สาธารณรัฐเลบานอน

สาธารณรัฐเลบานอน

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 มิ.ย. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 53,374 view


สาธารณรัฐเลบานอน
The Republic of Lebanon

ข้อมูลทั่วไป

ภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ที่ตั้ง ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับ ซีเรีย (375 กม.)
ทิศใต้ติดกับอิสราเอล (79 กม.) ทิศตะวันตกติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (225 กม.)

พื้นที่ 10, 400 ตารางกิโลเมตร พื้นดิน 10,230 ตารางกิโลเมตร
พื้นน้ำ 170 ตารางกิโลเมตร

ประชากร 4.2 ล้านคน (2552)

เมื่องหลวง กรุงเบรุต (Beirut)

เชื้อชาติ อาหรับร้อยละ 95 อาร์เมเนียนร้อยละ 4 และอื่น ๆ ร้อยละ 1

วันสถาปนาประเทศ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2486 (1943)

ภาษา ภาษาอาหรับและฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการชาวเลบานอน ส่วนใหญ่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้

ศาสนา อิสลาม ร้อยละ 59.7 (นิกายชีอะต์ ประมาณ ร้อยละ 35 และนิกายสุหนี่ ประมาณ ร้อยละ 21) คริสต์ร้อยละ 39 (Maronites, Greek Orthodox, Armenian Apostolic, Melkite Greek Catholics และ Chaldean Catholic) Druze ร้อยละ 5 และอื่น ๆ ร้อยละ 1.3

เวลา ช้ากว่าไทย 5 ชั่วโมง

ประธานาธิบดี General Michel Suleiman

นายกรัฐมนตรี H.E. Mr.Saad Hariri

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ H.E. Dr. Ali Hussein Al Chami

การเมืองการปกครอง

1. ด้านการเมือง

1.1 เลบานอนอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นเวลากว่า 25 ปี โดยได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2486 หลังจากนั้น เลบานอนได้พัฒนาประเทศและรักษาความเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การเงิน การท่องเที่ยว การเกษตร ศิลปะและวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้มาได้โดยตลอด

1.2 เลบานอนปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ได้รับแต่งตั้งโดยรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้ 1 วาระเป็นเวลา 6 ปี และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มาจากการเลือกตั้ง มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี รัฐสภาแห่งชาติ (National Assembly) มีสมาชิก 128 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีรูปแบบการจัดสรรที่นั่งอย่างทั่วถึงระหว่างกลุ่มศาสนาต่างๆ คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีจำนวน 30 คน

1.3 เลบานอนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 เขต (governorates) และ 25 อำเภอ ได้แก่ 1) Beirut Governorate ซึ่งครอบคลุมกรุงเบรุต 2) Nabatiyeh Governorate 3) Beqaa Governorate 4) North Governorate 5) Mount Lebanon Governorate 6) South Governorate โดย Beirut Governorate เป็นจุดศูนย์กลางความเจริญของประเทศ

1.4 โดยที่เลบานอนมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนาภายในค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นจุดอ่อนและเปราะบางต่อความมั่นคงภายในประเทศ รัฐธรรมนูญเลบานอนจึงประกาศให้เลบานอนเป็นรัฐอาหรับที่เป็นกลางทางศาสนา และมีระบบการกระจายอำนาจทางการเมืองเรียกว่า “Confessionalism” โดยระบุให้ประธานาธิบดีเป็นชาวคริสต์นิกาย Maronite นายกรัฐมนตรีเป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ และประธานรัฐสภาแห่งชาติเป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะต์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ พล.อ.มิเชล สุไลมาน (Michel Suleiman) (ดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551) ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายซาอัด ฮารีรี (Saad Hariri) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552)

1.5 ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในเลบานอนเป็นเหตุให้ไม่สามารถมีการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกประธานาธิบดีคนใหม่มาแทน พล.อ.เอมิล ลาฮูด (Emile Lahoud) ซึ่งได้หมดวาระเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 จนกระทั่งกลุ่มสันนิบาตอาหรับ (Arab League) เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และสามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกลุ่มการเมืองเลบานอนได้ในเดือนพฤษภาคม 2551 ระหว่างการเจรจา ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยฝ่ายพันธมิตรตะวันตก (กลุ่ม March 14) นำโดยนายฮารีรี หัวหน้าพรรค Future Movement บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีราฟิก ฮารีรี (Rafiq Hariri) ที่ถูกลอบสังหารในปี 2549 และฝ่ายพันธมิตรซีเรีย (กลุ่ม March 8) ตกลงเลือก พล.อ.สุไลมาน อดีตผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเลบานอน

1.6 เลบานอนได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งผลปรากฏว่า กลุ่ม March 14 นำโดยนายฮารีรี ได้คะแนนเสียงข้างมาก (68 จาก 128 ที่นั่งในสภาฯ) จึงได้รับเลือกจาก พล.อ. สุไลมาน ให้เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยนายฮารีรีตัดสินใจที่จะพยายามจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์อีกครั้ง เนื่องจากไม่ได้รับเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดจากการเลือกตั้ง จึงต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองตรงข้าม แต่กลับไม่สามารถตกลงโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีกับกลุ่ม March 8(นำโดยกลุ่ม Hizbullah) ได้ โดยภายหลังความพยายามกว่า 2 เดือน นายฮารีรีตัดสินใจเสนอชื่อคณะรัฐมนตรีให้ พล.อ.สุไลมานพิจารณา (เป็นรัฐมนตรีจากกลุ่ม March 14 ของนายฮารีรี 15 คน จากกลุ่ม March 8 10 คน และอีก 5 คน พล.อ.สุไลมานจะเป็นผู้คัดเลือก) แต่ยังคงได้รับการต่อต้านจากนายฮัสซัน นาซาราลลาห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำกลุ่ม Hizbullah นายฮารีรีจึงได้ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ พล.อ.สุไลมาน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 แต่ได้รับเลือกให้กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อพยายามจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552

1.7 ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งใหม่ของนายฮารีรีประสบผลสำเร็จเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2552 เมื่อรัฐสภาเลบานอนได้มีมติรับรองรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่นายฮารีรีเสนอ ภายหลังการเจรจาที่มีทั้งซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย อิหร่าน กาตาร์และสหรัฐฯ เป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยรัฐบาลชุดนี้มีสูตร 15-10-5 โดยกลุ่ม March 14 ของนายฮารีรีได้ตำแหน่ง 15 ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ขณะที่ 10 ตำแหน่งมาจากกลุ่ม March 8 ซึ่งรวมกลุ่ม Hizbullah ด้วย และที่เหลืออีก 5 ตำแหน่งมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้ถือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทั้งในโครงสร้างอำนาจและตัวบุคคล รัฐบาลจะยังคงไม่มีเสถียรภาพและประเด็นอนาคตของกองกำลัง Hizbullah ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มการเมืองในเลบานอน

2. ด้านเศรษฐกิจ

2.1 เศรษฐกิจเลบานอนเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก โดยเน้นหนักด้านธุรกิจบริการ แต่เกษตรกรรมยังคงเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของประเทศ แต่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อุตสาหกรรมป่าไม้ โดยเฉพาะไม้ซีดาร์ ซึ่งเคยเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้ถูกตัดทำลายไปแล้วจำนวนมาก โดยปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ ปูนซีเมนต์ โดยภาคอุตสาหกรรมของเลบานอนมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เพราะอุปสงค์ภายในประเทศมีน้อย แต่ต้องการสินค้านำเข้ามากกว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศได้แก่ อาหารแปรรูปและอัญมณี โดยธุรกิจอัญมณีมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจบริการนั้น ในปี 2550มีสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยเมืองหลวงเบรุตเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญด้านการธนาคาร นอกจากนั้นเลบานอนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของนักท่องเที่ยวระดับบนจากรัฐอาหรับริมอ่าว แต่สงครามกลางเมืองและปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม

2.2 รัฐบาลเลบานอนหลายยุคหลายสมัยต้องประสบปัญหาการใช้จ่ายภาครัฐที่ขาดดุล เนื่องจาก สงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 25 ปี และรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพและขาดความสามารถในการควบคุมการใช้จ่ายก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะที่สะสมอย่างมาก อย่างไรก็ดี ภายหลังสงครามสงบลงเมื่อปี 2533 รัฐบาลเลบานอนได้พยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยว การเกษตร และการเงินการธนาคาร (การลงทุนจากประเทศรัฐริมอ่าว) เศรษฐกิจเลบานอนก็เติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2549 หลักทรัพย์ธนาคารมีมูลค่าสูงถึง 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่ารวมตลาดทุน (Market capitalization) สูงถึง 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ประสบภาวะชะงักงันเนื่องจากสงครามกับอิสราเอลเมื่อปี 2549 และปัญหาวิกฤตการเมืองปี 2550-2551

2.3 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2550 รัฐบาลของนายฟูอาด ซันยูรา (Fuad Siniora) ได้อนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax - VAT) ปฏิรูประบบภาษีและแปรรูประบบ มือถือ แต่ได้รับการประท้วงจาก General Labour Confederation (GLC) สมาพันธ์แรงงาน ซึ่งได้รับการ สนับสนุนของพรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรค Hizbullah พรรค Amal Movement พรรค Free Patriotic Movement และพรรค Syrian Social National Party โดยอ้างว่าแผนปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะการแปรรูประบบโทรคมนาคมเป็นองค์กรเอกชน จะส่งผลประทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยได้มีการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศช่วงเดือนมกราคม 2550 เพื่อกดดันให้รัฐบาลของนายซันยูราลาออกและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนมาก

2.4 ภายหลังสงครามระหว่างกลุ่ม Hizbullah และอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2549 รัฐบาลเลบานอนได้เร่งรุดการฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคภายในประเทศ โดยความร่วมมือและช่วยเหลือของประชาคมโลก โดยฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Paris III (Donors Conference) โดยมีผู้แทนจาก 36 ประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมกว่า 14 องค์กร เพื่อระดมความช่วยเหลือในการบูรณะฟื้นฟูเลบานอน โดยมียอดเงินบริจาคในรูปแบบต่างๆ สูงถึงกว่า 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผู้บริจาครายใหญ่ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (European Bank for Investment) (1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามด้วย ซาอุดีฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้บริจาคสูงสุด (1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

3.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

3.1 ความสัมพันธ์กับซีเรีย ซีเรียและเลบานอนมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งจากประวัติศาสตร์อันยาวนานภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ทำให้ซีเรียเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อเลบานอนทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนชั้นสูงของเลบานอนซึ่งมีอำนาจปกครองประเทศ ซีเรียเคยส่งกำลังทหารเข้ามาในเลบานอนเพื่อช่วยสู้รบในเหตุสงครามกลางเมืองและสงครามกับอิสราเอล จนกระทั่งเมื่อปี 2549 นายราฟิก ฮารีรี อดีตนายกรัฐมนตรีเลบานอนถูกลอบสังหาร และซีเรียถูกมองว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง รัฐบาลเลบานอนจึงขับกองกำลังของซีเรียออกจากประเทศ และระงับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน นับจากนั้น การเมืองภายในเลบานอนจึงได้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุนอิทธิพลของซีเรียและฝ่ายที่ต่อต้าน ล่าสุดภายหลังที่ พล.อ.สุไลมาน เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งสองประเทศจึงได้กลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันอีกครั้ง

3.2 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม Hizbullah และอิสราเอล Hizbullah ได้โจมตีอิสราเอลจาก ทางภาคใต้ของเลบานอนมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่อิสราเอลได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว เพื่อหยุดยั้งการโจมตีของกลุ่มปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organisation - PLO) ซึ่งใช้พื้นที่ของเลบานอนเป็นฐานที่ตั้งโจมตีอิสราเอล ระหว่างที่เลบานอนกำลังเผชิญกับสงครามกลางเมืองในช่วงปี 2521 แม้อิสราเอลจะถอนกำลังออกจากดินแดนดังกล่าวแล้วเมื่อปี 2543 กลุ่ม Hizbullah ในเลบานอน ก็ยังคงปฏิบัติการโจมตีและลักพาตัวทหารอิสราเอล โดยมีเป้าหมายให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวอาหรับ ที่ถูกอิสราเอลจับกุมไปเป็นจำนวนมาก โดยในวันที่ 12 กรกฎาคม 2549 กลุ่ม Hizbullah ได้จับตัวทหารอิสราเอลไป 2 นาย (นาย Ehud Goldwasser และนาย Eldad Regev) อิสราเอลต้องการทำลายศักยภาพการโจมตีอิสราเอลโดย Hizbullah จากทางตอนใต้ของเลบานอน จึงได้โจมตีเลบานอน โดยส่งเครื่องบินถล่มเลบานอน รวมทั้งกรุงเบรุตและปิดกั้นเลบานอนทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ส่งผลให้ชาวเลบานอนเสียชีวิตกว่า 1,000 คน (ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน) และบาดเจ็บหลายพันคน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเลบานอนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และชาวเลบานอนไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 700,000 – 900,000 คน โดยมีชาวอิสราเอลเสียชีวิตประมาณ 116 คน (ส่วนใหญ่เป็นทหาร)

3.3 ความสัมพันธ์กับอิหร่าน อิหร่านได้เข้ามามีอิทธิพลในเลบานอนนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution) ของอิหร่านเมื่อปี 2522 โดยขณะนั้นอิหร่านได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธแก่กลุ่ม Hizbullah โดยอิหร่านมองว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการโจมตีอิสราเอลทางอ้อม ในขณะเดียวกันสามารถแผ่ขยายอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคได้อีกด้วย

3.4 ความสัมพันธ์กับกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ เลบานอนมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินที่ยาวนานกับกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ โดยมีชาวเลบานอนอพยพอาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากประเทศรัฐอ่าวอาหรับก็นิยมไปท่องเที่ยวในเลบานอนเช่นกัน ความสัมพันธ์พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นเมื่อนายราฟิก ฮารีรี ซึ่งถือสัญชาติเลบานอนและซาอุดีฯ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของเลบานอนในช่วงปี 2533-43 โดยนายฮารีรีได้เปิดให้การลงทุนจากรัฐริมอ่าวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ และภายหลังการลอบสังหารนายฮารีรี กลุ่มรัฐอ่าวอาหรับให้การสนับสนุนกลุ่ม March 14 โดยให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยทางการเมืองในหลายโอกาส

3.5 ความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก ฝรั่งเศสยังคงเป็นพันธมิตรหลักของเลบานอน เนื่องจากประวัติศาสตร์การเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิดของนายราฟิก ฮารีรี กับอดีตประธานาธิบดีชีรัคของฝรั่งเศส ก็เป็นส่วนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ การลอบสังหารนายฮารีรี จึงทำให้ความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสและซีเรียตกต่ำลง แต่ล่าสุดประธานาธิบดีซาร์โกซีได้แสดงท่าทีพร้อมที่จะปรับความสัมพันธ์กับซีเรียอีกครั้ง ในส่วนความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ นั้น เลบานอน ยังคงมีความแตกแยกในประเทศอยู่ โดยกลุ่ม March 14 มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากกว่า นับตั้งแต่การลอบสังหารนายฮารีรี ในขณะที่กลุ่ม March 8 และมุสลิมนิกายชีอะต์ต่อต้านสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลในประเด็นความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอล

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)

รายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,380 ดอลลาร์สหรัฐ (2552)

อุตสาหกรรม เหมืองแร่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ไม้และเฟอร์นิเจอร์
ธนาคาร การท่องเที่ยว เครื่องประดับ

สินค้าออกที่สำคัญ กระดาษ ผลิตภัณฑ์อาหาร เส้นใย

สินค้าเข้าที่สำคัญ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค

สกุลเงิน เลบานอนปอนด์ (Lebanese Pound) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับประมาณ 46 ปอนด์เลบานอน (ณ วันที่ 9 มีนาคม 2553)

 

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเลบานอน

1.ด้านการทูตและการเมือง

1.1 ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและเลบานอนได้สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2501 แต่การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันยังมีอยู่น้อย ไทยไม่มีสำนักงานผู้แทนในประเทศเลบานอน แต่ได้แต่งตั้งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงเบรุต คือ นายอิบราฮิม โจเซฟ ซาเล็ม (Ibrahim Joseph Salem) เมื่อปี 2502 โดยเลบานอนอยู่ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด

เลบานอนกำหนดให้สถานเอกอัครราชทูตเลบานอน ณ กรุงนิวเดลี มีเขตอาณาครอบคลุมไทย เนื่องจากเลบานอนได้ปิดสถานเอกอัครราชทูตเลบานอนประจำประเทศไทยซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 2537 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2550 อุปทูต ณ กรุงริยาด ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตเลบานอน ณ กรุงริยาด ว่า รัฐบาลเลบานอนเห็นชอบในหลักการที่จะเปิดสถานเอกอัครราชทูตเลบานอนในประเทศไทยอีกครั้งแล้ว แต่กำลังรอช่วงเวลาที่เหมาะสม

ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางไทยทุกประเภทจะต้องขอรับการตรวจลงตราเข้าเลบานอน ในขณะที่ผู้ถือหนังสือเดินทางเลบานอนก็ต้องขอรับการตรวจลงตราเข้าไทยเช่นกัน โดยในปี 2551 มีนักท่องเที่ยวเลบานอนมาไทยประมาณ 7,000 คน และปัจจุบันมีคนไทยในเลบานอนประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นช่างทองและพ่อครัว และอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเบรุต

1.2 ความสัมพันธ์ในเวทีระหว่างประเทศ
ไทยและเลบานอนมีพันธกรณีระหว่างกันในการแลกเสียงการลงสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) โดยไทยจะลงสมัครแข่งขันสำหรับวาระปี 2560-2561 และเลบานอนวาระปี 2553-2554 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในปี 2552

1.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยแก่เลบานอน
ภายหลังการหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Hizbullah และอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2549 รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เลบานอนตามคำร้องขอความช่วยเหลือไปยังประเทศต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีเลบานอน โดยบริจาคเงินจำนวน 5,670,000 บาท (150,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ผ่านสภากาชาดไทย เพื่อส่งมอบให้ International Committee of the Red Cross (ICRC) เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนชาวเลบานอน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเลบานอนได้มีหนังสือวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ขอบคุณประเทศไทยที่ได้บริจาคเงินช่วยเหลือดังกล่าว

2.ด้านเศรษฐกิจ

เลบานอนมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค มีระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในธุรกิจสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางส่งออกต่อ (re-export) ไปยังประเทศข้างเคียงและยุโรป นอกจากนี้ นักธุรกิจเลบานอนมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทั่วตะวันออกกลางและแอฟริกา จึงมีศักยภาพที่จะเป็นสถานที่สำหรับการ re-export ที่สำคัญ อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเลบานอนยังอยู่ในระดับปานกลาง โดยในปี 2552 ไทยกับเลบานอนมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 18) มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปเลบานอน 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าของเลบานอน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า
สินค้าที่ไทยส่งออกไปเลบานอนที่สำคัญ ได้แก่ 1) น้ำตาลทราย 2) อัญมณีและเครื่องประดับ 3) อาหารทะเลกระป๋อง 4) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ 5) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ 6) หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ 7) ผลิตภัณฑ์ยาง 8) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 9) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 10) ผักกระป๋องและแปรรูป
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเลบานอนที่สำคัญ ได้แก่ 1) นาฬิกาและส่วนประกอบ 2) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 3) เครื่องประดับอัญมณี 4) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 5) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 6) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ 7) เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน 8) ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ 9) แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ 10) วัสดุทำจากยาง

3.การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

- วันที่ 2-4 มีนาคม 2542 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง การต่างประเทศ เยือนเลบานอน
- วันที่ 20-22 มกราคม 2552 นายจริย์วัฒน์ สันตะบุตร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเลบานอน

ฝ่ายเลบานอน

- เดือนมิถุนายน 2540 ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเลบานอน เยือนไทย

ผู้แทนทางการทูต

ฝ่ายไทย

ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาดเป็นจุดติดต่อ (contact point)
Royal Thai Embassy at Riyadh,
Diplomatic Quarter
Ibnu Banna Road,
P.O.Box 94359
RIYADH 11693
โทรศัพท์ (9661) 488-1174, 448-0300
โทรสาร (9661) 488-1179


กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงเบรุต ได้แก่ นาย Ibrahim Joseph Salem
Royal Thai Consulate – General
P.O.Box 4200
Beirut LEBANON
Code : 00961 – 1
Tel. 615870
Fax. 615869

ฝ่ายเลบานอน

เอกอัครราชทูตเลบานอนประจำไทยมีถิ่นพำนักที่กรุงนิวเดลีประเทศอินเดีย
The Embassy of the Republic of Lebanon
10, Sardar Patel Marg, Chankyapuri
New Delhi - 110 021
Tel.: (91-11) 2411-0919, 2411-1415
Fax: (91-11) 2411-0818
E-mail: lebemb@ bol.net.in

ขอทราบข้อมูลการขอตรวจลงตรา (วีซ่า) เข้าเลบานอนได้ที่
www.general-security.gov.lb

********************************
เมษายน 2553

กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2059 E-mail : [email protected]

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ