วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ม.ค. 2553
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
Islamic Republic of Pakistan
ที่ตั้ง ทิศตะวันตกติดกับอิหร่านและอัฟกานิสถาน ทิศเหนือติดกับจีน ทิศตะวันออกติดกับอินเดีย และทิศใต้ติดกับทะเลอาหรับ
พื้นที่ 796,096 ตารางกิโลเมตร (ไทยมีพื้นที่ราวร้อยละ 75 ของปากีสถาน)
เมืองหลวง กรุงอิสลามาบัด (Islamabad)
เมืองสำคัญ เมืองการาจี (Karachi) เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางเศรษฐกิจตั้งอยู่ทางใต้ของประเทศ และเป็นเมืองหลวงเก่า เมืองละฮอร์ (Lahore) เป็นเมืองศูนย์กลางของธุรกิจอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศ อยู่ใกล้ชายแดนปากีสถาน - อินเดีย
ภูมิอากาศ บริเวณส่วนใหญ่ของประเทศมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง ยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่อากาศอบอุ่น และภาคเหนือมีอากาศเย็น
ประชากร 180 ล้านคน ประกอบด้วยเชื้อชาติปัญจาบร้อยละ 59 ปาทานร้อยละ 14 ซินด์ร้อยละ 12 บาลูชีร้อยละ 4 และมูฮาเจียร์ (ชาวมุสลิมที่อพยพมาจากอินเดีย) ร้อยละ 8 และอื่นๆ ร้อยละ 3
ภาษา ภาษาอูรดูเป็นภาษาประจำชาติ ส่วนภาษาอังกฤษใช้ในรัฐบาลกลางและภาคธุรกิจ และมีการใช้ภาษาท้องถิ่นอื่นๆ อาทิ ปัญจาบี ซินดิ ปาทาน และบาลูชี
ศาสนา ประชากรร้อยละ 97 นับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 77 เป็นนิกายสุหนี่ และร้อยละ 21 เป็นนิกายชีอะห์) นอกจากนั้น มีศาสนาคริสต์ ฮินดู และอื่นๆ รวมร้อยละ 3
วันชาติ วันที่ 23 มีนาคม (Pakistan Day)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตย
ประมุขของรัฐ ประธานาธิบดี (นายอาซีฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zadari)) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 มีวาระการดำรงตำแหน่งสมัยละ 5 ปีหัวหน้าฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี (นายไซยิด ยูซุฟ ราซา กิลลานี (Syed Yusuf Raza Gilani) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 มีวาระการดำรงตำแหน่งสมัยละ 5 ปี
หน่วยเงินตรา รูปีปากีสถาน (Pakistani Rupee) อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูปีปากีสถาน เท่ากับ 0.35 บาท (ณ วันที่ 13 มีนาคม 2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวม ประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554) (ไทยประมาณ 3.55 ภายในประเทศ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
รายได้ประชาชาติ 942 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคน ต่อปี (ปี 2554) (ไทยประมาณ 5,257.9 ต่อหัว ดอลลาร์สหรัฐ)
อัตราการเติบโต ร้อยละ 2.4 (ปี 2554) (ไทยร้อยละ 1.5)
สินค้าส่งออกสำคัญ ฝ้ายดิบ ด้าย เครื่องนอน ข้าว เครื่องหนัง เคมีภัณฑ์
สินค้านำเข้าสำคัญ ปิโตรเลียม พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า รถยนต์ และอุปกรณ์ประกอบ รถยนต์ เครื่องจักร
ประเทศคู่ค้าสำคัญ ซาอุดิอาระเบีย จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อัฟกานิสถาน สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี
อุตสาหกรรมสำคัญ สิ่งทอ แปรรูปอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ยารักษาโรค พรม
1. การเมือง
1.1 ปัญหาการเมืองภายในประเทศ
ในอดีต ปากีสถานอยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี พลเอก เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) โดยการปฏิวัติ ตั้งแต่ปี 2542 อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดี มูชาร์ราฟ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 เนื่องจากถูกโจมตีว่าได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรมและบริหารประเทศโดยควบตำแหน่งผู้นำทางการทหารและเป็นผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ แม้ว่าประธานาธิบดีมูชาร์ราฟจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมีบทบาททางการเมืองผ่านการเลือกตั้งและรัฐสภาแต่ประธานาธิบดีมูชาร์ราฟยังคงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด กอปรกับที่ผ่านมา ประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และชาติตะวันตกได้มองข้ามปัญหาการเมืองภายในปากีสถานเนื่องจากพอใจกับนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีมูชาร์ราฟที่ให้ความร่วมมือในการปราบปรามและต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน
ภายหลัง พลเอกมูชาร์ราฟ ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว รัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรค Pakistan’s People Party (PPP) ได้เสนอชื่อนาย อาซีฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zadari) สามีของนางเบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน (ปี 2531-2533 และ 2536-2539) ซึ่งถูกลอบสังหารด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2551 ทั้งนี้ นายซาร์ดารีได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นและได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 โดยนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายซาร์ดารีดำเนินนโยบายไม่แก้แค้นคู่แข่งทางการเมืองเช่นในอดีต แต่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาอาหาร สินค้าและพลังงานมีราคาแพง
ในส่วนของพรรคการเมืองสำคัญอื่นๆ ของปากีสถาน บุคคลที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองอีกคน คือ นายนาวาซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน (ปี 2533-2536 และปี 2541-2542) ปัจจุบัน นายชารีฟดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านปากีสถานและประธานพรรค Pakistan Muslim League-Nawaz (PML-N) ซึ่งเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลใหญ่เป็นอันดับ 2 ของรัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรค PPP แต่ต่อมา นายชารีฟได้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลปากีสถานชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีซาร์ดารีมีท่าทีประนีประนอมกับอดีตประธานาธิบดีมูชาร์ราฟและกองทัพ
ขณะที่สถานการณ์การเมืองภายในปากีสถานมีความวุ่นวายมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 ศาลสูงสุดปากีสถานตัดสินให้ตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของนายนาวาซ ชารีฟและพ้นหน้าที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากนายชารีฟเคยถูกตัดสินว่ากระทำความผิด (ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ในการสั่งการห้ามไม่ให้เครื่องบินซึ่งมีพลเอกมูชาร์ราฟ (ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก) เดินทางมาด้วยบินเข้าประเทศปากีสถาน ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว นายชารีฟ จึงถูกยึดอำนาจโดยการก่อรัฐประหารของพลเอกมูชาร์ราฟ เมื่อปี 2542
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 รัฐบาลปากีสถานได้แสดงความประนีประนอมเพื่อลดกระแสกดดันทางการเมือง โดยยอมให้พรรค PML-N บริหารรัฐปัญจาบต่อไป พร้อมทั้งคืนตำแหน่งประธานศาลสูงสุดให้นายอิฟติคการ์ มูฮัมหมัด โชดรี (Iftikhar Muhammad Chaudhry) ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งในสมัยประธานาธิบดีมูชาร์ราฟ โดยหลายฝ่ายมองว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาล ก็เพื่อเรียกคะแนนนิยมของพรรค PPP กลับมา ภายหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีซาร์ดารีกับนายกรัฐมนตรีไซยิด ยูซุฟ ราซา กิลลานี และกลุ่มเครือญาติของอดีตนายกรัฐมนตรีเบนาซีร์ บุตโต สืบเนื่องจากการที่พรรคถูกโจมตีว่ามีท่าทีรอมชอมกับอดีตประธานาธิบดีมูชาร์ราฟ
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 นายโชดรี ประธานศาลสูงสุด พร้อมองค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด รวม 14 คน ได้ตัดสินคดีที่มีผู้ร้องขอให้พิจารณาการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเฉพาะกาล (Provisional Constitution Ordinance – PCO) ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 ในสมัยอดีตประธานาธิบดีมูชาร์ราฟว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยศาลได้ตัดสินให้การดำเนินการและข้อตัดสินใด ๆ ก็ตามของอดีตประธานาธิบดีมูชาราฟ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะกาล (PCO) แทนรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1973 (2516) เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและให้ถือเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น ดังนั้น คำสั่งของอดีตประธานาธิบดีมูชาร์ราฟในการแต่งตั้งประธานศาลสูงสุด ผู้พิพากษาศาลสูงสุดและผู้พิพากษาศาลสูง จำนวนทั้งสิ้น 76 คน ให้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 ที่ถูกสั่งให้พ้นจากหน้าที่ภายใต้ PCO จึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ถือเสมือนว่าตำแหน่งเหล่านั้นไม่เคยว่างลง อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2552 ศาลสูงสุดแห่งปากีสถานได้ออกมาประกาศว่า ผลจากการพิพากษาของศาลฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อตำแหน่งประธานาธิบดีของนายซาร์ดารี ซึ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 โดยมีนายอับดุล ฮามีด โดการ์ (Abdul Hameed Dogar) ซึ่งเป็นประธานศาลสูงสุดที่ได้รับแต่งตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญเฉพาะกาล เป็นประธานในพิธี
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ศาลสูงสุดโดยองค์คณะผู้พิพากษาเต็มคณะจำนวน 17 คน นำโดยนายโชดรี ประธานศาลสูงสุด ได้มีคำวินิจฉัยตัดสินให้กฎหมายสมานฉันท์แห่งชาติ (National Reconciliation Ordinance – NRO) ซึ่งออกโดยอดีตประธานาธิบดีมูชาร์ราฟ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2550 เพื่อเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่มีคดีความเกี่ยวกับการทุจริตสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปของปากีสถาน เมื่อต้นปี 2551 เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และต้องเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น การดำเนินการหรือคำสั่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมาย NRO ซึ่งรวมถึงการระงับการดำเนินคดีความต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมาย ให้ถือด้วยว่า ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฏหมาย คดีความต่าง ๆ ที่เคยถูกวินิจฉัยและสอบสวน แต่ได้ถูกระงับไว้ภายใต้การประกาศกฏหมาย NRO ซึ่งมีจำนวนประมาณ 8,000 คดี ก็ให้กลับมาดำเนินคดีใหม่ โดยให้มีสถานะกลับไปเหมือนดังที่เคยเป็นก่อนวันที่ 5 ตุลาคม 2550
ผลจากคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้ประธานาธิบดีซาร์ดารี รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ในรัฐบาลปากีสถานปัจจุบัน อาทิ นายราห์มาน มาลิก (Rahman Malik) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอะห์หมัด มุคตาร์ (Ahmad Mukhtar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนักการเมืองจำนวนมากโดยเฉพาะที่สังกัดพรรครัฐบาล ตลอดจนข้าราชการระดับสูงตกอยู่ในข่ายต้องถูกดำเนินคดีอีกครั้งหนึ่ง โดยสำนักงานการตรวจสอบแห่งชาติ (The National Accountability Bureau – NAB) รับผิดชอบยื่นเสนอรายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายต้องถูกรื้อฟื้นการดำเนินคดี (exit control list) ซึ่งคาดว่ามีจำนวน 247 คน ให้แก่รัฐบาลเพื่อดำเนินคดีต่อไป ดังนั้น จึงถือว่าการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อนิรโทษกรรมนักการเมืองและบุคคลต่าง ๆ จึงเป็นโมฆะ รวมทั้งคำขอของรัฐบาลปากีสถานให้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ยุติการดำเนินคดีคดีฟอกเงินของนาย Zardari ด้วย
ศาลสูงปากีถสาน จึงได้มีคำสั่งให้รัฐบาลปากีสถานแจ้งรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ให้ดำเนินคดีต่อนาย Zardari (ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีปากีสถาน) ในคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินจำนวนราว 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ (คดีเกิดก่อนวันที่ 5 ตุลาคม 2550) อย่างไรก็ดี รัฐบาลปากีสถานได้เพิกเฉย โดยอ้างว่า นาย Zardari มีความคุ้มกัน (immunity) ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปากีสถาน
ต่อมา เมื่อ 26 เมษายน 2555 ศาลสูงตัดสินว่า นาย Gilani มีความผิดฐานหมิ่นอำนาจศาลภายหลังจากที่มีการไต่สวนคดีในศาลเป็นเวลาหลายเดือน อย่างไรก็ตาม นาย Gilani ยืนกรานว่าตนไม่ได้หมิ่นอำนาจศาล และจะไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อนึ่ง เมื่อ 19 เมษายน 2553 รัฐบาลปากีสถานได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 18 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การยกเลิกอำนาจสำคัญของประธานาธิบดี อาทิ การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด การแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ การแต่งตั้งประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การยุบสภา การประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินในรัฐต่าง ๆ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ รวมถึงได้ยกเลิกกฏหมายห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 2 สมัย ตลอดจนมีการเปลี่ยนชื่อรัฐ North Western Frontier Provinces (N.W.F.P.) เป็นรัฐ Khyber Pakhtunkhwa การอนุมัติจัดตั้งศาลสูงแห่งเมืองเปชาวาร์ และศาลสูงแห่งรัฐบาลบาโลจิสถาน ทั้งนี้ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มุ่งเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยและเป็นชัยชนะทางการเมืองร่วมกันของทุกฝ่ายในปากีสถาน
1.2 ปัญหากลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศ
ปากีสถานดำเนินยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหากลุ่มตาลีบันและการก่อการร้ายตามแนวชายแดนปากีสถานอัฟกานิสถาน โดยพยายามใช้การเจรจากับกลุ่มตาลีบันและกลุ่มก่อการร้ายในเขตชนเผ่า (Federally Administered Tribal Areas-FATA) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ รวมทั้ง การเจรจากับกลุ่มที่ยอมรับและเคารพกฎหมาย อย่างไรก็ดี รัฐบาลปากีสถานจะใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง โดยได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือด้านการเงิน และการทหารจากสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
แม้ว่ารัฐบาลปากีสถาน โดยนายกรัฐมนตรีกิลลานี ได้ประกาศสงครามกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ 7 พฤษภาคม 2552 แต่ปากีสถานยังคงประสบปัญหาการก่อการร้ายอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่กลุ่มตาลีบันได้ตอบโต้รัฐบาลปากีสถานที่ได้ดำเนินการปฏิบัติการ Rah-e-Nejat และปฏิบัติการ Rah-e-Rast เพื่อเข้ายึดพื้นที่ในเขตรัฐN.W.F.P. ในเดือนพฤศจิกายน 2552 และกุมภาพันธ์ 2553 ตามลำดับ รวมถึงการที่รัฐบาลปากีสถานได้เร่งจับกุมกลุ่มตาลีบันอัฟกานิสถาน (Afghan Taliban) ที่มีแหล่งพักพิงในปากีสถาน อาทิ การจับกุมมุลลอฮ์ อับดุล กานี บาราดาร์ (Mullah Abdul Ghani Baradar) แกนนำลำดับสองของกลุ่มตาลีบันที่เมืองการาจี ขณะที่ปฏิบัติการตอบโต้รัฐบาลปากีสถานของกลุ่มตาลีบันได้มุ่งเป้าหมายต่อสถานที่ราชการและแหล่งชุมชนทั้งในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ อาทิ กรุงอิสลามาบัด เมืองการาจี และราวัลปินดี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย และระเบิดรถยนต์ (car bomb) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อ 29 มกราคม 2553 หน่วยข่าวกรอง (Inter Service Intelligence - ISI) ของปากีสถาน ได้จัดบรรยายสรุปแก่คณะทูตในกรุงอิสลามาบัด โดยได้เน้นย้ำว่า ปากีสถานได้ทุ่มเททรัพยากรทั้งในด้านบุคคลากรและงบประมาณ ตลอดจนการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับกองทัพสหรัฐฯ และ NATO ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ดี รัฐบาลปากีสถานจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจากต่างประเทศ
2. เศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้ ปากีสถานมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการดำเนินนโยบายเปิดประเทศ พร้อมกับรับความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตก เนื่องจากการให้ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และจากภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โทรคมนาคม ภาคบริการและภาคการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา พบว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปากีสถานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2550-2551 มีอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 6 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.2 ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยในห้วงปี 2548-2550 (ร้อยละ 5-8) ขณะที่ ปี 2551- 2552 อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.7 และปี 2553 - 2554 ที่ร้อยละ 2.4
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมารัฐบาลยังประสบกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก คือ จากร้อยละ 5.7-5.9 (2548-2550) เป็นตัวเลขสองหลัก หรือ เฉลี่ยร้อยละ 18.9 (ปี 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 13.75)
นอกจากปากีสถานจะประสบปัญหาการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลักโดยเฉพาะฝ้ายแล้ว ปากีสถานยังประสบปัญหาการก่อการร้ายโดยกลุ่มติดอาวุธและกลุ่มหัวรุนแรงที่รุมเร้ารัฐบาลจนทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องได้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2550-2551 เหลือเพียง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2551-2552 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างเดือนกรกฏาคม 2552 ถึงเดือนมีนาคม 2553 ปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศมีมูลค่าเหลือเพียง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าปากีสถานจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) จำนวนทั้งสิ้น 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปี โดยส่งมอบเงินงวดแรกให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 จำนวน 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และงวดต่อไป จำนวน 3.5 - 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2552 ทั้งนี้ สำหรับเงินกู้งวดแรก IMF กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.51 และเพิ่มเป็นร้อยละ 4.5 สำหรับเงินจำนวนที่เหลือ โดยมีกำหนดเริ่มชำระเงิน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 – 2555 จนถึงปี 2558 – 2559 โดยปากีสถานมีพันธกรณีกับ IMF ที่จะต้องดำเนินการ อาทิ ลดปัญหาการขาดดุลการคลัง (fiscal deficit) ให้เหลือเพียงร้อยละ 4.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยขยายอัตราการเก็บภาษีต่อ GDP ให้เพิ่มจากร้อยละ 9.6 ในปัจจุบัน ขึ้นเป็นร้อยละ 15 ในอีก 5-7 ปีข้างหน้า ยกเลิกการอุดหนุนด้านพลังงาน และลดการกู้ยืมจากธนาคารกลางและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ในเวทีการประชุม Pakistan Donors Conference and the Friends ofDemocratic Pakistan Ministerial Meeting ครั้งที่ 2 ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552 ปากีสถานได้รับแจ้งจากประเทศพันธมิตรที่จะให้ความช่วยเหลือนอกจากนี้ ในเวทีการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-ปากีสถาน (The EU-Pakistan Summit) ครั้งที่ 1 ที่ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ที่ประชุมมีมติสนับสนุนปากีสถานทางด้านการเงินอีกเป็นจำนวนรวม 1.8 พันล้านยูโร
สำหรับการค้าระหว่างประเทศ ปากีสถานประสบปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องเนื่องจากตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มีปัจจัยด้านต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของปากีสถาน อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์การเมืองและความมั่นคงภายในประเทศที่ขาดเสถียรภาพ ผลผลิตในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ลดลงจึงทำให้ปัญหาการขาดดุลการค้าของปากีสถานมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2551 มูลค่าการส่งออกสินค้าของปากีสถานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรที่ลดลง (เป็นผลจากการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่สูงขึ้น) ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของปากีสถานสูงขึ้น เนื่องจากต้องนำเข้าน้ำมันและข้าวสาลีจำนวนมากในขณะที่ภาวะราคาสินค้าทั้งสองในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ปากีสถานยังต้องนำเข้าสินค้าประเภทน้ำมันเพื่อการบริโภค และเครื่องจักรเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ด้วยเหตุข้างต้น จึงส่งผลให้ปากีสถานขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น อาทิ ในปี 2550-2551 ปากีสถานส่งสินค้าออก 14,245 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 29,905 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้า 15,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในปี 2551-2552 ปากีสถานส่งสินค้าออก16,472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 32,423 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้า 15,951 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อนึ่ง ปัจจุบันปากีสถานได้เริ่มดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการกระตุ้นความสนใจต่อแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีทางพุทธศาสนาในปากีสถาน โดยเฉพาะที่เมืองตักศิลา ทั้งนี้ ปากีสถานหวังว่า การท่องเที่ยวจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญอีกสาขาหนึ่งของประเทศ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งยังต้องพัฒนาความพร้อมอีกมากในหลายด้าน
ในภาพรวม ปากีสถานให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างแข็งขันในสงครามโค่นล้มรัฐบาลตาลีบันในอัฟกานิสถาน และภายหลังการก่อเหตุวินาศกรรมที่อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่นครนิวยอร์ก (เหตุการณ์ 9/11) เมื่อปี 2544 ตลอดจนเข้าร่วมการปราบปรามการก่อการร้ายอันเป็นผลจากสงครามดังกล่าว แต่ประเด็นนี้ได้ทำให้กลุ่มการเมืองและกลุ่มต่อต้านต่างๆ โจมตีรัฐบาล เพราะเห็นว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายเข้าข้างสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมากเกินไป นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งเป็นเหตุผลให้รัฐบาลปากีสถานต้องมุ่งความสนใจมากระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศในเอเชียอื่นๆ
ขณะที่ในกรอบพหุภาคี ปากีสถานเป็นประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ กลุ่มประเทศ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non Aligned Movement - NAM) สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation - SAARC) องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conferences - OIC) องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Organization - ECO) และการประชุมว่าด้วยการแสวงหามาตรการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia - CICA) นอกจากนั้น ปากีสถานยังเป็นประเทศ คู่เจรจาเฉพาะด้าน (Sectoral Dialogue Partner) ของอาเซียน ตั้งแต่ปี 2541 และได้เข้าร่วมในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ตั้งแต่ปี 2547 สำหรับความร่วมมือในกรอบพหุภาคีอื่นๆ ได้แก่ ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) ซึ่งปากีสถานรับผิดชอบในการจัดตั้ง Asian Institute of Standards และได้เป็นเจ้าภาพการประชุม ACD ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 5-6 เมษายน 2548
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับประเทศสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ รัฐบาลปากีสถานภายใต้การนำของประธานาธิบดี ซาร์ดารี ได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างแข็งขันในการต่อต้านและปราบปรามการก่อการร้าย โดยปากีสถานมุ่งหวังความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน จากสหรัฐฯ ขณะที่ปากีสถานมีความสำคัญในด้านการทหารต่อสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรที่ช่วยรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนด้านที่ติดกับอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มติดอาวุธตาลีบัน นอกจากนี้ การที่ปากีสถานมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของปากีสถานในการถ่วงดุลความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเมืองและความร่วมมือนิวเคลียร์
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Obama) ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ประชาคมโลกเห็นด้วยกับท่าทีสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาอัฟกานิสถานอีกครั้ง โดยเชื่อว่าอัฟกานิสถานจะมีเสถียรภาพและความมั่นคงไม่ได้ หากปากีสถานซึ่งเป็นเพื่อนบ้านสำคัญของอัฟกานิสถานยังขาดเสถียรภาพและความมั่นคง เนื่องจากปากีสถานเป็นเป้าหมายที่กลุ่มตาลีบันพยายามเข้ายึดครองเพื่อใข้เป็นฐานในการโจมตีสันติภาพของโลก ดังนั้น สหรัฐฯ จึงพยายามกดดันให้ปากีสถานร่วมสนับสนุนการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในปากีสถาน ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่า เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในอัฟกานิสถานด้วย นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังคงโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบินไร้นักบินในพื้นที่ต้องสงสัยว่ามีกลุ่มติดอาวุธในดินแดนปากีสถาน และมีทีท่าว่าจะยังคงโจมตีต่อไป แม้ว่าทางการปากีสถานจะแสดงความไม่พอใจและมีการต่อต้านจากชาวปากีสถานก็ตาม
นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2552 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นแก่ทางการปากีสถานว่าจะให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ทางการทหาร (Non-Military Aid) มูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลา 5 ปี (ค.ศ. 2010-2014) สำหรับโครงการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล ถนน โครงการความช่วยเหลือด้านการเกษตรและโครงการพัฒนาอื่นๆ ซึ่งความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนบูรณาการ (Comprehensive Plan) ของสหรัฐฯ ที่ต้องการขจัดรากเหง้าของปัญหาการก่อการร้ายในปากีสถาน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความยากจนของประชาช โดยเฉพาะในเขตชนเผ่า (FATA) ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนอัฟกานิสถาน และเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มตาลีบัน โดยประธานาธิบดีโอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามประกาศใช้กฎหมาย Enhanced Partnership with Pakistan Act 2009 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 เสนอโดยวุฒิสมาชิก John Kerry และ Richard Lugar (Kerry - Lugar Act)
อนึ่ง ในระหว่างการเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการของ นางฮิลลารี คลินตัน (Hilary Clinton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระหว่าง 28-30 ตุลาคม 2552 เพื่อกระชับความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยฝ่ายสหรัฐฯ ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ปากีสถาน ในการซ่อมบำรุงโรงงานไฟฟ้า และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอีก 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับให้เป็นเงินกู้ (micro credit) แก่หญิงยากจนในปากีสถาน ทั้งนี้ นางคลินตันถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดของสหรัฐฯ ในรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาที่เดินทางมาเยือนปากีสถาน
นายชาห์ มัคดูม มะห์มูด คูเรชิ (Shah Makhdoom Mahmood Qureshi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ได้นำคณะผู้แทนปากีสถานระดับสูงประกอบด้วย นายอะห์หมัด มุคตาร์ (Ahmed Mukhtar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอกเปอร์เวซ คายานี (Parvez Kayani) ผู้บัญชาการทหารบกปากีสถาน เดินทางเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2553 เพื่อเข้าร่วมการประชุมกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วยนางคลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายโรเบิร์ต เกท (Robert Gate) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเรือเอกไมค์ มุลเลน (Mike Mullen) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ ฝ่ายปากีสถานได้มอบเอกสารระบุขอบเขตความต้องการที่จะขอรับความร่วมมือในด้านต่างๆ จากสหรัฐฯ อาทิ ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงาน การขอความสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์สำหรับกิจการพลเรือน ความร่วมมือด้านข่าวกรอง ตลอดจนการร้องขอเทคโนโลยีเครื่องบินรบแบบไร้ผู้ขับขี่ (Drone) เฮลิคอปเตอร์ และอาวุธยุทโธปกรณ์ด้านการทหารต่างๆ เพื่อใช้สำหรับต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ได้ขอบคุณฝ่ายสหรัฐฯ ที่สัญญาว่า จะให้ความช่วยเหลือแก่ปากีสถานเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย และเชื่อว่า การเป็นหุ้นส่วนระหว่างปากีสถานกับสหรัฐฯ จะส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่ายและต่อสันติภาพ ความมั่นคงระหว่างประเทศ กอปรกับเห็นว่า ปากีสถานมีพันธกิจในการสนับสนุนความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในอัฟกานิสถาน ขณะที่ นางคลินตันได้กล่าวชื่นชมปากีสถานที่ประสบความสำเร็จในการจับกุมแกนนำกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al Qaeda) และตาลีบันได้หลายคน โดยสหรัฐฯ จะรักษาคำมั่นในการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ และยังคงประสงค์จะเป็นหุ้นส่วนกับปากีสถานในทุกด้าน เพื่อช่วยปากีสถานดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคต่อไปอย่างเต็มที่ อนึ่ง การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถานดังกล่าว ก็เพื่อต้องการแสดงให้สหรัฐฯ เห็นว่า ปากีสถานได้ดำเนินการตามที่สหรัฐฯ ได้ร้องขอความร่วมมืออย่างเต็มที่แล้ว โดยฝ่ายสหรัฐฯ ควรตอบสนองข้อเรียกร้องของปากีสถานเป็นการตอบแทน ซึ่งปรากฏว่า ข้อเสนอหลายอย่างของฝ่ายปากีสถานได้รับการตอบสนองในเชิงบวกจากสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
การสู้รบระหว่างกองกำลัง NATO/ISAF กับกองกำลังทาลิบันในอัฟกานิสถาน ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงภายในของปากีสถาน และเพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับปากีสถาน เนื่องจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น (1) สหรัฐฯ ใช้เครื่องบินไร้พลขับข้ามพรมแดนมาโจมตีกองกำลังทาลิบันในปากีสถาน ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของปากีสถาน รวมทั้งสร้างความสูญเสียต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ (2) เหตุการณ์นาย Raymond Davis เจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ ยิงชาวปากีสถานเสียชีวิต 2 รายในเมืองลาฮอร์ เมื่อ ม.ค. 2554 ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ยินยอมให้มีการดำเนินคดีกับนาย Davis โดยอ้างว่ามีความคุ้มกันทางการทูต (3) เหตุการณ์หน่วยรบพิเศษสหรัฐฯ สังหารนายอุสมา บินลาเด็น หัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะห์ ที่เมืองอาโบตาบัดในปากีสถาน เมื่อเดือน พ.ค. 2554 โดยไม่แจ้งให้ทางการปากีสถานทราบล่วงหน้า สร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลปากีสถานอย่างมากเพราะเสียหน้าและเป็นการละเมิดอธิปไตยปากีสถาน (4) เหตุการณ์เครื่องบินรบของ NATO/ISAF โจมตีฐานย่อยของกองทัพปากีสถาน ในบริเวณชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน เมื่อปลาย พ.ย. 2554 ทำให้ทหารปากีสถานเสียชีวิต 28 รายและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งวิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาลปากีสถาน โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าปากีสถานมีส่วนรู้เห็นและสนับสนุนการก่อการร้ายและกลุ่มทาลิบัน ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลปากีสถานไม่พอใจรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง และปลุก กระแสความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ ในปากีสถานไม่น้อย
สำหรับจีน ปากีสถานมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างมีประเด็นความขัดแย้งกับอินเดีย ทั้งนี้ ประธานาธิบดี ซาร์ดารี แห่งปากีสถานได้เดินทางเยือนจีนเป็นประเทศแรกภายหลังเข้ารับหน้าที่ ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2551 โดยฝ่ายจีนสัญญาจะให้ความช่วยเหลือแก่ปากีสถานในด้านต่างๆ อาทิ ความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ ซึ่งได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า จีนมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับปากีสถานเพื่อถ่วงดุลกับอินเดียที่กำลังกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับอินเดียยังมีประเด็นความขัดแย้งสำคัญเกี่ยวกับการแย่งชิงอธิปไตยเหนือดินแดนแคชเมียร์ นับตั้งแต่แยกตัวเป็นเอกราช เมื่อปี 2491 และได้เกิดการแข่งขันการสะสมอาวุธ การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศเคยมีสงครามใหญ่ 3 ครั้ง ขณะเดียวกันฝ่ายอินเดียเชื่อว่า ปากีสถานอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในอินเดีย อาทิ เหตุระเบิดเป็นระยะในแคว้นแคชเมียร์ เมืองมุมไบ และขยายถึงกรุงนิวเดลี โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายยึดรัฐสภาอินเดีย เมื่อธันวาคม 2544 และล่าสุดคือ เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน ทั้งนี้ กลุ่มก่อการร้ายพร้อมอาวุธครบมือได้เข้ายึดโรงแรม Oberoi และโรงแรม Taj Mahal ในเมืองมุมไบ โดยกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว ได้พุ่งเป้าการโจมตีไปที่กลุ่มชาวต่างชาติ อาทิ ชาวสหรัฐฯ และอังกฤษ เนื่องจากเมืองมุมไบเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่สำคัญของอินเดีย (ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2549 ได้เคยเกิดเหตุวางระเบิดสถานีรถไฟเมืองมุมไบ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 219 คน บาดเจ็บราว 711 คน) จากเหตุการณ์ที่เมืองมุมไบดังกล่าว ทางการอินเดียจึงได้เรียกร้องให้ปากีสถานยุติการให้ที่พักพิงแก่กลุ่มก่อการร้ายและเรียกร้องให้ปากีสถานส่งผู้ต้องสงสัยไปให้อินเดียดำเนินคดีอีกด้วย อย่างไรก็ดี ผู้นำปากีสถานได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของอินเดียอย่างสิ้นเชิง
การที่อินเดียสามารถจับกุมกลุ่มก่อการร้ายชาวปากีสถานได้ จึงเป็นการยากที่จะปฏิเสธว่า ฝ่ายปากีสถานยังไม่สามารถควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรงภายในประเทศได้ ซึ่งเหตุดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี ปากีสถานได้แสดงท่าทีในทางบวกโดยการให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ และรัฐบาลอินเดียในการประกาศว่า องค์กร Jammaat-Ud-Dawa เป็นองค์กรก่อการร้าย (ซึ่งเชื่อว่าสนับสนุนการก่อการร้ายที่เมืองมุมไบ) และปิดการดำเนินการของกลุ่มฯ
ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียใต้ (The 16th South Asian Association of Regional Cooperation - SAARC) ครั้งที่ 16 ที่กรุงทิมพู ประเทศภูฏานเมื่อวันที่ 28-29 เมษายน 2553 นายกรัฐมนตรีกิลลานีแห่งปากีสถาน ได้พบและหารือทวิภาคีกับ นายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ แห่งอินเดีย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะปรับและทบทวนสถานะความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ตลอดจนหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงใจที่จะใช้แนวทางการหารือในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการเจรจาเพื่อหามาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความไว้วางในระหว่างกัน ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า พัฒนาการดังกล่าว จะเป็นผลดีต่อการประชุมภายใต้กรอบ Composite Dialogue เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ที่ได้หยุดชะงักไปเมื่อเกิดเหตุก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ โดยกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง เมื่อพฤศจิกายน 2551
1. ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยกับปากีสถานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2494 ปัจจุบัน นายโซเฮล มะห์มูด (Mr. Sohail Mahmood) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552) ขณะที่ นายมาวิน ตันอรรถนาวิน ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำปากีสถาน
นอกจากนี้ ยังมีสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรัฐซินด์ (Sindh) และรัฐบาโลจิสถาน (Balochistan) โดยมี นายวิชัย ศิริสุจินต์ ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี
2. ด้านการเมืองและความมั่นคง
ที่ผ่านมา ไทยและปากีสถานเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน เคยเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Treaty Organization - SEATO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2497 แม้ว่าในปัจจุบันการดำเนินงานในกรอบของ SEATO จะยุติลงแล้ว แต่มิติทางประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างไทยกับปากีสถาน โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ
ปากีสถานต้องการอาศัยความใกล้ชิดกับไทยเป็นช่องทางไปสู่การเพิ่มบทบาทในเอเชียและกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก (ตามนโยบาย Look East ของปากีสถาน) ด้วยเหตุนี้ปากีสถานจึงให้ความร่วมมือกับไทยทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เช่น การแสดงความกระตือรือร้นในเวที Asia Cooperation Dialogue (ACD) ที่ไทยริเริ่มขึ้น (โดยปากีสถานเป็นเจ้าภาพการประชุม ACD ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนเมษายน 2548 ที่ กรุงอิสลามาบัด) ขณะที่ไทยสนับสนุนให้ปากีสถานมีบทบาทแข็งขันในเวที ASEAN Regional Forum (ARF) โดยเฉพาะการขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงและการต่อต้านการก่อการร้าย โดยไทยและปากีสถานมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมเฉพาะเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีกลไกคณะทำงานร่วมด้านความมั่นคง เพี่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการต่อต้านการก่อการร้าย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและงานข่าวกรอง นอกจากนี้ ไทยเคยได้รับความร่วมมือจากปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference - OIC) และเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้ของไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปากีสถานมีท่าทีวางเฉยต่อไทย
ปัจจุบัน มีนักเรียนไทยราว 200 คน ศึกษาด้านภาษาอารบิกและศาสนาอิสลามในปากีสถาน โดยมีการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพไทย-ปากีสถานในประเทศทั้งสองด้วย
3. ด้านเศรษฐกิจ
ไทยกับปากีสถานมีกลไกความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ (Joint Economic Commission - JEC) ซึ่งได้จัดประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง การประชุม JEC ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่กรุงอิสลามาบัด เมื่อปี 2542 และการประชุม JEC ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2545 โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและติดตามความคืบหน้า เพื่อร่วมกันผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ ทั้งนี้ สำหรับการประชุม JEC ครั้งที่ 3 ซึ่งเดิมมีกำหนดจะจัดขึ้นที่กรุงอิสลามาบัดในช่วงปลายปี 2551 แต่ก็ต้องเลื่อนไปเนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในปากีสถานยังไม่เอื้ออำนวย และปัจจุบัน ยังไม่สามารถหาวันที่สะดวกร่วมกันได้
ปัจจุบันไทยให้ความสำคัญกับปากีสถานในฐานะตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ กอปรกับปากีสถานมีความสนใจที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทย ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายชอกัต อาซีซ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน (ในขณะนั้น) เมื่อพฤษภาคม 2548 ฝ่ายปากีสถานได้เสนอขอจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area – FTA) ไทย-ปากีสถานโดยทั้งสองฝ่ายจึงได้จัดตั้งกลุ่มศึกษาร่วม (Joint Study Group - JSG) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA ระหว่างกัน ซึ่ง JSG ได้ทำการศึกษาสำเร็จแล้ว เมื่อมกราคม 2550 โดยได้สรุปว่า การจัดทำ FTA จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองฝ่ายในการส่งเสริมและขยายการค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้มีการผลักดันให้มีการจัดตั้ง Joint Trade Committee เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าไปพลางก่อน โดยยังไม่มีแผนจะจัดทำ FTA กับปากีสถาน ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติเมื่อ 22 พ.ย. 2554 เห็นชอบให้มีการลงนาม MoU เพื่อจัดตั้ง Joint Trade Committee (JTC) ไทย-ปากีสถานตามที่ โดยปากีสถานจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรก และจะมีพิธีลงนาม MoU ในช่วงการประชุมดังกล่าว (ยังไม่กำหนด โดยเลื่อนจากวันที่ 8 - 10 พ.ค. 2555)
นอกจากนี้ โดยที่ปากีสถานได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ ดังนั้น ในอนาคต เศรษฐกิจปากีสถานจึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภค โทรคมนาคม ที่อยู่อาศัย ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ขณะเดียวกัน ไทยอาจใช้ปากีสถานเป็นทางผ่านของสินค้าไปสู่ตลาดอัฟกานิสถาน (ประชากร 29 ล้านคน) และภูมิภาคเอเชียกลาง (ประชากร 59 ล้านคน) ซึ่งมีความต้องการสินค้าบริโภคจำนวนมาก
4. ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2548 บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของปากีสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยในขณะนั้น ภาครัฐและเอกชนของไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ปากีสถาน ในรูปของเงินช่วยเหลือและสิ่งของบรรเทาทุกข์รวมทั้งสิ้นคิดเป็นมูลค่า 18 ล้านบาท
ที่สำคัญยิ่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ เยือนปากีสถานระหว่างวันที่ 4-5 มกราคม 2549 เพื่อทรงนำสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปพระราชทานแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวด้วยพระองค์เองโดยสิ่งของพระราชทานความช่วยเหลือมีมูลค่า 18 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพปากีสถานและกองกำลังตาลีบันบริเวณเขต Malakand และหุบเขา Swat ในเขตชนเผ่า ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานตามแนวเขตแดนด้านที่ติดต่อกับอัฟกานิสถาน ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2552 ส่งผลให้รัฐบาลปากีสถานประสบกับปัญหาวิกฤติด้านมนุษยธรรม โดยมีผู้อพยพพลัดถิ่นชาวปากีสถาน จำนวนราว 2 ล้านคน ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงไมตรีจิตรในฐานะมิตรประเทศต่อปากีสถาน รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (ในรูปเงินสด) จำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่รัฐบาลปากีสถานเมื่อวันที่17 กรกฎาคม 2552 โดยส่งมอบผ่าน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด
ในปี 2553 (2010) ปากีสถานประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,600 คน และไทยทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปของเงินและสิ่งของ รวมมูลค่าประมาณ 341 ล้านบาทในปี 2554 (2011) ปากีสถานประสบปัญหาอุทกภัยในรัฐซินด์ (ทางตอนใต้ของปากีสถาน) ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากร 6 ล้านคน ไทย (โดย กต.) ได้มอบเงินสดจำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือปากีสถาน ผ่าน สอท. ณ กรุงอิสลามาบัด
ไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ซึ่งภาคเอกชนปากีสถานได้มอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง และรัฐบาลปากีสถานมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 4.5 ล้านบาท โดยให้ ออท.ปากีสถาน/ไทย เป็นผู้มอบ (รมว.กต. เป็นผู้รับ เมื่อ 30 เมษายน 2555)
5. ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ไทยและปากีสถานต่างเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน และมีความเกี่ยวพันระหว่างภาคประชาชน โดยมีชุมชนคนไทยในปากีสถานมาช้านาน นอกจากกลุ่มคนที่สมรสกับชาวปากีสถานและไปประกอบอาชีพต่างๆ แล้ว ยังมีกลุ่มนักเรียนไทยประมาณ 200 คน ไปศึกษาด้านศาสนา และภาษาอารบิกในปากีสถาน โดยมีการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพไทย – ปากีสถาน และหอการค้าไทย – ปากีสถานด้วย
นอกจากนี้ ชาวปากีสถานที่มีรายได้ดีจะนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศและไทยเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงามแล้ว ไทยยังมีสินค้าต่างๆ ให้เลือกซื้อมากมาย ขณะที่นักท่องเที่ยวจากประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับปากีสถานในฐานะแหล่งท่องเที่ยวมากนัก
อย่างไรก็ดี โดยที่ปากีสถานมีแหล่งวัฒนธรรมและโบราณคดีทางพุทธศาสนาจำนวนมากในบริเวณตอนเหนือของประเทศ เช่น เมืองตักศิลา และในรัฐไคเบอร์ปักตุงคัว ปากีสถานจึงประสงค์ให้ไทยช่วยเหลือและพัฒนาสถานที่ทางศาสนาเหล่านั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยปากีสถานมีแผนจะเผยแพร่และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาในประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งไทยก็สนับสนุนเรื่องนี้ในรูปของความร่วมมือทางวิชาการและการถ่ายทอดประสบการณ์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของไทย เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลามในการอนุรักษ์โบราณสถานทางพุทธศาสนา
6. ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (27 พฤศจิกายน 2512)
- อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (14 สิงหาคม 2523)
- ความตกลงทางการค้า (16 มีนาคม 2527)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (28 สิงหาคม 2534)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องการส่งกำลังบำรุงทหาร (4 มีนาคม 2545)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยว (1 กรกฎาคม 2545)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง BOI ไทย-ปากีสถาน (16 สิงหาคม 2545)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (29 เมษายน 2547)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมเฉพาะเรื่องอื่นๆ (29 เมษายน 2547)
- พิธีสารว่าด้วยการปรึกษาและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-ปากีสถาน (29 เมษายน 2547)
- พิธีสารว่าด้วยแผนปฏิบัติการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ไทย-ปากีสถาน (9 พฤษภาคม 2548)
(เพิ่มเติมจากความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมฯ)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการโอนตัวผู้กระทำความผิดและการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (20 ธันวาคม 2550)
7. การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 11 - 22 มีนาคม 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนปากีสถานตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีกอฮาร์ อายุบ ข่าน (Gohar Ayub Khan)
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 9 -14 กรกฎาคม 2534 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนปากีสถาน
- วันที่ 26 - 29 มีนาคม 2541 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนปากีสถาน อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และหม่อมเจ้าหญิง สิริวัณวรี มหิดล (พระยศในขณะนั้น)
- วันที่ 4 – 5 มกราคม 2549 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนปากีสถาน พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อพระราชทานสิ่งของบรรเทาทุกข์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในปากีสถาน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 19 - 23 มีนาคม 2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของประธานาธิบดีอาซีฟ อาลี ซาดารี (Asif Ali Zardari)
นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เดือนสิงหาคม 2526 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ
- เดือนมีนาคม 2545 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ
- เดือนกรกฎาคม 2545 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ
- เดือนเมษายน 2548 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Asia Cooperation Dialogue ครั้งที่ 4
ฝ่ายปากีสถาน
ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เดือนกันยายน 2540 นาย กอฮาร์ อายุบ ข่าน (Gohar Ayub Khan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนไทย และได้ลงนามจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ (JEC) ไทย-ปากีสถาน
- เดือนเมษายน 2543 พลเอก เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ประธานาธิบดีปากีสถาน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- เดือนสิงหาคม 2545 นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุม JEC ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ
- เดือนเมษายน 2547 มีร์ ซาฟารูลลาห์ ข่าน จามาลี (Mir Zafarullah Khan Jamali) นายกรัฐมนตรี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 8-11 พฤษภาคม 2548 นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 19 มิถุนายน 2548 พลเอก เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharrafประธานาธิบดี แวะผ่านไทยและได้พบหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 3 ตุลาคม 2548 นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรี เยือนจังหวัดขอนแก่น และได้พบหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 4 สิงหาคม 2549 นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรี แวะผ่านไทย และได้พบหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม 2552 นาย ชาห์ มัคดูม มะห์มูด คูเรชิ (Shah Makhdoom Mahmood Qureshi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ครั้งที่ 16 ที่จังหวัดภูเก็ต
- วันที่ 15-16 ธันวาคม 2553 นาย นาวาบซาดา มาลิก อาหมัด ข่าน (Nawabzada Malik Amad Khan) รัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยการต่างประเทศ เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุม Asia-Middle East Dialogue (AMED) ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ
***************************
มิถุนายน 2555
กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **