 โดยได้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากร่วมกับพรรคแนวเสรีนิยม คือ Zares, LDS และพรรคผู้รับบำนาญ DeSUS
รัฐบาลมีนโยบายหลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (sustainable growth) การพัฒนาระบบประกันสังคม (social security) และการสร้างความเป็นนิติรัฐ (state of law)
นอกจากการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลต้องจัดการกับปัญหาเร่งด่วน เช่น ด้านสวัสดิการสังคม การว่างงาน ระบบเงินบำนาญ และการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
การต่างประเทศ
หลังจากประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวียในปี 1991 นโยบายต่างประเทศของสโลวีเนียให้ความสำคัญในลำดับต้นกับการสร้างการยอมรับและสร้างเสริมความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค จนสโลวีเนียได้รับการยอมรับจาก EU ในฐานะรัฐเอกราชภายหลังจากการประกาศเอกราชได้ 6 เดือน และในเดือนเมษายน 1993 ได้ลงนามความตกลงในการมีความร่วมมือกับ EU ซึ่งได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดของประเทศสมาชิก EU
สโลวีเนียเข้าเป็นสมาชิก UN และ OSCE ในปี 1992 และเป็นสมาชิก EU และ NATO ในปี 2004 เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธาน OSCE เมื่อปี 2005 และเป็นประธาน EU ในช่วงครึ่งแรกของปี 2008
นโยบายต่างประเทศสโลวีเนียในปัจจุบันให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับสโลวีเนีย ได้แก่ อิตาลี ฮังการี ออสเตรีย โดยเฉพาะโครเอเชีย ซึ่งมีข้อพิพาทกับสโลวีเนียเรื่องเขตแดน รวมทั้งให้ความสำคัญกับ EU สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย สำหรับประเทศนอกภูมิภาคยุโรปนั้น สโลวีเนียให้ความสำคัญกับการมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกับจีน
สโลวีเนียมีนโยบายที่สอดคล้องกับประชาคมระหว่างประเทศ และได้พยายามเข้าร่วมกับนานาประเทศเพื่อสนับสนุนให้มีสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคยุโรป รวมทั้งให้ความสำคัญกับประเด็นระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน การลดอาวุธ การเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน การปกป้องและพัฒนาเอกลักษณ์ของชาติ และการพัฒนาประชาธิปไตย
สโลวีเนียให้ความสำคัญกับเครือข่ายความมั่นคงมนุษย์ (Human Security Network-HSN) โดยส่งเสริมประเด็น 1) inter-cultural and inter-religious Dialogue 2) การต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับเด็ก 3) การปกป้องเด็กจากการตกเป็นเหยื่อของสงคราม 4) แก้ไขปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยในฐานะประธาน HSN ในวาระก่อนหน้านี้ ให้ความสำคัญ รวมทั้ง 5) การให้ความสำคัญกับประเด็นการค้ามนุษย์ โดยให้การสนับสนุน UN Global Program against Trafficking in Human Beings
หลังจากอัตราการเจริญเติบโตติดลบในปี 2009 คาดการณ์กันว่า GDP จะเติบโตได้ร้อยละ 3 ในช่วงปี 2010-2013 แม้อุปสงค์ภายในประเทศจะลดลงอย่างมากในปี 2009 เนื่องมาจากกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนลดการลงทุนลง แต่ก็จะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในไม่ช้า อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์นี้สามารถช่วยระงับอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นได้ระดับหนึ่งหลังจากที่ขึ้นสูงในปี 2008 นอกจากนั้น การค้าต่างประเทศจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการส่งออกจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าการนำเข้า
สโลวีเนียได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวนสูงมาก ส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการแปรรูป เช่น กิจการธนาคารของรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดตั้ง Office of National Development เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบขนส่งทางรถไฟและท่าเรือให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น
ปัจจุบันเศรษฐกิจของสโลวีเนียพึ่งพาภาคบริการ (ร้อยละ 62 ของ GDP) และการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก (ร้อยละ 58 ของ GDP) ซึ่งการค้า 1 ใน 3 เป็นการค้ากับ EU โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย ฝรั่งเศส และโครเอเชีย
สโลวีเนียมีท่าเรือโคเปอร์ซึ่งสามารถขนถ่ายสินค้าจากยุโรปตะวันออกสู่ทะเลอาเดรียติกเพื่อออกไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย และมีเครือข่ายระบบขนส่งทั้งทางรถไฟและทางบกที่เชื่อมต่อกับประเทศในยุโรป อาทิ เยอรมนี ออสเตรีย เช็ก สโลวาเกีย ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ โครเอเชีย และอิตาลี อีกทั้งเมืองโคเปอร์ยังเป็นเมืองปลอดภาษีด้วย ส่งผลให้มีสินค้าขนถ่ายผ่านท่าเรือดังกล่าวเฉลี่ย 7 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ สโลวีเนียมีเครือข่ายการติดต่อทางธุรกิจกับประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอดีตยูโกสลาเวีย
บริษัทเดินเรือกว่า 30 บริษัท มาขึ้นที่ท่าโคเปอร์ ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่เป็นลำดับสองในแถบเมดิเตอร์เรเนียน และรับเก็บรักษาและกระจายสินค้าเกือบทุกชนิด ส่วนมากคือ รถยนต์ แต่ไม่รับน้ำมันดิบ และของเหลวที่เป็นอันตราย โดยประเทศที่ใช้บริการมาก ได้แก่ ออสเตรีย อิตาลี ฮังการี สโลวาเกีย และเยอรมนี (ตอนใต้) เป็นต้น
การปรับตัวทางเศรษฐกิจภายหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
คาดการณ์ไว้ว่า สโลวีเนียอาจฝืนกฎระเบียบว่าด้วยงบประมาณของ EU ที่มีต่อประเทศสมาชิก โดยการจัดทำงบประมาณขาดดุล เนื่องจากจำเป็นต้องเร่งให้มีการใช้จ่ายของสาธารณะให้มากขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย อย่างไรก็ดี คาดว่า เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นในปี 2010 และน่าจะส่งผลให้การใช้งบประมาณขาดดุลกลับมาอยู่ในระดับต่ำอยู่ในเกณฑ์ที่ Stability and Growth Pact (SGP) กำหนดไว้สโลวีเนียจะต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่นขึ้นเพื่อตอบรับกับการลงทุนต่างประเทศ หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ผ่านพ้น รัฐบาลจะเพิ่มการผูกโยงทางด้านการค้าและเศรษฐกิจเข้ากับ EU มากยิ่งขึ้น อีกทั้งพยายามที่จะดึงเงินลงทุนในกลุ่ม Greenfield แม้ว่าจะมีการแข่งขันสูงและแรงจูงใจจากอัตราดอกเบี้ยสำหรับนักลงทุนที่ลดลง กระบวนการ privatization ของกลุ่มสินทรัพย์ของรัฐบาลต่างๆ ก็ยังคงเป็นไปได้ยากในอนาคตอันใกล้นี้
ประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ EU (เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย ฝรั่งเศส) รัสเซีย กลุ่มประเทศอดีตยูโกสลาเวีย (โครเอเชีย เซอร์เบีย-มอนเตเนโกร) กลุ่มประเทศ CEFTA (Central European Free Trade Agreement ได้แก่ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ฮังการี สโลวีเนีย โรมาเนีย บัลแกเรีย) กลุ่มประเทศ EFTA (European Free Trade Association (EFTA) ได้แก่ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์)
สินค้าส่งออกที่สำคัญ สินค้าแปรรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง เคมีภัณฑ์ อาหาร
สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักร อุปกรณ์การขนส่ง สินค้าแปรรูป เคมีภัณฑ์ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น อาหาร
ความสัมพันธ์ทางการทูต
รัฐบาลไทยได้ประกาศรับรองเอกราชของสโลวีเนียเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2535 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2535
ปัจจุบัน สโลวีเนียอยู่ภายใต้เขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ในขณะที่ฝ่ายสโลวีเนียได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตสโลวีเนียประจำกรุงปักกิ่งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองหลวงของแต่ละฝ่าย โดยฝ่ายไทยอยู่ในระหว่างสรรหากงสุลกิตติมศักดิ์ประจำกรุงลุบลิยานาคนใหม่ สืบแทนนายสวอนโก โวไลย (Zvonko Volaj) ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2551 สำหรับกงสุลกิตติมศักดิ์สโลวีเนียประจำประเทศไทย คือ นางภัทรา พุฒิพรรณพงศ์
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ด้านการค้า
ในปี 2554 มีมูลค่าการค้ารวม 76.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 39.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออก 36.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับสโลวีเนีย
สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังสโลวีเนีย ได้แก่ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากสโลวีเนีย ได้แก่
สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้า ผลิตภัณฑ์เวชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยางพารา
ด้านการลงทุน
จากสถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปัจจุบันไม่มีการลงทุนจากสโลวีเนียในไทย แต่ในอดีตเมื่อปี 2550 สโลวีเนียเคยลงทุนในไทย 1 โครงการ มูลค่ารวม 66 ล้านบาท ผลิตอุปกรณ์วัดและทดสอบระบบโทรทัศน์ รัฐบาลสโลวีเนียมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยค่าจ้างแรงงานฝีมือและแรงงานทักษะไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นใน EU จึงมีลู่ทางที่ไทยและสโลวีเนียจะขยายความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน สโลวีเนียได้เชิญชวนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในสโลวีเนีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจบริการที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยไปลงทุนในกิจการสปาแล้ว 9 แห่ง และมีร้านอาหารไทย 4 ร้าน
ด้านการท่องเที่ยว
ปี 2556 มีนักท่องเที่ยวสโลวีเนียมาเยือนไทยจำนวน 7,072 คน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีจำนวน 5,433 คน ไม่ปรากฏจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปสโลวีเนีย
ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ภายหลังการประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวีย สโลวีเนียได้ขอสืบสิทธิความตกลงที่ไทยมีกับยูโกสลาเวีย 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงทางการค้า และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงฉบับใหม่ระหว่างกัน โดยใช้ความตกลงดังกล่าวเป็นพื้นฐาน นอกจากนี้ ฝ่ายสโลวีเนียได้เสนอขอทำความตกลงอื่นๆ กับไทย โดยมีความตกลงที่ได้ลงนามแล้ว และความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ดังนี้
ความตกลงทีได้ลงนามแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement for the Promotion and Protection of Investment) ลงนามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000
- อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Convention for the Avoidance of Double Taxation and the Prevention of Fiscal Evasion with Respect on Taxes on Income) ลงนามเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 เป็นต้นไป โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศใช้อนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2004 และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งสำเนาประกาศใช้อนุสัญญาฯ เพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Agreement on Scientific and Technological Cooperation) ในชั้นต้น ฝ่ายสโลวีเนียได้ทาบทามขอสืบสิทธิความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างไทยกับยูโกสลาเวีย ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1997 ฝ่ายสโลวีเนียได้เสนอร่างความตกลงฉบับใหม่ให้ไทยพิจารณา และมีการแลกเปลี่ยนร่างโต้ตอบระหว่างกัน จนทั้งสองฝ่ายสามารถเห็นชอบร่างความตกลงฯ ร่วมกัน และมีการลงนามความตกลงฯ เมื่อกันยายน ค.ศ. 2004 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 13 พ.ค. 2010
ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณา
- ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (Agreement for the Exemption of Visa Requirement for the Holder of Diplomatic and Official Passport) ขณะนี้ ร่างโต้ตอบจากฝ่ายสโลวีเนียอยู่ในระหว่างการพิจารณาของไทย
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (Agreement on Trade and Economic Cooperation) เดิมเคยลงนามเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1999 แต่โดยที่สโลวีเนียกำหนดเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2004 ทำให้ความตกลงฯ ฉบับเดิมสิ้นสุด ฝ่ายไทยจึงเสนอร่างความตกลงฉบับใหม่ให้ฝ่ายสโลวีเนียพิจารณา ขณะนี้ฝ่ายไทยและฝ่ายสโลวีเนียเห็นพ้องในร่างความตกลงทุกประเด็น และกำลังดำเนินการตามกระบวนการภายในประเทศเพื่อสามารถลงนามในความตกลง
ข้อมูลคนไทยในสโลวีเนีย
จำนวนคนไทยในสโลวีเนีย 95 คน (ปี 2554)
กรมยุโรป
29 มีนาคม 2556
กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **