วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2552
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
รัฐคูเวต
State of Kuwait
ข้อมูลภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอ่าวอาหรับ ทิศเหนือและทิศตะวันตกติดกับอิรัก ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวเปอร์เซีย ทิศใต้ติดกับซาอุดีอาระเบีย
พื้นที่ ประมาณ 17,818 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง คูเวตซิตี้ (Kuwait City)
ภูมิอากาศ ภูมิอากาศแบบทะเลทราย ช่วงเดือนพฤษภาคม ตุลาคม อากาศร้อนจัด ส่วนช่วงเดือนธันวาคม กุมภาพันธ์ อากาศหนาว
ประชากร 3.8 ล้านคน
เชื้อชาติ คูเวตร้อยละ 45, อาหรับอื่นๆ ร้อยละ 35, อื่นๆ ร้อยละ 20
ภาษาราชการ ภาษาอาหรับ และภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการที่สอง
ศาสนา อิสลามร้อยละ 95 (สุหนี่ ร้อยละ 70 ชีอะห์ ร้อยละ 30) คริสต์ร้อยละ 4.5
วันชาติ (National Day) 25 กุมภาพันธ์
คนไทยในคูเวต นักเรียนไทยประมาณ 40 คน และแรงงานไทยประมาณ 3,000 คน
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-คูเวต 14 มิถุนายน 2506
เวลา ช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง
เจ้าผู้ครองรัฐ H.H. Sheikh Sabah Al-Ahmad Al- Jaber Al-Sabah
นายกรัฐมนตรี H.H. Sheikh Nasser Al-Mohammad Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah
รอง.นรม/รมว.กต. H.E. Sheikh Mohammad Sabah Al-Salem Al-Sabah
รูปแบบการเมือง
ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Hereditary Emirate)
เป็นเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต His Highness Sheikh Sabah Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah ได้ทรงมีพระราชดำรัสต่อประชาชนชาวคูเวตในโอกาสขึ้นครองราชย์ แสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัย โดยประชาชนทุกคนมีความเสมอภาค มีอิสรเสรีภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และมีสิทธิเสรีในการแสดงความคิดเห็น
สถาบันการเมือง
- ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภา แบบสภาเดี่ยว
- ฝ่ายบริหาร เจ้าผู้ครองรัฐ (Amir) แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยอาจคัดเลือกจากบุคคลนอกสภาก็ได้
ประมุขของรัฐ (Amir of Kuwait) His Highness Sheikh Sabah Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah (เชค ซอบะห์ อัลอะห์มัด อัลจาบีร์ อัลซอบะห์) ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต (Amir of the State of Kuwait) องค์ที่ 15 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2549
นายกรัฐมนตรี His Highness Sheikh Nasser Al-Mohammad Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah (เชค นัสเซอร์ อัลโมฮัมมัด อัลอะห์มัด อัลจาบีร์ อัลซอบะห์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ His Excellency Sheikh Dr. Mohammad Sabah Al-Salem Al-Sabah
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของคูเวตเริ่มต้นจากการสร้างเมืองคูเวตในศตวรรษที่ 18 โดยชนเผ่า Uteiba ซึ่งเร่ร่อนมาจากทางเหนือของกาตาร์ ในระหว่างศตวรรษที่ 19 คูเวตพยายามที่จะขอความช่วยเหลือจากอังกฤษเพื่อให้พ้นจากการยึดครองของพวกเติร์กและกลุ่มต่าง ๆ ที่เรืองอำนาจในคาบสมุทรอาระเบีย ในปี 2442 Sheikh Mubarak Al Sabah ได้ลงนามในข้อตกลงกับอังกฤษว่า ตนและผู้สืบทอดอำนาจจะไม่ยอมให้ดินแดนและต้อนรับผู้แทนของต่างประเทศใด ๆ โดยไม่ได้ความยินยอมจากอังกฤษเสียก่อน ส่วนอังกฤษก็ได้ตกลงที่จะให้เงินช่วยเหลือประจำปีแก่ Sheikh Mubarak และทายาทและให้ความคุ้มครองคูเวต โดยอังกฤษได้ดูแลกิจการด้านการต่างประเทศและความมั่นคงให้กับคูเวต
ในช่วงต้นปี 2504 อังกฤษได้ถอนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตสำหรับตัดสินคดีของชาวต่างชาติในคูเวตออกไป และรัฐบาลคูเวตได้เริ่มการใช้กฎหมายของตนเองซึ่งยกร่างโดยนักกฎหมายชาวอียิปต์ คูเวตได้รับอิสรภาพสมบูรณ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2504 ภายหลังการแลกเปลี่ยนหนังสือ (exchange of notes) กับอังกฤษมีการกำหนดเขตแดนระหว่างคูเวตกับซาอุดีอาระเบียในปี 2535 โดยสนธิสัญญา Uqair หลังจากการสู้รบที่เมือง Jahrah สนธิสัญญานี้ยังได้กำหนดเขตเป็นกลางระหว่างคูเวตและซาอุดีอาระเบีย (Kuwaiti Saudi Arabia Neutral Zone) ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 5,180 ตารางกิโลเมตร ติดกับเขตแดนทางใต้ของคูเวต ในเดือนธันวาคม 2512 คูเวตและซาอุดีอาระเบียได้ลงนามในข้อตกลงแบ่งเขตเป็นกลาง (ปัจจุบันเรียกว่า Divided Zone) และปักปันเส้นเขตแดนระหว่างประเทศใหม่ โดยทั้งสองประเทศได้แบ่งน้ำมันทั้งนอกฝั่งและบนฝั่งในเขต Divided Zone อย่างเท่าเทียมกัน
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ภายหลังสิ้นสุดภัยคุกคามจากอิรัก คูเวตได้ดำเนินนโยบาย "การทูตทางเศรษฐกิจ" (Economic Diplomacy) เน้นการใช้ประโยชน์ทางการทูตเพื่อผลทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ชาวคูเวตได้รับผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยงบประมาณทั้งหลายจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในด้านนโยบายต่างประเทศโดยรวม คูเวตมุ่งกระชับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) รวมทั้งกลุ่มสันนิบาตอาหรับ (Arab League) เพื่อการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนมุ่งส่งเสริมความร่วมมือกับกลุ่มประเทศมุสลิมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ในส่วนของบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ คูเวตให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และการต่อต้านการก่อการร้าย
เมื่อปี 2546 คูเวตเข้าเป็นสมาชิก Asia Cooperation Dialogue (ACD) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของไทย ต่อมา H.E. Dr. Mohammad Sabah Al-Salem Al-Sabah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคูเวต ได้เข้าร่วมประชุม ACD ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ที่เมือง Qingdao ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และการประชุม ACD ระดับรัฐมนตรีครั้งที่4 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 ที่กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน แต่ขณะนี้ คูเวตยังไม่ได้เป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนร่วม (Co-Prime Mover) ในสาขาใด
ข้อมูลทางเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 150.6 พันล้าน USD (2550)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 41,823 USD (2550)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 8.5%
มูลค่าการค้าไทย-คูเวต มูลค่าทั้งสิ้น 605.11 ล้าน USD โดยไทยส่งออก 318.07 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 37% และไทยนำเข้า 287.04 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 79% โดยไทยได้ดุลการค้า 31.03 ล้าน USD
สินค้าส่งออกของไทย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องจักรกล ปูนซิเมนต์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
สินค้านำเข้าจากคูเวต น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช และสัตว์ สินแร่โลหะ
ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ
ตลาดนำเข้าสำคัญ EU สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ซาอุดีฯ
ตลาดส่งออกสำคัญ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหรัฐฯ EU
อุตสาหกรรม การผลิตน้ำมัน ปูนซีเมนต์ สร้างและซ่อมเรือ
ผลิตน้ำมันดิบ ประมาณ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 3% ของ
ปริมาณผลิตทั่วโลก
น้ำมันสำรอง 104 พันล้านบาเรล หรือ 8.36% ของประมาณน้ำมันดิบ
สำรองทั่วโลก
สินค้านำเข้าสำคัญ อาหาร วัสดุก่อสร้าง ยานพาหนะและอะไหล่
เครื่องนุ่มห่ม
สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมัน ผลิตภัณฑ์น้ำมัน ปุ๋ย
คูเวตเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันดิบ (2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และก๊าซธรรมชาติ มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการค้า และการลงทุน โดยสำนักงานการลงทุนคูเวต (Kuwait Investment Authority- KIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินทรัพย์สินทั้งหมดภายใต้การบริหารประมาณ 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลกำไรปีละประมาณ 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546 นิตยสาร Financial Times ได้จัดให้คูเวตเป็นประเทศ ที่น่าลงทุนอันดับหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง เนื่องจากมีความเสี่ยงในการลงทุนต่ำ และมีความ สามารถสูงในการจ่ายหนี้คืน (strong debt repayment ability) ทั้งนี้ ในปี 2548 รัฐบาลคูเวตเริ่มก่อสร้างโครงการระดับ Mega Project ได้แก่ การพัฒนาเกาะ Bubiyan เพื่อให้เป็นท่าเรือสำคัญขนส่งสินค้าไปยังประเทศในภูมิภาค และให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
คูเวตใช้นโยบายการค้าเสรี ไม่มีระบบโควตา หรือมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้า โดยเก็บภาษีนำเข้าสินค้า (across the board) ในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่า CIF (ภายใต้ GCC Customs Union Regime) ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี ขณะที่ ภาคการผลิตอื่นๆ มีประมาณร้อยละ 7 ของ GDP ทำให้คูเวตต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค
แม้ระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจคูเวตเติบโตสูงมาก ทำให้รัฐบาล มีรายได้เพิ่มขึ้นและงบประมาณเกินดุล อย่างไรก็ดี คูเวตได้จัดเตรียมแผนเพื่อรองรับกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อาจมีการผันผวน โดยได้เริ่มดำเนินแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Reform Package) มาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งครอบคลุมการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายของรัฐ การลดรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม การแปรรูปวิสาหกิจ และการผลักดันให้บรรจุคนคูเวตเข้าทำงานแทนคนต่างชาติ (Kuwaitization) ส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยออกกฎหมายและกฎระเบียบด้านการลงทุน อาทิ กฎหมายการครอบครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ การปรับปรุงกฎระเบียบการค้า และการอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่นักลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.9 (2551)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 109.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 32,156 ดอลลาร์สหรัฐ (2550)
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปลา กุ้ง
อุตสาหกรรมสำคัญ ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี การผลิตอาหาร ผลิตวัสดุก่อสร้าง
ปริมาณน้ำมันสำรอง 99 พันล้านบาร์เรล (2550) หรือ 8% ของปริมาณน้ำมันดิบสำรองทั่วโลก
ความสามารถในการผลิตน้ำมัน 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณก๊าซสำรอง 56 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.6 (2550)
อัตราผู้ว่างงาน ร้อยละ 3.5 (2547)
สินค้าออกที่สำคัญ น้ำมัน ผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน ปุ๋ย
สินค้าเข้าที่สำคัญ อาหาร วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์และอะไหล่ เครื่องนุ่งห่ม
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
- นำเข้า EU สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ซาอุดิอาระเบีย
- ส่งออก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา EU
สกุลเงิน คูเวตดินาร์ (Kuwaiti Dinars: KWD)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 0.266 KWD หรือ 1 KWD เท่ากับ 127.86 บาท (2551)
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ไทยและคูเวตได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2506 ไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวตเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2526 ในอดีตคูเวตได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำมาเลเซียเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2540 คูเวตได้แต่งตั้งให้นาย Hamood Yusuf M. Al-Roudhan ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตคูเวตประจำประเทศไทยคนแรก
โดยทั่วไปไทยและคูเวตมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง ที่ผ่านมาคูเวตได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของไทยที่เคยช่วยเหลือและสนับสนุนคูเวตมาโดยตลอดในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย ขณะที่ไทยก็ได้สนับสนุนข้อมติทุกข้อเกี่ยวกับเรื่องอิรัก คูเวต และได้ส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังสังเกตการณ์แห่งสหประชาชาติประจำชายแดนอิรัก คูเวต (United Nations Iraq Kuwait Observer Mission UNIKOM) รวมทั้งได้ส่งคณะแพทย์และพยาบาลไปช่วยเหลือคูเวตด้วย
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
- การค้า การค้าระหว่างไทยและคูเวตในแต่ละปีมีมูลค่าการค้าไม่มากนัก โดยปกติไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า เนื่องจากสินค้าที่ไทยนำเข้าจากคูเวตส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ ล่าสุด มูลค่าการค้าของไทยกับคูเวตในปี 2550 มีมูลค่าทั้งสิ้น 385.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าการนำเข้า 160.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการส่งออก224.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 64.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออก ได้แก่ 1. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2. เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ 3. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 4. อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 5. ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ 6. ทองแดงและของทำด้วยทองแดง 7. เสื้อผ้าสำเร็จรูป 8. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 9. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ 10. ผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าที่ไทยนำเข้าจากคูเวต ได้แก่ 1.น้ำมันดิบ
2. น้ำมันสำเร็จรูป 3. ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 4. เคมีภัณฑ์ 5. สินแร่โลหะอื่นๆเศษโลหะและผลิตภัณฑ์6.เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 7. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 8. ธุรกรรมพิเศษ 9.ปูนซีเมนต์ 10. ผลิตภัณฑ์กระดาษ
ฝ่ายคูเวตพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจของไทยทั้งในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยและคูเวต ตลอดจนการใช้คูเวตเป็นฐานในการทำการค้าในภูมิภาค โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูบูรณะอิรักของภาคเอกชนไทย โดยย้ำถึงความสำคัญของการจัดงานแสดงสินค้าในคูเวต และการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คูเวตเป็นตลาดการค้าที่มีศักยภาพอันเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ อาทิ ความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคจากต่างประเทศ จำนวนชาวคูเวตที่มีกำลังซื้อสูงมีประมาณร้อยละ 37 ของประชากร รวมทั้งมีสภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจในอัตราที่สูง และปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเป็นประตูการค้าไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
กลไกทวิภาคีที่สำคัญระหว่างไทย-คูเวต ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วม (JC) ไทย-คูเวต ซึ่งมีการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2542 ที่กรุงเทพฯ (การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ เป็นไปตามความตกลงทางด้านเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งได้ลงนามเมื่อปี 2530) ทั้งสองฝ่ายได้หารือที่จะขยายความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน การเงิน การธนาคาร อุตสาหกรรมน้ำมัน ความร่วมมือทางวิชาการ การท่องเที่ยวและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สำหรับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนนั้น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้นำคณะนักธุรกิจไทย จำนวน 15 คน ไปเยือนคูเวตเมื่อเดือนตุลาคม 2543 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและหาลู่ทางในการร่วมลงทุนระหว่างกัน ขณะที่คณะผู้แทนสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมคูเวตได้พบปะกับภาคเอกชนไทย ในโอกาสที่เข้าร่วมในคณะของเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตเสด็จฯ เยือนไทยเพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติเมื่อเดือนมิถุนายน 2549
- การลงทุน ในด้านการลงทุน ในปี 2533 บ.โอเวอร์ซี เอนเนอร์ยี ซัพพลายของไทย ได้ร่วมทุนกับบริษัทคูเวต ปิโตรเลียมอินเตอร์เนชั่นแนล ก่อตั้งบริษัท คูเวตปิโตรเลียม (ประเทศไทย) ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน Q8 ในประเทศไทย และการผลิตและจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น Q8 สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์เบนซิน และสำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งในภายหลังบริษัทคูเวตปิโตรเลียมได้ขายกิจการให้กับบริษัทปิโตรนาสของมาเลเซีย
คูเวตเริ่มให้ความสนใจไปลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ที่ผ่านมามีนักธุรกิจคูเวตจำนวนหนึ่งสนใจที่จะสร้างพันธมิตรกับฝ่ายไทย เพื่อทำธุรกิจในคูเวต โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจร้านอาหาร เสริมสวย ความงาม สปา เป็นต้น นอกจากนี้ คูเวตยังมีโครงการพัฒนาหมู่เกาะ Failaka และ Bubiyan จึงมีความต้องการการก่อสร้างบ้านพักอาศัยอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานการลงทุนของคูเวต (Kuwait Investment Authority KIA) หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบการลงทุนภาคการเงินของคูเวต มีเงินทุนประมาณ 50 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการเงินกองทุนสำรองของประเทศ ทรัพย์สินของเงินกองทุนเพื่ออนาคต และเงินกองทุนอื่นๆ ของกระทรวงการคลังและของรัฐคูเวต ไปลงทุนในตลาดทั่วโลก เพื่อนำเงินรายได้ส่วนเกินจากน้ำมันเหล่านี้ ไปลงทุนเพื่อในอนาคตจะได้ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน และกองทุนคูเวตเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอาหรับ (Kuwait Fund for Arab Economic Development KFAED) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2504 เงินกองทุนเริ่มต้น 50 ล้านดีนาร์คูเวต (1 ดีนาร์เท่ากับ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 120 บาท) เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ในการพัฒนาแก่ประเทศอาหรับ และได้เพิ่มจำนวนเงินทุนและขยายการให้ความช่วยเหลือในวงกว้างไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2517 คูเวตได้เคยใช้เงินกองทุนนี้แก่ประเทศไทยในการดำเนินโครงการ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเชี่ยวหลาน (ปี 2525), โครงการโรงงานพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำปัตตานี (ปี 2520), โครงการสร้างโรงงานพลังงานบางปะกง 2 ระยะ (ปี 2524 และ 2522) และโครงการไฟฟ้าสำหรับหมู่บ้านใน 3 จังหวัดภาคใต้ (ปี 2519) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,074,584 ดีนาร์คูเวต หรือประมาณ 2,409 ล้านบาท
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
- ด้านวิชาการ คูเวตให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาในระดับมัธยม และปริญญาตรีทุกปี โดยศึกษาในสาขาด้านศาสนา กฎหมายอิสลาม และภาษาอาหรับ ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนไทยอยู่ในคูเวตประมาณ 40 คน
- ด้านการท่องเที่ยว คูเวตเป็นตลาดเล็ก แต่ก็มีศักยภาพสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยในปี 2550 มีนักท่องเที่ยวคูเวต จำนวน 35,083 คน และไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวจากตลาดคูเวตมูลค่า 1,454 ล้านบาท และ ททท.มีนโยบายที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวระหว่างไทย-คูเวต
- ด้านแรงงาน ปัจจุบันมีแรงงานไทยอยู่ในคูเวตประมาณ 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทกึ่งฝีมือ โดยทำงานในภาคเอกชนในประเภทกิจการรับเหมาะขุดเจาะและประกอบท่อส่งน้ำมัน รับเหมาก่อสร้าง อู่ต่อเรือ อู่ซ่อมรถยนต์ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ร้านเสริมสวย และตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี
ความตกลง
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการบินระหว่างไทย-คูเวต (Air Service Agreement) ลงนามเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2519
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าไทย-คูเวต (Economic and Trade Agreement) ลงนามเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2530 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2533
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย-คูเวต (Agreement for the Avoidance of Double Taxation) ลงนามเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2541 และในฉบับแก้ไขเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2546
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการปรึกษาหรือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-คูเวต (MoU on conduvting of Bilateral Consultations between the Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand and Ministry of Foreign Affairs of the State of Kuwait) ลงนามเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551
- ความตกลงระหว่างไทย-คูเวตว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวิชาการ (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the State of Kuwait on Economic and Technical Cooperation) ลงนามเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551
การเยือนที่สำคัญ
- ฝ่ายไทย
การแลกเปลี่ยนการเยือน
- วันที่ 12-14 สิงหาคม 2526 และวันที่ 16-17 มกราคม 2527 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์) เยือนคูเวต
- วันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2528 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา) เยือนคูเวต
- วันที่ 30 มิถุนายน1 กรกฎาคม 2530 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายเฉลียว วัชรพุกก์) เยือนคูเวต
- วันที่ 21-23 มีนาคม 2532 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกร ทัพพะรังสี) เยือนคูเวต ตามคำเชิญของ Sheikh Ali Khalifa Al-Sabah รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคูเวต
- วันที่ 29 ธันวาคม 25332 มกราคม 2534 ในระหว่างการเยือนซาอุดีอาระเบีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์) ได้เข้าเฝ้าเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตที่เมือง Taif ประเทศซาอุดีอาระเบีย (ขณะลี้ภัยสงครามอยู่ในซาอุดีฯ) เพื่อแสดงการสนับสนุนต่อรัฐบาลคูเวตในการต่อต้านการยึดครองของอิรัก
- วันที่ 6-7 พฤษภาคม 2534 (ภายหลังสิ้นสุดสงครามอ่าวเปอร์เซีย) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี) ได้นำคณะสันถวไมตรีของไทยเยือนคูเวต โดยได้เข้าเฝ้า H.H. Sheikh Saad Al-Sabah มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีคูเวต
- เดือนเมษายน 2536 รองประธานรัฐสภา (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) เยือนคูเวต
- วันที่ 22-23 กันยายน 2540 ผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร) ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยเยือนคูเวต
- วันที่ 10-11 มิถุนายน 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ) เดินทางเยือนคูเวต
- วันที่ 17-21 พฤษภาคม 2546 ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์) และคณะ เดินทางเยือนคูเวต และประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง เพื่อขยายตลาดแรงงานในภูมิภาค
- วันที่ 23-30 เมษายน 2547 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และคณะภาคเอกชนไทย เดินทางเยือนตะวันออกกลาง รวมทั้งคูเวต เพื่อขยายตลาดอาหารฮาลาลของไทยในตะวันออกกลาง
- วันที่ 15-20 พฤศจิกายน 2548 รองนายกรัฐมนตรี (ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เดินทางเยือนคูเวต และกลุ่มประเทศ GCC
- ฝ่ายคูเวต
พระราชวงศ์
- วันที่ 10-12 เมษายน 2538 H.H. Sheikh Saad Al-Abdullah Al-Salem Al-Sabah อดีตเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต องค์ที่14 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารคูเวต ได้เสด็จฯ เยือนไทย นับเป็นการเยือนระดับสูงครั้งประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ไทย-คูเวต
- วันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2546 H.H. Sheikh Sabah Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah เสด็จฯ เยือนจังหวัดภูเก็ตเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 11-14 มิถุนายน 2549 H.H. Sheikh Sabah Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต เสด็จฯ เข้าร่วมพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
- วันที่ 13-14 สิงหาคม 2551 H.H. Sheikh Nasser Al-Mohammad Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah นายกรัฐมนตรีรัฐคูเวตเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในระหว่างการเสด็จเยือนประเทศในแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. 2551
รัฐบาล
- วันที่ 23-25 กันยายน 2530 รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคูเวตเยือนไทย
- วันที่ 27-31 กุมภาพันธ์ 2533 Sheikh Ali Khalifa Al-Sabah รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคูเวตเยือนไทย
- วันที่ 31 สิงหาคม4 กันยายน 2533 Dr. Rasheed Al-Ameeri รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคูเวตเดินทางเยือนไทยในฐานะผู้แทนพิเศษของเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตเพื่อขอความสนับสนุนจากไทยต่อรัฐบาลที่ชอบธรรมของคูเวต ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย และยืนยันการดำเนินการลงทุนต่อไปใน ประเทศไทย
- วันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2533 นาย Yahya Fahad Al-Sumaid รัฐมนตรีกระทรวงการเคหะคูเวต เยือนไทย
- เดือนมีนาคม 2536 Dr. Ahmed Al-Rubei รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคูเวต ในฐานะผู้แทนพิเศษของเจ้าผู้ครองรัฐเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 5-8 พฤษภาคม 2536 Dr. Ali Ahmad Al-Gaghli รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคูเวตเยือนไทยในฐานะแขกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
- วันที่ 22-25 สิงหาคม 2536 นาย Ghazi Al-Rayes เอกอัครราชทูตคูเวตประจำกรุงปักกิ่ง เยือนไทยในฐานะผู้แทนพิเศษของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคูเวต
- วันที่ 9-11 ธันวาคม 2540 นาย Ahmad Khaled Al-Kulaib รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมคูเวตเข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกของ (International Labour Organization ILO) ครั้งที่ 12 ที่กรุงเทพฯ
- วันที่ 29-30 สิงหาคม 2544 นาย Talal Al Ayyar รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และรัฐมนตรีกระทรวงไฟฟ้าและน้ำของคูเวต เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของ ILO ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
- วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 Sheikh Ahmad Al-Fahad Al-Sabah รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคูเวต และดำรงตำแหน่งประธาน (Organization of the Petroleum Exporting Countries OPEC) รวมทั้งประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียเดินทางเยือนไทยเพื่อรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- วันที่ 31 กรกฎาคม 2549 Sheikh Mohammed Al-Khaled Al-Sabah ที่ปรึกษาเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ในฐานะทูตพิเศษของนายกรัฐมนตรีคูเวต ได้เดินทางเยือนประเทศไทยและเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งความประสงค์ขอเสียงสนับสนุนให้แก่ Dr. Kazem Bahbahani ผู้สมัครของคูเวตในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO)
- วันที่ 27-29 สิงหาคม 2551 H.E. Dr. Ismail Khundhr Al-Shatti ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคูเวต เยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อติดตามผลการเยือนของนายกรัฐมนตรีรัฐคูเวตเมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคมที่ผ่านมา
ผู้แทนทางการทูต
- ฝ่ายไทย
Royal Thai Embassy
Jabriya, Block No.6,
Street No. 8, Villa No.1
P.O. Box 66647 Bayan 43757 Kuwait
Tel. (96-5) 531-7530-1, 531-4870
Fax. (96-5) 531-7532
E-mail : [email protected] , [email protected] , [email protected]
- ฝ่ายคูเวต
The Embassy of the State of Kuwait
Sathorn Nakhon Tower, 24A Fl.,
100/44 North Sathorn Rd.,
Bangrak, Bangkok 10500
Tel. 0-2636-6600, 0-2636-7461-3
Fax. 0-2636-7360
********************************
กันยายน 2552
กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2056 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **