วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2552
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
Federal Democratic Republic of Napal
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทือกเขาหิมาลัย ทิศเหนือติดกับแคว้นทิเบตของจีน ทิศใต้ติดกับอินเดีย
พื้นที่ 147,181 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงกาฐมาณฑุ (Kathmandu)
ประชากร ประมาณ 29.9 ล้านคน (2554) ประกอบด้วยมองโกลอยด์จากทิเบต และอินโดอารยันจากทางตอนเหนือของอินเดีย
ภูมิอากาศ มีพายุฝนในฤดูร้อน และมีอากาศเย็นจัดในฤดูหนาว
ภาษา ภาษาเนปาลีเป็นภาษาราชการ
ศาสนา ฮินดู ร้อยละ 86 พุทธ ร้อยละ 7.8 และอื่นๆ ร้อยละ 7
หน่วยเงินตรา เงินรูปีเนปาล (Nepalese rupee) 1 รูปีเนปาล เท่ากับประมาณ 0.37 บาท
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 18.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,329 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.5 (ปี 2554)
ปัจจุบันการเมืองภายในเนปาลยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านตามกระบวนการ ประชาธิปไตย ยังขาดเสถียรภาพ นโยบายหลักของรัฐบาลชั่วคราวคือ จัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าและสถานการณ์ภายในประเทศ โดยมุ่งมั่นที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นโยบายต่างประเทศ
ในด้านการต่างประเทศนั้น เนปาลต้องการรื้อฟื้นและสร้างภาพพจน์ของเนปาลในเวทีระหว่างประเทศ โดยจะร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ ยึดถือค่านิยมประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และเร่งฟื้นฟูการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศ เน้นความเป็นมิตรและพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกประเทศ บนพื้นฐานอธิปไตยที่เท่าเทียมกัน เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และจะไม่ให้ผู้ใดใช้ดินแดนของเนปาลในการดำเนินกิจกรรมใดๆ อันจะเป็นปรปักษ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับอินเดีย และมีปัญหาเรื่องผู้อพยพของภูฏานในเนปาล ซึ่งเนปาลพยายามผลักดันให้กลับคืนภูฏาน และเนปาลให้ความสำคัญมากต่อความร่วมมือในภูมิภาค คือ สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation หรือ SAARC) และความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและ เศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC)
ด้านเศรษฐกิจ เนปาลต้องพึ่งพาการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ ได้แก่ จีน และอินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจเนปาลอย่างมาก ทั้งนี้ เนปาลได้เริ่มฟื้นฟูพัฒนาประเทศซึ่งบอบช้ำจากการต่อสู้ระหว่างรัฐบาล พรรคการเมืองและกลุ่ม Maoist เนปาลต้องการความช่วยเหลือทางการเงินและโครงการความช่วยเหลือจากนานาประเทศ เพื่อเร่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน จัดสรรที่อยู่ให้แก่ผู้พลัดถิ่น และดูแลครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและเนปาลได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2502 และได้ยกระดับเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อปี 2512 เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ คนปัจจุบัน คือ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ และเอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย คือ นายนวีน ประกาศ ชังคะ ชาห์ (Naveen Prakash Jung Shah)
1.1 ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ในฐานะมิตรประเทศไทยส่งนายทหาร 7 คนเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังของสหประชาชาติ UN Political Mission in Nepal (UNMIN) เพื่อทำการตรวจตราอาวุธและกองกำลังในเนปาล และสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อ 10 เมษายน 2551 คณะกรรมการเลือกตั้งของไทยยังได้ส่งผู้สังเกตการณ์จำนวน 2 คน ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของเนปาลเมื่อ 10 เมษายน 2551 ที่ผ่านมาด้วย
1.2 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ในปี 2550 การค้าไทย-เนปาล มีมูลค่า 38.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 38.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ นำเข้า 0.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเนปาลได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเนปาลได้แก่ หนังดิบและหนังฟอก ธัญพืชและธัญพืชสำเร็จรูป
เนปาลขอให้ไทยส่งเสริมให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเนปาล โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมผ้าไหม กาแฟ ผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง และการลงทุนที่จะพัฒนาพืชสวนและไม้ตัดดอก โครงสร้างพื้นฐาน และประสงค์จะให้ไทยเข้าไปช่วยในการฟื้นฟูบูรณะประเทศภายหลังการจัดตั้ง รัฐบาลถาวรตามกระบวนการประชาธิปไตยแล้วเสร็จ
1.3 ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
- ความร่วมมือด้านศาสนาและวัฒนธรรม เป็นมิติความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดระหว่างไทยกับเนปาลมากกว่าด้านเศรษฐกิจ หรือการเมือง โดยเน้นในเรื่องศาสนา ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เนปาลมีสถานที่สำคัญทางศาสนา เช่น เมืองลุมพินี หรือเมืองจานักปูร์ (เมืองมิถิลาในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก)
นอกจากนี้ไทยและเนปาลยังได้ตกลงที่จะทำแผนปฏิบัติการในความร่วมมือด้าน วัฒนธรรมให้มีกิจกรรมส่งเสริมที่ชัดเจน รวมทั้งเห็นว่าเป็นช่องทางนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและเชิงนิเวศน์ โดยจัดโฆษณาส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน และทำแพ็คเกจทัวร์แบบ Combined Destination
- ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ไทยได้มีความ ร่วมมือทางวิชาการกับเนปาลมาตั้งแต่ปี 2520 โดยรัฐบาลเนปาลได้ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมในโครงการฝึกอบรมนานาชาติประจำปีของ ไทย ซึ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยไทยให้ทุนแก่บุคลากรของเนปาลปีละประมาณ 25 – 30 ทุน เพื่อศึกษา ฝึกอบรม และดูงานในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในไทย ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการ 5 รูปแบบ คือ 1) ความร่วมมือภายใต้กรอบทวิภาคี (Bilateral) 2) ความร่วมมือภายใต้โครงการฝึกอบรมประจำปี (Annual International Training Courses : AITC) 3) ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (Technical Cooperation among Developing Countries : TCDC) 4) ความร่วมมือภายใต้กรอบไตรภาคี (Trilateral) และ 5) ความร่วมมือภายใต้โครงการฝึกอบรมประเทศที่สาม (Third Country Training Programme : TCTP) โดยความร่วมมือข้างต้น เน้น สาขาเกษตร สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทรคมนาคม ขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐศาสตร์ สวัสดิการและการพัฒนาสังคม และอุตสาหกรรม ในปี 2550 สำนักความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศได้เวียนทุนให้ทุนแก่เนปาล จำนวน 59 ทุน
นอกจากนั้น เมื่อ 24 สิงหาคม 2550 รัฐบาลไทยได้มอบเงิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐแก่รัฐบาลเนปาล เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม และเมื่อ 26 มิถุนายน 2551 ไทยได้บริจาคเงินจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Food Programme: WFP) สำหรับสนับสนุนโครงการของ WFP ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศเนปาล
- โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลแม่และเด็กที่เมืองลุมพินี เมื่อปี 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขให้สร้างโรงพยาบาล แม่และเด็ก (Maternity Hospital) ขนาด 30 เตียง ที่เมืองลุมพินี สถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวงเงิน 50 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระนางมหามายาเทวีพระราชมารดาของพระพุทธเจ้า และเพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้รับบริการทางการแพทย์ ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี และสมเด็จพระราชินีเนปาลพระองค์ก่อนทรงครองราชย์ครบ 25 ปี แต่รัฐบาลไทยติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงทำให้โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง ต่อมาในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-เนปาล ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม 2547 ได้มีการหารือในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งและฝ่ายไทยได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจาก ประเทศไทยไปศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 จากการสำรวจพบว่า พื้นที่ที่ฝ่ายเนปาลเตรียมไว้ให้สำหรับการก่อสร้างไม่มีความเหมาะสมเนื่อง จากเป็นพื้นที่ต่ำ ไม่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค คณะผู้เชี่ยวชาญจึงหารือฝ่ายเนปาลขอใช้พื้นที่ในเขตพัฒนาลุมพินี ซึ่งมีความพร้อมมากกว่า แต่ฝ่ายเนปาลได้มีหนังสือแจ้งว่า ไม่สามารถให้พื้นที่ในเขต Master Plan ของเขตพัฒนาลุมพินีได้ อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยได้ให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุแจ้งยืนยันว่าไทยประสงค์จะทำการก่อสร้างโรงพยาบาลในเขตดังกล่าว ในชั้นนี้ หน่วยงานฝ่ายไทยและเนปาลที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องที่ดินและ แบบสำหรับการก่อสร้างโรงพยาบาล
1.4 แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย – เนปาล
เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับเนปาล การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในทุกสาขาและทุกระดับน่าจะพัฒนาไปใน ทางที่ดีขึ้นต่อไปได้อย่างราบรื่น ไทยให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการปกครองของเนปาลไปสู่กระบวนการ ประชาธิปไตยเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน และพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่เนปาลในการฟื้นฟูและบูรณะประเทศ
2. การเยือนที่สำคัญ
2.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
ผู้นำทางศาสนา
รัฐบาล
2.1 ฝ่ายเนปาล
พระราชวงศ์
รัฐบาล
----------------------------------------------------
มิถุนายน 2555
กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **