วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2553
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
รัฐสุลต่านโอมาน
The Sultanate of Oman
ที่ตั้ง ทางทิศตะวันออกของคาบสมุทรอาระเบีย ติดกับทะเลอาระเบียและอ่าวโอมาน และใกล้ช่องแคบ Hormuz ซึ่งเป็นทางเข้าสู่อ่าวอาหรับด้านตะวันตกติดกับซาอุดีอาระเบียสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมนลักษณะของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายและภูเขามีชายฝั่งทะเลยาว 2,092 กิโลเมตร
พื้นที่ 212,460 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงมัสกัต (Muscat)
เมืองสำคัญ Matrah, Ruwi, Nizwa, Salalah, Sohar
ประชากร 2.87 ล้านคน (2551) เป็นชาวโอมานเชื้อสายอาหรับร้อยละ 88 ที่เหลือเป็นคนเชื้อชาติอิหร่านและอินเดีย และคนชาติต่างๆ ประมาณ 6 แสนคน
ศาสนา ร้อยละ 82 นับถือศาสนาอิสลาม (สำนัก Ibadhi เป็นส่วนมาก และ นิกายสุหนี่และชีอะต์อีกเล็กน้อย) ร้อยละ 12 นับถือศาสนาฮินดูและคริสต์
ภาษา ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษาอังกฤษอย่าง
แพร่หลาย
หน่วยเงินตรา โอมานริยาล (Omani Rial) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 0.38 ริยาล หรือ 1 ริยาล ประมาณ 86 บาท (ธันวาคม 2552)
สุลต่านแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรี H.M Sultan Qaboos bin Said Al -Said
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ H.E. Yousuf bin Alawi bin Abdullah
การเมืองการปกครอง
โอมานมีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช มีสุลต่าน กอร์บูส บิน ซาอิด (Qaboos bin Said) เป็นประมุขและมีอำนาจสูงสุด ทรางใช้อำนาจการบริหารเป็นคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งในด้านนิติบัญญัติ มีสภาโอมาน (Council of Oman) ทำหน้าที่เป็นเสมือนรัฐสภา ประกอบด้วยสภาสูง (Majlis Addawla หรือ State Council) ซึ่งสุลต่านแต่งตั้งจำนวน 58 คน และสภาล่าง (Majlis AshShura หรือ Consultation council) จากการเลือกตั้งจำนวน 83 คน (การเลือกตั้งครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2540) ทั้งสองสภาทำหน้าที่กลั่นกรองร่างกฎหมาย ให้ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ และสังคมแก่รัฐบาล แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ และทรงใช้อำนาจตุลาการอยู่ที่ศาลฎีกา (Supreme Court)
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 สุลต่าน Qaboos ได้ประกาศออกกฎหมาย Basic Law ซึ่งอาจถือเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโอมาน โดยให้หลักประกันความเท่าเทียมกันในสังคมทั้งบุรุษและสตรี ความยุติธรรม การยึดหลักกฎหมาย การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการพัฒนาในสังคม โดยขณะนี้โอมานมีโครงสร้างของรัฐที่สมบูรณ์ทั้งสถาบันในด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ
นับแต่ขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2513 สุลต่าน Qaboos ทรงมุ่งพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัยประชาชนแสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล โดยมีรัฐสภาเป็นเวทีปรึกษาหารือ และทำงานร่วมกับรัฐบาล และให้สตรีโอมานมีสิทธิในการเลือกตั้งเท่าเทียมกับบุรุษในสภาล่าง และโอมานยังมีสตรีเป็นสมาชิกสภาสูงอีกด้วย
นโยบายต่างประเทศ
โอมานเป็นประเทศอาหรับที่ดำเนินนโยบายสายกลาง มีความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา และโลกตะวันตก พร้อมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนและสหภาพโซเวียต นโยบายต่างประเทศเน้นการไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ไม่นำมิติศาสนาหรืออุดมการณ์เข้ามาเกี่ยวโยงกับนโยบาย เพิ่มพูนความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาหรับและกลุ่มมุสลิม โดยเน้นความสำคัญแก่กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) เป็นพิเศษ
โอมานสนับสนุนปาเลสไตน์ และการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลางเพื่อสิทธิอันชอบธรรมของประเทศอาหรับที่จะได้คืนดินแดนที่ถูกยึดครองเมื่อปี 2510 รวมทั้งสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ที่จะกำหนดใจตนเอง และเป็นประเทศเอกราช โดยมีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง โอมานสนับสนุนการที่อิสราเอลถอนทหารออกจากฉนวนกาซาในปี 2548 ตาม disengagement plan และการที่อิสราเอลจะปฏิบัติตามข้อมติที่ 242 และ 338 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และสนับสนุนหลักการ ดินแดนแลกสันติภาพ (Land for Peace) และการปฏิบัติตาม Road Map
อย่างไรก็ตาม โอมานมีการดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากกลุ่มประเทศอาหรับ อาทิ การคงความสัมพันธ์กับอียิปต์ เมื่ออียิปต์ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลในปี 2522 และการที่โอมานเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม GCC ที่ให้การรับรองข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับเลบานอนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2526 เกี่ยวกับการถอนทหารต่างชาติออกจากเลบานอน
โอมานได้พยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในภูมิภาค อาทิ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และผลักดันให้มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิรัก รวมถึงการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับเยเมนซึ่งเคยมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในอดีต (ปัญหาเขตแดนและการที่เยเมนให้ความสนับสนุนกลุ่มกบฏในโอมาน)
สำหรับนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศนั้น ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี 2521-2522 สงครามอิรัก-อิหร่านเมื่อปี 2523 รวมทั้งอิทธิพลของโซเวียตในเยเมนเหนือและการคงกำลังทหารโซเวียตในอัฟกานิสถานก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่โอมานและประเทศในภูมิภาคอ่าวอาหรับทั้งหมด ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 องค์สุลต่านจึงตกลงในหลักการให้เกาะ Masirah ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของโอมานเป็นฐานทัพของกองกำลังสหรัฐฯ ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินและต่อมาในเดือนมิถุนายน 2523 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในสัญญาป้องกันร่วมกัน สาระสำคัญของสัญญาฯ คือ สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่โอมาน รวมทั้งการมีภาระผูกพันต่อความมั่นคงของโอมานด้วย โดยแลกกับการที่โอมานอนุญาตให้กองกำลังทหารของสหรัฐฯ ใช้ฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศของตนในอ่าวได้ และจากการที่สงครามอิรัก-อิหร่านขยายตัวและเพิ่มความรุนแรงขึ้น โอมานก็ได้กระชับความสัมพันธ์กับกลุ่ม NATO ในเดือนสิงหาคม 2528 (ค.ศ. 1985) รวมทั้งเพิ่มงบประมาณทางด้านการป้องกันประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม โอมานก็ยังคงต้องการที่จะรักษานโยบายสายกลางของตนไว้ โดยจะเห็นได้จากการเข้าร่วมในการก่อตั้งคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ในเดือนพฤษภาคม 2524 ซึ่งนอกจากจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมุ่งที่จะจัดตั้งระบบการป้องกันร่วมกันในภูมิภาคอ่าวอาหรับด้วย
นอกจากนี้ โอมานยังสนับสนุนให้นานาชาติร่วมกันพัฒนาประเทศในแอฟริกาเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ตามแนวคิดหุ้นส่วนในการพัฒนา สนับสนุนการยกเลิกหนี้สินให้กับประเทศลูกหนี้ การช่วยเหลือด้านการพัฒนาประเทศ และการให้สิทธิประเทศเหล่านี้ในการเข้าถึงตลาดโลกโดยปราศจาก ข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้า
โอมานสนับสนุนความพยายามของนานาชาติในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ การลดอาวุธ การส่งเสริมให้ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นเขตปลอดอาวุธทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction Free Zone) และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เป็นสมาชิก NPT และปฏิบัติตามกฎระเบียบของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โอมานยังสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติโดยเห็นว่าควรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมในทุกๆ ด้านและองค์กร และไม่ควรกำหนดกรอบกำหนดเวลาที่แน่นอนเกินไปเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ ในโลกยุคปัจจุบันเป็นต้น
นโยบายด้านสังคม
โอมานมีระบบสวัสดิการซึ่งภาครัฐให้การอุดหนุนด้านการศึกษา การเคหะและการรักษาพยาบาล และไม่มีการเก็บภาษีเงินได้บุคคล
รัฐบาลโอมานเน้นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย Millennium Development Goals ของสหประชาชาติ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม การให้การศึกษา การให้สตรีและเยาวชนมีบทบาทในสังคม รวมทั้งการฝึกอบรมและการขยายการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในสังคม รวมทั้งความเท่าเทียมกันทางเพศ การศึกษาทุกระดับชั้น การส่งเสริมสถานะและ พลังของสตรีในสังคม ขณะนี้มีสตรีโอมานเป็นรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และสมาชิกสภาที่ปรึกษาด้วย นอกจากนี้ โอมานยังมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดีที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศอาหรับโดยเป็นอันดับที่ 83 จากการจัดอันดับ 146 ประเทศของ Davos Economic Forum ด้วย
ข้อมูลเศรษฐกิจ (2551)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 54.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 23,347 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6.4 % (2551)
ข้อมูลเศรษฐกิจทั่วไป
เศรษฐกิจ
เดิมโอมานมีภาคเกษตรและประมงเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันตั้งแต่ปี 2510 (ค.ศ. 1967) ทำให้มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบเป็นอันมาก ทำให้สามารถพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โอมานได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่รวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในโลกอาหรับ
ปัจจุบันโอมานจะมีปริมาณน้ำมันสำรอง 4.85 พันล้านบาร์เรล (ปี 2550) มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรอง 795.2 พันล้านคิวบิกเมตร (2550) โดยโอมานพบก๊าซธรรมชาติครั้งแรกเมื่อปี 2532 ในปี 2537 จึงมีการจัดตั้งบริษัท Oman LNG LLC ขึ้น โดยรัฐบาลโอมานถือหุ้นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 51) ปัจจุบันรัฐบาลโอมานมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมภาคก๊าซธรรมชาติในการสร้างรายได้ ลดการพึ่งพาการผลิตน้ำมันดิบ
รัฐบาลมีนโยบายขยายฐานเศรษฐกิจ (diversification) เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาอื่นที่มิใช่น้ำมัน โดยเฉพาะ ก๊าซธรรมชาติ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) นโยบายเหล่านี้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันโอมานอยู่ระหว่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (2549-2553) ซึ่งส่งเสริมให้แรงงานคนชาติโอมาน (Omanization) เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น พร้อมทั้งการฝึกอาชีพและทักษะวิชาชีพในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมภาคบริการ (การท่องเที่ยว การโรงแรม การธนาคาร ฯลฯ) เพื่อลดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีอัตราการเพิ่มตัวของประชากรสูง และมีประชากรในวัยเรียน วัยทำงานเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ
โอมานมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยกฎหมายอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการได้ทั้งหมด ในโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 5 แสนริยาล (ประมาณ 50 ล้านบาท) และเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ได้ปรับผ่อนคลายกฎระเบียบ รวมทั้งเปิดสาขาทางเศรษฐกิจสำหรับต่างชาติให้กว้างขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแรงจูงใจอื่นๆ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้มาลงทุนในโอมาน อาทิ 5-year-tax holiday สำหรับภาคอุตสาหกรรมบางสาขา การลดภาษีรายได้ให้กับบริษัทต่างชาติที่ชาวโอมานถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 51 และการให้กู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการพัฒนาโครงการทางธุรกิจต่างๆ เป็นต้น ปัจจุบัน โอมานได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติที่เสรีมากที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวอาหรับ ทั้งนี้ โอมานไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิต จะคงมีเก็บแต่เพียงภาษีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ
โอมานเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543 ทำให้ภาครัฐและเอกชนโอมานต้องปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO
ขณะนี้โอมานเป็นสมาชิกในตลาดร่วมศุลกากร (GCC Customs Union) และได้เข้าร่วมเขตการค้าเสรีของประเทศอาหรับในกรอบขององค์การสันนิบาตอาหรับ (the Greater Arab Free Trade Organization Agreement) ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนมกราคม 2548
ความสัมพันธ์ทั่วไป
โอมานกับไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2523 ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงมัสกัตเมื่อ 9 กรกฎาคม 2530 ส่วนโอมานเปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ความสัมพันธ์ดำเนินมาด้วยดีและไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกันและสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ เช่น โอมานได้สนับสนุนท่าทีไทยและอาเซียนในกรอบของสหประชาชาติ เป็นต้น
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง< b>
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับรัฐบาลระหว่างไทย-โอมานเพิ่มมากขึ้น และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน พลังงาน ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การทำฝนเทียม การประมงและการรักษาพยาบาล การเพิ่มการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย และความร่วมมือในกรอบของ Asia Cooperation Dialogue (ACD) ซึ่งโอมานสนใจเป็นผู้ขับเคลื่อนในสาขาความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นต้น
สุลต่านกอร์บูสได้มอบหมายให้ His Highness Sayyid Shihab bin Tariq Taimour Al Said พระญาติสนิทและที่ปรึกษาส่วนพระองค์ เดินทางมาร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนมิถุนายน 2549
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ < b>
โอมานเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางโดยในปี 2551 มีมูลค่าการค้ารวม 3,178.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกรวมมูลค่า 555.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.25) และนำเข้ารวม 2,623.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ารวม 2,068.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง ผ้าผืน และเครื่องวักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญของโอมานได้แก่ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปลาหมึกสดแช่เย็นและแช่แข็ง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
โอมานก็มีศักยภาพที่จะเป็นตลาดสินค้าที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะข้าว สิ่งทอ รองเท้า นอกจากนี้ ยังมีลู่ทางอีกมากที่จะขยายการลงทุนและความร่วมมือในด้านการเกษตรและการประมง ซึ่งโอมานยังขาดผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ การมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่ดีกับโอมาน น่าจะเป็นการเปิดลู่ทางไปสู่ประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ ได้ต่อไป
สินค้าไทยที่เหมาะสมตามความต้องการของตลาดท้องถิ่นโอมาน ได้แก่ สปา อาหาร ผลิตภัณฑ์สำหรับบ้าน (เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง) ผลิตภัณฑ์เครื่องตกแต่งและของขวัญ สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง) และ ชิ้นส่วนและเครื่องประดับรถยนต์
ส่วนด้านด้านพลังงานนั้น ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากโอมานมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2541 ผลผลิตทางน้ำมันกว่าร้อยละ 25 ส่งออกมายังประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายผ่านบริษัทค้าน้ำมันระหว่างประเทศ สำหรับการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ฝ่ายโอมานได้ลงนามสัญญาซื้อขายในปี 2542 โดยเพิ่มปริมาณการขายน้ำมันดิบให้แก่ฝ่ายไทยวันละ 17,000 บาร์เรล ทั้งนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้พยายามทาบทามขอให้มีการเพิ่มปริมาณการซื้อขายเป็นระยะๆ แต่โอมานไม่สามารถสนองตอบได้ เนื่องจากมีพันธะผูกพันกับลูกค้ารายอื่นๆ อีกมาก
ในปี 2545 บริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานการสำรวจและผลิตน้ำมันในแปลงสัมปทานที่ 44 จากกระทรวงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของโอมาน โดย ปตท.สผ. เป็นผู้ลงทุนและดำเนินการเองทั้งหมด ได้ดำเนินการจัดตั้งและเปิดสาขาของ ปตท.สผ. ณ กรุงมัสกัต โดยแปลงสัมปทานที่ได้รับ ครอบคลุมพื้นที่ 1,165 ตารางกิโลเมตร สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติวันละ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 2,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ได้เริ่มการผลิตแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550
นอกจากนั้น รัฐบาลโอมานยังมีความสนใจที่เชิญชวนให้หน่วยงานของไทยลงทุนในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในโอมาน โดย บริษัท Oman Oil Company (OOC) ได้ว่าจ้างบริษัท BP ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำถ่านหินจากภายนอกประเทศมาผลิตไฟฟ้าในปี 2012 ในปริมาณกำลังผลิตโดยรวมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ผลการศึกษาจะใช้เวลา 6 เดือน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2550 หากผลการศึกษาระบุความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว รัฐบาลโอมานจะเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงานต่อไป
นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้มีความร่วมมือในโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยบริษัท Oman Oil Company (OOC) ได้ลงนามกับฝ่ายไทย เพื่อซื้อหุ้นบริษัทไทยโอลิฟินส์รวมมูลค่าร้อยละ 3 เป็นการลงทุนครั้งแรกของบริษัท OOC ในสาขาปิโตรเคมีนอกโอมาน
ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม < b>
ด้านการท่องเที่ยว
- ในปี 2551 มีชาวโอมานเดินทางมายังประเทศไทย ประมาณ 53,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึงร้อยละ 30นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว ชาวโอมานยังนิยมเดินทางมารักษาพยาบาลและตรวจสุขภาพในประเทศไทย ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลปิยะเวท ได้เปิดสำนักงานส่งต่อผู้ป่วย (referral office) ที่กรุงมัสกัต เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่ประสงค์จะมารับการรักษาพยาบาลในไทย ปัจจุบันการบินไทยและ Oman Air มีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ กรุงมัสกัต เพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางมาประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ความร่วมมือทางวิชาการ
- ไทยเริ่มให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่โอมานตั้งแต่ปี 2530 ภายใต้โครงการความช่วยเหลือทางวิชาการของไทย โดยรัฐบาลไทยให้ทุนฝึกอบรมประจำปีในสาขาต่าง ๆ เช่น สาธารณสุข การเกษตร การสื่อสาร
- ในปี 2531 โอมานได้ทาบทามการจัดทำความตกลงกับไทยเกี่ยวกับการทำฝนเทียม ซึ่งขณะนี้ฝ่ายไทยเห็นชอบในหลักการที่จะทำความตกลง (Specific Agreement) ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนกันในลักษณะต่างตอบแทน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งว่า เทคโนโลยีฝนหลวงได้รับการจดสิทธิบัตรจากสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา (โดยใช้ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า การดัดแปลงสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน) และสิทธิบัตรกลางแห่งสหภาพยุโรป (ภายใต้ชื่อสิทธิบัตรว่า Weather Modification by Royal Rainmaking Technology) ซึ่งเป็นสิทธิบัตรที่จดในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน และขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องสิทธิบัตรจากสำนักสิทธิบัตรแห่งสหรัฐอเมริกา จึงให้ชลอความร่วมมือในด้านฝนเทียมนี้กับประเทศต่างๆ ไว้ก่อน
- ในปี 2551 รัฐบาลไทยให้ทุนฝึกอบรมแก่โอมานมากกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา รวมกว่า 10 หลักสูตร ซึ่งรวมถึงสาขาที่โอมานให้ความสำคัญ ได้แก่ Climate Change Perspective และ Hazardous Waste Management
ด้านแรงงาน
- ขณะนี้มีคนงานไทยอยู่ในโอมานประมาณ 250 คน ส่วนหนึ่งทำงานในภาคธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ทั้งนี้ ยังมีความต้องการแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือจากไทย เช่น สาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของ ตลาดโอมาน ได้แก่ ช่างเทคนิค แรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์
ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย b>
ความตกลงว่าด้วยการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2541)
ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร (ลงนามเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2546)
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2548)
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548)
การเยือนที่สำคัญ< b>
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
- วันที่ 8-10 มีนาคม 2532 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนโอมานอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญฯ ของรัฐบาลโอมาน
- วันที่ 15-18 มีนาคม 2541 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯ เยือนโอมานเป็นการส่วนพระองค์
รัฐบาล
- เมื่อวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2528 พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนโอมาน
- วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2528 ร.ท. ศุลี มหาสันทนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนของรัฐบาลไปร่วมพิธีฉลองวันชาติครบ 15 ปี ของโอมาน
- วันที่ 4-8 พฤษภาคม 2529 คณะของผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปเจรจาทำความตกลงซื้อน้ำมันจากโอมาน
- วันที่ 24-26 มกราคม 2538 นายมารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาพร้อมคณะเดินทางเยือนโอมาน
- วันที่ 7-9 มิถุนายน 2541 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะ เยือนโอมานอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 3-8 เมษายน 2544 นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมประชุม Indian Ocean Rim Association for Regional Cooperation ระดับรัฐมนตรี
- วันที่ 17-21 พฤษภาคม 2546 ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำคณะเยือนตะวันออกกลาง รวมทั้งโอมาน เพื่อจัดงานขยายตลาดแรงงานในภูมิภาคตะวันออกกลาง
- วันที่ 19 21 ธันวาคม 2546 นายพรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะ เยือนโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 19 22 มิถุนายน 2547 นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะพร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยือนโอมาน
- วันที่ 10 - 11 ตุลาคม 2547นายวิเศษ จูภิบาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมานอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 12 - 14 ตุลาคม 2547 นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน
- วันที่ 26-27 เมษายน 2548 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนรัฐสุลต่านโอมานอย่างเป็นทางการ
ฝ่ายโอมาน
พระราชวงศ์
- วันที่ 20-22 กันยายน 2548 H.H. Sayyid Fahd bin Mahmoud Al-Said รองนายกรัฐมนตรีโอมานเสด็จฯ เยือนประเทศไทย
รัฐบาล
- เดือนมกราคม 2531 รัฐมนตรีแห่งรัฐฝ่ายกิจการต่างประเทศโอมานเยือนไทยเป็นการส่วนตัว
- เมื่อเดือนกันยายน 2537 นาย Haitham bin Tariq Al-Asid ปลัดกระทรวงการต่างประเทศโอมานเยือนไทย
- วันที่ 19-20 มิถุนายน 2543 Sheikh Suhail Bhawan ประธาน Bahwan Group ของโอมาน เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 12-16 กรกฎาคม 2543 นาย Yousuf bin Alawi bin Abdullah รัฐมนตรีรับผิดชอบด้านการต่างประเทศโอมาน เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 26-29 เมษายน 2544 Dr. Mohamed bin Hamad Al Rumhi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันและก๊าซโอมาน เยือนไทย
- วันที่ 25-31 มกราคม 2545 นาย Ahmed bin Abdul Nabi Macki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติโอมานเยือนไทย
- เดือนเมษายน 2545 นาย Yousuf bin Alawi bin Abdullah รัฐมนตรีรับผิดชอบการต่างประเทศโอมานแวะพักผ่อนที่ประเทศไทยเป็นการส่วนตัว พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศกาตาร์
- วันที่ 11-14 ตุลาคม 2546 นาย Ahmed bin Abdulnabi Macki เยือนไทย เพื่อลงนามในความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
- วันที่ 4 สิงหาคม 2547 Dr. Mohamed bin Hamad Al Rumhi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันและก๊าซโอมาน เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการพักผ่อนที่ประเทศไทยเป็นการส่วนตัว (2 11 สิงหาคม 2547)
- วันที่ 10 สิงหาคม 2547 Dr. Maqbool bin Ali bin Sultan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมโอมาน เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างการพักผ่อนที่ประเทศไทยเป็นการส่วนตัว (2 11 สิงหาคม 2547)
- วันที่ 22 มกราคม 4 กุมภาพันธ์ 2548 นาย Yousuf bin Alawi bin Abdullah รัฐมนตรีรับผิดชอบการต่างประเทศโอมานและครอบครัว เดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทยเป็นการส่วนตัว
- พ.ค. มิ.ย. 2549 H.H. Sayyid Shihab bin Tariq bin Taimour Al Said ที่ปรึกษาสุลต่านโอมานเป็นผู้แทนพระองค์เข้าร่วมพระราชพิธีฯ
- 2-6 มีนาคม 2551 H.H. Sheikh Abdullah bin Salim bin Amer Al-Rowas รัฐมนตรีกระทรวงเทศบาลส่วนภูมิภาค สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำแห่งรัฐสุลต่านโอมาน และคณะ เดินทางมาศึกษาดูงานปฏิบัติการฝนหลวงและพบปะผู้บริหารของกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
Royal Thai Embassy
Villa No. 1339, Way No. 3017, Shati Al Qurum,
P.O. Box 60, P.C. 115 M.S.Q.,
Muscat
Tel.: (968) 24602684-5 (968) 24695250
Fax.: (96-8) 24605714
E-mail : [email protected]
ฝ่ายโอมาน
The Embassy of the Sultanate of Oman
82 Saeng Thong Thani Bldg, 32nd Fl., North Sathorn Rd.,
Bangkok, 10500
Tel.: (662) 6399380-5
Fax.: (662) 6399390
E-mail: [email protected]
************************************
ธันวาคม 2552
กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2059 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **