การลดอาวุธ

การลดอาวุธ

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 57,040 view

การลดอาวุธในกรอบสหประชาชาติ

ข้อมูลทั่วไป

  • สหประชาชาติพิจารณาเรื่องการลดอาวุธในคณะกรรมการด้านลดอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศ หรือคณะกรรมการ 1 นอกจากนั้น ยังมีเวทีพหุภาคีหารือเรื่องการลดอาวุธอีก 2 เวทีคือ Conference on Disarmament (CD) ที่นครเจนีวา และ UN Disarmament Commission (UNDC) ที่นครนิวยอร์ก
  • ประเด็นการลดอาวุธในกรอบสหประชาชาติแบ่งออกเป็น (1) อาวุธที่มีกำลังทำลายล้างสูง ได้แก่อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ  (2) อาวุธตามแบบ เช่น ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา และ (3) ระบบเครื่องส่งอาวุธ คือ ขีปนาวุธ


การลดอาวุธที่มีกำลังทำลายล้างสูง

1. สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty : NPT)

ข้อมูลเบื้องต้น

          - สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ NPT มีสาระสำคัญ ห้ามรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน) ส่ง หรือช่วยให้ประเทศอื่น ๆ ผลิต หรือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และห้ามรัฐที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์รับ แสวงหา หรือขอความช่วยเหลือในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และให้รัฐที่ไม่ได้ครอบครอบอาวุธนิวเคลียร์ยอมรับข้อตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยว่าจะไม่นำพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติไปดัดแปลงใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์
 
         - NPT มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2513 (ค.ศ. 1970) โดยมีประเทศภาคี 184 ประเทศ (รวมทั้งประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์  5 ประเทศ)  ต่อมาเมื่อปี 2538 (ค.ศ. 1995) สนธิสัญญาฯ ได้รับการต่ออายุแบบถาวร (indefinite extension) โดยจะมีการประชุมทบทวนสนธิสัญญาฯ ทุก 5 ปี
 
         - ประเทศที่ยังไม่ได้ลงนาม NPT มี 4 ประเทศ คือ อินเดีย ปากีสถาน คิวบา และอิสราเอล 
 
         - การประชุมทบทวน NPT ครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 6 มีขึ้น ณ นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 24 เมษายน-19 พฤษภาคม 2543 ซึ่งมีความคืบหน้าที่สำคัญ คือ เป็นครั้งแรกที่ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์รับที่จะดำเนินการให้บรรลุผลเรื่องการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงอย่างแน่ชัด (unequivocal) และได้มีการกำหนดขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรม 13 ขั้นตอนในการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ (ดูรายละเอียดในผลการประชุมทบทวน NPT ครั้งที่ 6 ข้างล่าง)
 
         - NPT มักถูกประเทศกำลังพัฒนาโจมตีว่าเลือกประติบัติและไม่เท่าเทียม เพราะมีการแบ่งความรับผิดชอบที่แตกต่างกันระหว่างประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ (NWS) และประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ (NNWS) นอกจากนี้ ในปัจจุบันประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ได้สละสิทธิที่จะผลิต ครอบครอง หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ตามพันธกรณีของสนธิสัญญาฯ แล้ว ในขณะที่ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 5 ประเทศยังมิได้เริ่มดำเนินการเจรจาเพื่อลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ที่ตนครอบครองอยู่ตามมาตรา 6 ของสนธิสัญญาฯ อย่างจริงจัง

ผลการประชุมทบทวน NPT ครั้งที่ 6
 
         - ที่ประชุมสามารถตกลงกันได้ในประเด็นหลักที่เป็นพัฒนาการสำคัญนับตั้งแต่การประชุมทบทวนฯ เมื่อปี 2538 คือ การรับที่จะดำเนินการให้บรรลุผลเรื่องการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงอย่างแน่ชัด (unequivocal) โดย NWS ซึ่งถือเป็นการประกาศยืนยันพันธกรณีในเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ของ NWS อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ในเอกสารสุดท้าย (final document) ของที่ประชุมฯ ได้รับรองขั้นตอนที่เป็นรูปธรรม 13 ข้อในการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ตามพันธกรณีข้อ 6 ของสนธิสัญญาฯ เช่น การลดบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ การเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์และกระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์  การสนับสนุนให้มีการลด non-strategic nuclear weapons (อาวุธนิวเคลียร์ที่มีพิสัยไม่เกิน 5,500 กิโลเมตร) ฯลฯ
 
        - อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมในเอกสารสุดท้ายนั้น ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา และมักตั้งอยู่บนเงื่อนไขของความสมัครใจหรือการดำเนินการโดยฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการกำหนดเงื่อนไขด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและหลักการความปลอดภัยที่ไม่ลดน้อยลงของทุกๆ ประเทศ (undiminished security for all) ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องว่างให้ NWS สามารถเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ โดยอ้างเหตุผลดังกล่าวได้

ท่าทีไทย
 
        - ไทยได้ให้การภาคยานุวัติ (accession) เข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาฯ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2515 (ค.ศ. 1972) และปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญา NPT อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงเรื่องมาตรการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Safeguards Agreement) ระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
 
       - ไทยสนับสนุนให้มีการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสนธิสัญญาฯ ในทุก ๆ ด้าน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการบรรลุถึงการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงหรือโลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์ โดยไทยได้ร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) อันเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ในความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ตามที่กำหนดไว้ใน NPT   

2. สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty : CTBT)
  
ข้อมูลเบื้องต้น
 
       - สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ หรือ CTBT มีสาระสำคัญห้ามรัฐภาคีทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง โดยครอบคลุมทั้งบนดิน ใต้ดิน ใต้น้ำ และอวกาศ 

       - ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ 165 ประเทศ ลงนามใน CTBT รวมทั้งประเทศนิวเคลียร์เคลียร์ 5 ประเทศคือ อังกฤษ สหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน โดยขณะนี้ มีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 92 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศที่มีศักยภาพนิวเคลียร์ 31 ประเทศ ทั้งนี้ สนธิสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อประเทศที่มีศักยภาพทางนิวเคลียร์รวม 44 ประเทศที่ปรากฏรายชื่อในภาคผนวก 2 ต่อท้ายสนธิสัญญาฯ  (ซึ่งรวมทั้งประเทศนิวเคลียร์ทั้ง 5 ประเทศ) ได้ลงนามและให้สัตยาบัน CTBT แล้ว 
 
       - ในจำนวนประเทศที่มีศักยภาพทางนิวเคลียร์ 44 ประเทศนี้ มี 41 ประเทศที่ได้ลงนามใน CTBT แล้ว คงเหลืออีก 3 ประเทศคือ อินเดีย ปากีสถาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ที่ยังไม่ลงนามใน CTBT และในจำนวน 41 ประเทศนี้ มีเพียง 31 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนเพียงแต่ลงนามแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน จึงทำให้ประชาคมโลกห่วงกังวลว่า CTBT จะยังไม่มีผลบังคับใช้ไปอีกนาน
 
       - เลขาธิการสหประชาชาติในฐานะผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาฯ ได้จัดประชุมเพื่อเร่งรัดการมีผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาฯ ที่นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2544 อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการมีผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาฯ คือ สหรัฐฯ อินเดียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนถึงการไม่ให้ความสำคัญและไม่ประสงค์จะร่วมมือหรือมีส่วนร่วมใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนอิสราเอล ซึ่งเข้าร่วมประชุมฯ กล่าวเพียงว่าการลงนามในสนธิสัญญาฯ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนสนธิสัญญาฯ ของอิสราเอลแล้ว  ดังนั้น จึงอาจจะมีความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขข้อ 14 ของสนธิสัญญาฯ ซึ่งเกี่ยวกับเงื่อนไขการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาฯ ในอนาคตเพื่อให้ CTBT มีผลบังคับใช้
 
       - ประเทศกำลังพัฒนามักจะวิจารณ์ CTBT ว่ามีจุดอ่อนคือ เมื่อพิจารณาถึงความก้าวหน้าทางข้อมูลและเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์ของประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ในปัจจุบันแล้ว ประเทศดังกล่าวก็ยังสามารถทดลองและพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตนต่อไปได้ในห้องทดลอง ในลักษณะของการจำลองสภาพการณ์เหมือนจริงทางคอมพิวเตอร์ (computer simulations) อย่างไรก็ตาม CTBT ยังคงได้รับความสำคัญในแง่ของการแสดงเจตจำนงทางการเมือง และในฐานะเป็นขั้นตอนสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การลดและกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ในอนาคต 
 
       - นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา หลายประเทศ เช่น อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือ อิหร่าน ได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินและขีปนาวุธซึ่งสามารถนำไปติดหัวรบนิวเคลียร์  ซึ่งประชาคมโลกได้แสดงความห่วงกังวลและเรียกร้องให้ทั้งประเทศที่ยังไม่ได้ลงนาม CTBT และ NPT เร่งลงนามและให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาทั้งสองฉบับโดยเร็วและไม่มีเงื่อนไข 
ท่าทีไทย
 
       - ไทยไม่เห็นด้วยกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทุกรูปแบบ และเห็นว่าการทดลองดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมโลกและความมีเสถียรภาพในภูมิภาค รวมทั้งเป็นการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประชาคมโลก
 
       - ไทยมิได้เป็น 1 ใน 44 ประเทศที่มีศักยภาพทางนิวเคลียร์  ไทยได้ลงนามใน CTBT เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้สัตยาบัน CTBT โดยคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีของสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ :พปส. เป็นหน่วยงานหลักระดับชาติ) และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอีก 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตรวจว่าด้วยการตรวจการแปลสนธิสัญญาฯ และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจว่าด้วยด้านกฎหมาย เพื่อพิจารณาตรวจการแปลสนธิสัญญาฯ เป็นภาษาไทย และออกกฎหมายภายในอนุวัติการให้เป็นไปตามพันธกรณีของสนธิสัญญาฯ ทั้งนี้ คาดว่า ไทยจะสามารถให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาฯ ได้ภายในปี 2546

3. อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention : CWC)
 
ข้อมูลเบื้องต้น
 
       - อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี หรือ CWC มีสาระสำคัญห้ามรัฐภาคีพัฒนา ผลิต สะสม แสวงหาให้ได้มา หรือโอนย้ายอาวุธเคมี และต้องทำลายอาวุธเคมีในครอบครองด้วย
 
       - CWC มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2540 โดยมีประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันแล้ว 145 ประเทศ (ประเทศอาเซียนที่ยังไม่ให้สัตยาบันคือ ไทย พม่า และกัมพูชา) และได้มีการสถาปนาองค์การห้ามอาวุธเคมี (Organization for the Prohibition of Chemical Weapons : OPCW) ขึ้น ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยรัฐสมาชิกขององค์การฯ ได้แก่ รัฐภาคีอนุสัญญาฯ ที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว
 
       - สหรัฐฯ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย อิหร่าน และปากีสถาน ให้สัตยาบัน CWC แล้ว อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศในการทำลายอาวุธเคมี และต้องขยายระยะเวลาการทำลายอาวุธเคมีที่มีอยู่ออกไป อนึ่ง หลายประเทศในตะวันออกกลางยังไม่ลงนามใน CWC อาทิ  อิรัก อียิปต์ เลบานอน ซีเรีย และลิเบีย ส่วนอิสราเอลลงนามแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน
 
       - CWC กำหนดไว้ว่า ภายหลัง CWC มีผลบังคับใช้แล้ว 5 ปี กล่าวคือ หลังจากวันที่ 29 เมษายน 2545 ประเทศที่ยังไม่เป็นภาคี CWC เช่น ไทย จะไม่สามารถค้าขายสารเคมีตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวกรายการที่ 2 และ 3 กับประเทศที่เป็นภาคี CWC แล้วได้ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวเป็นสารเคมีที่ใช้กันทั่วไปในทางอุตสาหกรรมโดยลักษณะใช้ได้สองทาง คือสามารถใช้ในทางสันติในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สีย้อมผ้า และหมึกพิมพ์ ฯลฯ ก็ได้ หรือจะนำไปดัดแปลงใช้ผลิตอาวุธเคมีก็ได้ 
 
ท่าทีไทย

       - ไทยลงนามใน CWC เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536 (ค.ศ.1993) ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2543 อนุมัติการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี CWC และ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2543 รัฐสภา (Joint Sitting of the National Assembly) ได้มีมติเห็นชอบการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี CWC ของไทยแล้ว โดยขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานหลักระดับชาติกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอร่างพระราชบัญญัติอนุวัติการอนุสัญญาฯ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การห้ามอาวุธเคมี และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อนำเสนอรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎรขออนุมัติความเห็นชอบ ก่อนจะประกาศใช้พระราชบัญญัติทั้งสองในราชกิจจานุเบกษาต่อไป  และรัฐบาลไทยจึงจะดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารมอบให้เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อเข้าเป็นภาคี CWC โดยสมบูรณ์
 
       - แม้ว่าไทยจะยังมิได้ให้สัตยาบัน CWC แต่ไทยพร้อมจะปฏิบัติตามพันธกรณีเกี่ยวกับมาตรการตรวจสอบและควบคุมตามอนุสัญญาฯ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตรวจสอบควบคุมการนำเข้า ส่งออก และเคลื่อนย้ายสารเคมีตามภาคผนวกของ CWC แล้ว

4. อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวะ (Biological Weapons Convention : BWC)
 
    ข้อมูลเบื้องต้น
 
       - อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวะ หรือ BWC มีสาระสำคัญห้ามรัฐภาคีพัฒนา ผลิต สะสมอาวุธชีวะ และต้องทำลายอาวุธชีวะในครอบครองด้วย โดยอนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2518 (ค.ศ. 1975) และไม่ได้ระบุระยะเวลาสิ้นสุด
       - BWC ขาดประสิทธิภาพที่แท้จริงในการบังคับใช้เนื่องจากไม่มีระบบตรวจสอบพิสูจน์ยืนยันภายใต้การตรวจสอบควบคุมระหว่างประเทศที่เป็นกลางและไม่เลือกประติบัติ เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้ละเมิดอนุสัญญาฯ ในการลักลอบพัฒนา ผลิต สะสม และเคลื่อนย้ายอาวุธชีวะ ดังนั้น จึงมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ad Hoc Group: AHG) ของรัฐภาคี BWC ขึ้นเมื่อปี 2538 (ค.ศ. 1995) เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการพิสูจน์ยืนยัน (verification mechanism) การปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อนุสัญญาฯ ในลักษณะเป็นพิธีสาร (Protocol) แนบท้ายอนุสัญญา BWC  AHG ของ BWC ได้จัดประชุมอย่างต่อเนื่อง (รวม 24 ครั้งแล้ว) เพื่อจัดทำร่างพิธีสาร แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากความเห็นและท่าทีของประเทศต่างๆ ยังไม่อาจตกลงกันได้โดยเฉพาะในเรื่องของการเยี่ยมเยือน (visits) และการตรวจสอบ (inspections)
 
       -  ล่าสุดได้มีการประชุม AHG สมัยที่ 24 ขึ้นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-3 สิงหาคม 2544 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาร่างพิธีสารฯ ที่ประธาน AGH เสนอ แต่รัฐภาคีต่างๆ ยังไม่สามารถตกลงเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับสาระในร่างพิธีสารได้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งมีท่าทีที่ชัดเจนในการที่จะไม่เข้าร่วมการเจรจาอีกต่อไป เนื่องจากเห็นว่า ประเด็นในเรื่องการตรวจสอบนั้นกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ที่อาศัยเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งกระทำอย่างบริสุทธิ์ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงขอถอนตัวจากการเจรจาเพื่อจัดทำร่างพิธีสารฯ ซึ่งส่งผลกระทบให้การดำเนินการของ AHG ต้องชะงักลง
 
       - นอกจากนี้ ได้มีความพยายามในการหาที่ตั้งองค์กรห้ามอาวุธชีวะและชีวพิษ โดยประเทศสวิตเซอแลนด์และเนเธอแลนด์เสนอให้จัดตั้งองค์กรดังกล่าวที่กรุงเฮก เนเธอแลนด์ เนื่องจาก เนเธอแลนด์สนับสนุนผู้สมัครของไทยเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ WTO ด้วยดี อนึ่ง อาเซียนยังไม่มีท่าที่ร่วมกันเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรฯ
 
ท่าทีไทย
 
       - ไทยเข้าเป็นภาคี BWC ลำดับที่ 38 โดยให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2518 (ค.ศ.1975) และได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม AHG ณ นครเจนีวาเพื่อพิจารณาร่วมร่างพิธีสารมาตรการพิสูจน์ยืนยันแนบท้าย BWC มาโดยตลอด ซึ่งถือว่า เป็นการเข้าร่วมอยู่ในระบอบไม่แพร่ขยายและลดอาวุธชีวะและชีวพิษที่เป็นสากล ขณะนี้ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ โดยกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมอยู่ในคณะทำงานด้วย อย่างไรก็ตาม ไทยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดตั้งศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นหน่วยประสานงานหลักอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน โดยศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพได้เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
 
        - ไทยสนับสนุนความพยายามของประธาน AHG และความร่วมมือของรัฐภาคีต่างๆ ในการผลักดันให้มีการเร่งรัดจัดทำร่างพิธีสารให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว  ถึงแม้ว่าการประชุม AHG สมัยที่ 24 จะประสบความล้มเหลวในการเจรจา แต่ไทยยังหวังว่าระบอบพหุภาคีน่าจะเป็นกลไกที่สำคัญในการดำเนินการด้านลดอาวุธและควบคุมอาวุธ นอกจากรี้ ไทยยังยึดมั่นว่า ร่างพิธีสารฯ จะต้องเอื้อประโยชน์ให้แก่รัฐภาคีทุกประเทศอย่างเท่าเทียม และจะเป็นมาตรการที่จะใช้ในการตรวจสอบพิสูจน์ยืนยันการดำเนินการของรัฐภาคีซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ
 
อนุสัญญาฯ กับความเป็นไปได้ในการนำอาวุธชีวภาพมาใช้ในการก่อการร้ายสากล
 
        - ตามที่ได้มีรายงานข่าวภายหลังการเกิดเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544ว่า ผู้ก่อการร้ายอาจนำอาวุธชีวภาพมาใช้ในการปฏิบัติการนั้น ในขณะนี้ ยังไม่มีประเทศ/องค์กรใด พิจารณามาตรการ/แนวทางในการป้องกัน/แก้ไขการดำเนินการดังกล่าวอย่าง
จริงจัง
 
        - อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธชีวภาพถือเป็นเพียงกลไกเดียวในการควบคุมการพัฒนา ใช้ โอน ผลิตและสะสม และทำลายอาวุธชีวภาพ แต่เนื่องจาก ยังไม่มีมาตรการพิสูจน์ยืนยัน จึงทำให้อนุสัญญาฯ ไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้

การลดอาวุธตามแบบ

1. อาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา 
 
ข้อมูลเบื้องต้น
 
                      - ปัญหาอาวุธขนาดเล็กได้ทวีความสำคัญมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ และอาจเรียกได้ว่าเป็นระเบียบวาระที่ประเทศตะวันตกพยายามผลักดันในกรอบการดำเนินการระหว่างประเทศแทบทุกกรอบ รวมทั้งสหประชาชาติ (ในกรอบคณะกรรมการ 1 และ 3) ASEAN Regional Forum  (ภายใต้ระเบียบวาระ Transnational Organized Crimes) และ Human Security ด้วย  ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมองว่า อาจเป็นความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นจากการลดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูงอื่นๆ
 
                      - สหประชาชาติได้กำหนดว่าอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาคืออาวุธที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกปืนไม่เกิน 100 มิลลิเมตร อาวุธขนาดเล็กได้แก่ revolvers and self-loading pistols, rifles and carbines, sub-machine guns, assault rifles, light-machine guns และอาวุธเบาได้แก่  heavy-machine guns, hand-held under-barrel and mounted grenade launchers, portable anti-aircraft guns, portable anti-tank guns, portable anti-tank missile and rocket system, portable launchers of anti-aircraft missile system, mortars of calibre of less than 100 mm.
 
สถานะล่าสุด
 
                     - ขณะนี้ ยังไม่มีสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศใดๆ ที่ควบคุมอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา นอกจากการคว่ำบาตรทางอาวุธของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าใดนัก
 
                     - ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติให้จัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาอย่างผิดกฎหมายในทุกด้าน (International Conference on the Illicit Trade in Small Arms and Light Weapons in All Its Aspects) ในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) และให้มีการประชุมเตรียมการอย่างน้อย 3 ครั้ง 
 
                     - ที่ประชุมเตรียมการครั้งที่ 1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ไม่มีความราบรื่นเท่าที่ควรและไม่มีผลเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก  ประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกคือขอบเขตของการประชุมสหประชาชาติฯ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement – NAM) บางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาและลาตินอเมริกาซึ่งประสบปัญหาอาวุธตามแบบขนาดเล็กมาก   ต้องการให้ขอบเขตของการประชุมเปิดกว้างและครอบคลุมการขนย้าย การค้า และประเด็นที่เกี่ยวข้องที่กระทำโดยถูกกฎหมาย ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชีย (รวมทั้งไทยและอาเซียนบางประเทศ) และตะวันออกกลางเห็นว่า ขอบเขตของการประชุมควรจะจำกัดเฉพาะการลักลอบหรือการดำเนินการอย่างผิดกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธตามแบบขนาดเล็กเท่านั้น และการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ปัญหาอาวุธตามแบบขนาดเล็กต้องคำนึงข้อ 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติเกี่ยวกับสิทธิของรัฐในการป้องกันตนเอง และคำนึงถึงความแตกต่างของลักษณะปัญหาและขอบเขตของปัญหาในแต่ละภูมิภาคด้วย
 
(Article 51 : Nothing in the present Charter shall impair the inherent right of individual or collective self-defense if an armed attack occurs against a Member of the UN, until the UNSC has taken measures necessary to maintain international peace and security.  Measures taken by Members in exercise of this right of self defense shall be immediately reported to the UNSC and shall not in any way affect the authority and responsibility of the SC under the present Charter to take at any time such action as it deems necessary in order to maintain or restore international peace and security.)
 
                       - การประชุมเตรียมการ ครั้งที่ 2 ณ นครนิวยอร์ก ในเดือนมกราคม 2544 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนปฏิบัติการฯ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นมาตรการที่ ambitious เกินไป ไม่น่าจะนำมาปฏิบัติได้จริง ประธานการประชุมเตรียมการฯ จึงจัดทำร่างฉบับใหม่ โดยคำนึงถึงข้อคิดเห็นของประเทศต่างๆ เพื่อพิจารณาในการประชุมเตรียมการ ครั้งที่ 3
 
                        - การประชุมเตรียมการ ครั้งที่ 3 ณ นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 19-30 มีนาคม 2544 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนปฏิบัติการ ฉบับแก้ไข (L.4/Rev.1) ที่เสนอโดยประธานการประชุมเตรียมการฯ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เห็นว่า มีความสมดุลย์และ realistic มากขึ้น แต่ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหภาพยุโรป และแคนาดา พยายามเพิ่มเติมประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านมนุษยธรรมอันเกิดจากปัญหาอาวุธขนาดเล็กฯ การกำหนดกรอบเวลาในการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายและเกณฑ์สากลในการส่งออกอาวุธ ซึ่งประเทศอื่นๆ  ไม่ยอมรับเท่าใดนัก
 
                         - ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าอาวุธขนาดเล็กฯ ได้รับรองแผนปฏิบัติการ ซึ่งกำหนดมาตรการระดับรัฐ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาอาวุธขนาดเล็กฯ แต่การปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ไม่สามารถบรรจุเรื่องการห้ามโอนอาวุธขนาดเล็กฯ ให้กับองค์กรที่มิใช่รัฐ และเรื่องการควบคุมการครอบครองอาวุธโดยพลเรือน เนื่องจากสหรัฐฯ คัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ 
 
                         - อาเซียนมีท่าทีว่าปัญหาอาวุธขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในกรอบปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติโดยเชื่อมโยงกับปัญหาการค้ายาเสพติด และปัญหาการค้ามนุษย์ แต่อาจยกเว้นในกรณีกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่อาจจะมีลักษณะปัญหาในกรอบการลดอาวุธภายหลังความขัดแย้งสิ้นสุด ในการแก้ไขปัญหาอาวุธขนาดเล็กนั้น จำเป็นต้องเคารพสิทธิของรัฐในการป้องกันตนเอง ตามที่สะท้อนในข้อ 51 ของกฎบัตร สหประชาชาติ และคำนึงถึงความแตกต่างของลักษณะปัญหาดังกล่าวในแต่ละภูมิภาคด้วย อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่องขอบเขตของการประชุมสหประชาชาติฯ นั้น แม้อาเซียนส่วนใหญ่จะเห็นว่า จำเป็นต้องแบ่งแยกให้ชัดเจนระหว่างการค้าอาวุธอย่างถูกกฎหมายและการลักลอบค้าอาวุธ แต่ฟิลิปปินส์เห็นว่า อาจจะเร็วเกินไปที่จะกำหนดเช่นนั้น เนื่องจากอาจจะมีความเชื่อมโยงระหว่างการค้าอาวุธอย่างถูกกฎหมายและการค้าอาวุธอย่างผิดกฎหมาย  นอกจากนั้น ฟิลิปปินส์ ยังสนับสนุนให้มีการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องนี้ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายด้วย
 
ท่าทีไทย
 
                      - ไทยสนับสนุนการจัดการประชุมสหประชาชาติฯ ในปี 2544 เพื่อแก้ไขปัญหาอาวุธขนาดเล็กเนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกี่ยวพันกับอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ เช่น การลักลอบค้ายาเสพติด เป็นต้น ไทยสนับสนุนร่างข้อมติสมัชชาที่เกี่ยวข้องตลอดมา อย่างไรก็ดี ในแง่ของภาพรวมของการลดอาวุธนั้น  ไทยเห็นว่า ประชาคมโลกควรจะให้ความสำคัญต่อการลดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูงด้วย มิใช่เน้นแต่อาวุธตามแบบ  อนึ่ง ไทยเห็นว่า ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้จะต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ปัญหา และได้รับการควบคุมอย่างทัดเทียมกัน ทั้งนี้ ฝ่ายทหารของไทยมีแนวคิดว่า การแก้ไขปัญหาอาวุธขนาดเล็กฯ ควรจะมุ่งเน้นการทำเครื่องหมายบนอาวุธ (marking) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ผลิต เพื่อให้สามารถหาร่องรอย (tracing) ของอาวุธที่นำมาใช้อย่างผิดกฎหมายได้
 
                      - โดยที่เป็นการประชุมเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ไทยเห็นว่า ขอบเขตของการประชุมสหประชาชาติ ควรจะเน้นที่การลักลอบหรือการดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมายของอาวุธขนาดเล็กและการให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ/ควบคุม non-state actors โดยเฉพาะผู้ค้าอาวุธระหว่างประเทศ  และหากจะมีการพิจารณามาตรการควบคุมกิจกรรมที่ถูกกฎหมาย มาตรการนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับหรือมีส่วนส่งเสริมการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริง เช่น การทำเครื่องหมายบนอาวุธ เป็นต้น  นอกจากนั้น การแก้ไขปัญหาการแก้ปัญหาอาวุธขนาดเล็กต้องคำนึงถึงหลักการการเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น และข้อ 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติเกี่ยวกับสิทธิในการป้องกันตนเอง นอกจากนั้น แต่ละภูมิภาคยังมีลักษณะเฉพาะ  ซึ่งน่าจะมีวิธีแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป วิธีการแก้ปัญหาในภูมิภาคหนึ่งอาจจะไม่เหมาะกับอีกภูมิภาคหนึ่ง  ทั้งนี้ ไทยปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการคว่ำบาตรทางอาวุธอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และไม่มีนโยบายสนับสนุนองค์กรที่มิใช่รัฐที่มีกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลอื่น 
 
ไทยมีกฎหมายควบคุมเรื่องอาวุธขนาดเล็กอย่างเข้มงวด ได้แก่

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ. 2495
พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ. 2535
คำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 37


2. อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
    (อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดหรืออนุสัญญาออตตาวา)


Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on Their Destruction (The Ottawa Convention)
 
1.  ความเป็นมาของอนุสัญญาฯ
 
          หลังยุคสงครามเย็น กระแสโลกเกี่ยวกับความมั่นคงได้เปลี่ยนแปลงไป การสะสมอาวุธเพื่อเป็นพลังสำคัญของชาติได้ปรับมาเป็นการร่วมกันลดกำลังอาวุธ โดยเริ่มจากอาวุธที่คิดว่าจะเริ่มหมดสมัย (obsolete) หรือเริ่มเกินความจำเป็นแล้ว รวมถึงทุ่นระเบิดสังหารบุคคลซึ่งเป็นอาวุธที่ร้ายแรง เข่นฆ่าชีวิตโดยไม่เลือกเพศ วัย หรืออาชีพ ทั้งนี้ ความพยายามแรกเริ่มได้เริ่มจากการดำเนินการของคณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross: ICRC) และองค์กรเอกชนต่างๆ ต่อมา รัฐบาลหลายประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องดังกล่าว และพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลซึ่งก่อให้เกิดปัญหามนุษยธรรมที่รุนแรง
 
          ในปี 2536 ฝรั่งเศสได้ร้องขอให้เลขาธิการสหประชาชาติในฐานะที่เป็นผู้ดูแล Convention on Certain Conventional Weapons (CCW) จัดประชุมเพื่อทบทวนอนุสัญญาดังกล่าวโดยมุ่งเน้นที่ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และสมาชิกสาหภาพยุโรปได้ร้องขอให้สมัชชาสหประชาชาติพิจารณาระเบียบวาระเรื่องทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเสนอร่างข้อมติที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ  ตกลงให้มี moratorium ไม่ส่งออกทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ต่อมา สหประชาชาติได้จัดตั้ง Voluntary Trust Fund สำหรับการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
 
          ในปี 2539 รัฐภาคี CCW ได้แก้ไขพิธีสารฉบับสอง (Protocol II) เกี่ยวกับทุ่นระเบิด แต่ก็ยังเป็นการประนีประนอมระหว่างความจำเป็นทางด้านความมั่นคงทางทหารและการแก้ไขปัญหามนุษยธรรมอันเกิดจากทุ่นระเบิด และไม่ใช่เป็นการห้ามทุ่นระเบิดในทุกรูปแบบ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศ และ International Campaign to Ban Landmines (ICBL) องค์กรเอกชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเห็นว่า พิธีสารฉบับสองที่แก้ไขแล้วของ CCW ไม่เพียงพอ และควรมีการห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างเต็มรูปแบบ (comprehensive Ban)
 
           ในเดือนตุลาคม 2539 รัฐบาลแคนาดาได้จัด Strategy Conference ขึ้นที่กรุงออตตาวา มีผู้เข้าร่วมจากประมาณ 50 ประเทศ กลุ่มนี้ ได้รับรองแถลงการณ์ว่า ตระหนักถึงความสำคัญของการยุติการวางทุ่นระเบิด เพิ่มทรัพยากรสำหรับ  โครงการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด  และการให้ความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาทุ่นระเบิด ตลอดจนตกลงให้มีข้อตกลงระหว่างประเทศในการห้าม   ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยเร็วที่สุด โดยออสเตรียได้ยกร่างอนุสัญญาในเรื่องดังกล่าวเป็นร่างแรก และแคนาดาได้ประกาศว่าจะเป็นเจ้าภาพจัดพิธีลงนาม ในอนุสัญญาที่กรุงออตตาวาในเดือนธันวาคม 2540 ได้มีการเจรจาเพื่อร่างอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ตลอดปี 2540 ดังที่รู้จักกันทั่วไปว่า Ottawa Process ที่กรุงเวียนนา (กุมภาพันธ์ 2540) กรุงบรัสเซลส์ (มิถุนายน 2540) และกรุงออสโล (กันยายน 2540) โดยมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือชื่อเต็มว่า อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ได้เปิดให้มีการลงนามที่กรุงออตตาวา ระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม 2540 ซึ่ง 121 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว
 
           ลักษณะเด่นที่สำคัญของกระบวนการออตตาวาหรือ Ottawa Process คือความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและองค์กรเอกชน ตลอดจนความรวดเร็วในการเจรจาจนถึงช่วงที่สามารถเปิดให้ประเทศต่างๆ ลงนามได้ (15 เดือน) และความรวดเร็วที่อนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ (เพียง 14 เดือนภายหลังการเปิดให้มีการลงนาม) นอกจากนั้น อนุสัญญาฯ ยังมีผลบังคับใช้ตลอดไปอีกด้วย

2.  สาระของอนุสัญญาออตตาวา
 
อนุสัญญาออตตาวาประกอบด้วย 22 ข้อ ทั้งนี้ พันธกรณีหลักที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติปรากฏในข้อ 1-9 ของอนุสัญญาฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
ข้อ 1 รัฐภาคีจะไม่ใช้ พัฒนา ผลิต ครอบครอง สะสม หรือโอน ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และจะไม่  ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้รัฐใดดำเนินการดังกล่าว 
ข้อ 2 เป็นคำจำกัดความของคำต่างๆ ภายใต้อนุสัญญาฯ
ข้อ 3 ยกเว้นให้รัฐภาคีสามารถเก็บทุ่นระเบิดไว้ได้ในจำนวนที่สมเหตุสมผล เพื่อการฝึกในการค้นหา เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิด
ข้อ 4 รัฐภาคีต้องทำลายทุ่นระเบิดในคลังให้หมดสิ้นภายในเวลา 4 ปี ภายหลังจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อ    รัฐภาคีนั้นๆ
ข้อ 5 รัฐภาคีต้องทำลายทุ่นระเบิดในดินแดนของรัฐภาคีภายในเวลา 10 ปี นับจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อ   รัฐภาคีนั้นๆ
ข้อ 6 รัฐภาคีมีสิทธิแสวงหาความช่วยเหลือจากรัฐภาคีอื่นๆ ในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาออตตาวา
ข้อ 7 รัฐภาคีจะต้องรายงานต่อเลขาธิการสหประชาชาติถึงการดำเนินการในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ
ข้อ 8 กล่าวถึงการอำนวยความสะดวก และการให้ความกระจ่างต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ
ข้อ 9 รัฐภาคีจะต้องดำเนินมาตรการตามกฎหมาย ด้านบริหารและอื่นๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามกิจกรรมที่ต้องห้ามภายใต้อนุสัญญาฯ

3.  สถานะล่าสุดของอนุสัญญาฯ
 
          อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันแรกของเดือนที่ 6 ภายหลังจากที่ประเทศต่างๆ มอบ
สัตยาบันสารครบ 40 ประเทศ (บูร์กินาฟาโซได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เป็นประเทศที่ 40 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541) ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อ 17(1) ของอนุสัญญาฯ
 
          ในส่วนของไทย โดยที่ไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 อนุสัญญาฯ จึงมีผลบังคับใช้ต่อไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อ 17(2) ของอนุสัญญาฯ ซึ่งมีกำหนดว่า สำหรับรัฐที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ ภายหลังจากที่มีรัฐที่ 40 ให้สัตยาบันแล้ว อนุสัญญาฯจะมีผลบังคับใช้ต่อรัฐนั้น ในวันแรกของเดือนที่ 6        ภายหลังจากรัฐนั้นได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ
 
          จากข้อมูลล่าสุดของ ICBL ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2545 มีประเทศลงนามในอนุสัญญาฯ แล้ว 143 ประเทศ และให้สัตยาบันแล้ว 124 ประเทศ ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากพอที่จะสามารถกล่าวได้ว่าอนุสัญญาฯ  มีลักษณะเป็นสากลในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ประเทศใหญ่ๆ และเป็นประเทศผู้ผลิตและใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เช่น สหรัฐฯ และจีน ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
  
          สำหรับประเทศอาเซียน ประเทศที่ลงนามและให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ แล้ว ได้แก่ ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ส่วนบรูไน และอินโดนีเซีย ลงนามแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน ในขณะที่สิงคโปร์ เวียดนาม พม่า และลาว ยังไม่ได้ลงนาม
 
          การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้กรอบอนุสัญญาออตตาวา ประกอบด้วยการประชุมประจำปีหรือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา  และการประชุมระหว่างสมัยประชุม (intersessional meeting) หรือการประชุมคณะกรรมการประจำด้านต่างๆ ( Standing Committee) ปีละ 2 ครั้ง
 
          การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 1 มีขึ้นระหว่างวันที่ 3-7 พฤษภาคม 2542 ที่กรุงมาปูโต โมซัมบิก ซึ่ง รัฐภาคีได้รับรองแถลงการณ์มาปูโตและแบบฟอร์มสำรับรายงานตามข้อ 7 ของอนุสัญญาฯ
 
          การประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 2 มีขึ้นที่นครเจนีวา ระหว่างวันที่ 11-15 กันยายน 2543
 
          การประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 3 มีขึ้นที่กรุงมานากัว ประเทศนิการากัว ระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2544  (ไทยเคยได้รับการทาบทามจากแคนาดาให้เป็นเจ้าภาพโดยแคนาดาจะจัดสรรงบประมาณให้ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

4.  ไทยกับอนุสัญญาออตตาวา
 
           ความสนใจของไทยต่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเริ่มจริงจังเมื่อปัญหากัมพูชายุติใหม่ๆ และไทยได้ช่วย
กัมพูชาเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาและภายในกัมพูชา โดยส่งทหารช่าง 1 กองพัน ช่วยดำเนินการภายใต้ UN Transitional Authority in Cambodia (UNTAC) โดยในขณะนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของผู้อพยพชาวกัมพูชา ซึ่งศักยภาพและความเชี่ยวชาญของไทยในด้านนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ในสายตาต่างประเทศ
แม้ว่าในช่วงต้นๆ ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการออตตาวา แต่ก็ได้ติดตามพัฒนาการของกระบวนการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไทยเห็นว่าทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเป็นอาวุธที่มีอันตรายต่อมนุษยชาติ สมควรที่ทุกประเทศจะร่วมมือกัน ในการกำจัดให้หมดไปโดยเร็วที่สุด
 
           สำหรับขั้นตอนการพิจารณาเข้าร่วมอนุสัญญาฯ ของไทยนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาอนุสัญญาฯ และกระทรวงการต่างประเทศได้หารือและได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงกลาโหมและกองทัพบกซึ่งได้พิจารณาแล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน มีความเห็นว่า การใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในภารกิจป้องกันชายแดนและรักษาความมั่นคงภายในมิใช่วิธีการหลัก และกองทัพบกสามารถใช้วิธีการอื่นชดเชยได้โดยไม่เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติภารกิจ นอกจากนั้น การเข้าร่วมอนุสัญญาฯ จะส่งผลดีต่อไทยและภูมิภาคในระยะยาว
 
           ภายหลังการได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปลงนามในอนุสัญญาฯ ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา โดยไทยได้ลงนามเป็นลำดับที่ 33 และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในโอกาสดังกล่าว ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงว่า จะเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาให้หมดสิ้นภายในระยะเวลา 3 ปี ตามที่  พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการกองทัพบกในขณะนั้น ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านั้น
 
           ในพิธีลงนามดังกล่าว มีนาย Lloyd Axworthy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแคนาดาเป็นประธาน และนาย Jean Cretien นายกรัฐมนตรีแคนาดา นาย Kofi Annan เลขาธิการสหประชาชาติ นาย Cornelio Sommaruga ประธานคณะกรรมการกาชาดสากล และนางสาว Jody Williams จาก ICBL ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2540 เข้าร่วมพิธีด้วย ทั้งนี้ มีประเทศต่างๆ ร่วมลงนามจำนวน 121 ประเทศ
 
            ต่อมา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการให้สัตยาบันของไทยต่ออนุสัญญาดังกล่าว และคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ส่งมอบสัตยาบันสารของไทยแก่สหประชาชาติในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 นับเป็นประเทศที่ 53 ของโลกซึ่งส่งผลให้อนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไทยเมื่อวันที่   1 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป
 
            เมื่ออนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศใช้อนุสัญญาดังกล่าวในประเทศไทย และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งสำเนาประกาศใช้อนุสัญญาฯ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 116 ตอนที่ 53 ง  ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 เพื่อเป็นการรองรับการดำเนินการของไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาออตตาวา ภายหลังจากที่ไทยลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 แล้ว ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 151/2541 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2541 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานเรื่องทุ่นระเบิดสังหารบุคคล โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานทางทหารและพลเรือนที่เกี่ยวข้อง รายงานโดยตรงต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
 
            คณะกรรมการเพื่อดำเนินงานเรื่องทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ได้มีมติให้กองบัญชาการทหารสูงสุดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดเแห่งชาติ (ศทช.) หรือ Thailand Mine Action Center (TMAC) เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการหลักในเรื่องทุ่นระเบิดของไทย ทั้งนี้ ศทช. ได้เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2542
 
            ต่อมา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งที่ 15/2543 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 ยกเลิกคำสั่งเดิมข้างต้น และ     แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ชื่อคณะกรรมการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งนี้ เพื่อแสดงว่าการดำเนินการของไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการทุ่นระเบิด อยู่ภายใต้การนำของพลเรือนมิใช่ทหารและอยู่ในกรอบการดำเนินการเพื่อมนุษยธรรมอย่างแท้จริง เนื่องจากประเทศผู้ให้บางประเทศมีข้อขัดข้องในการให้ความช่วยเหลือกับฝ่ายทหารของไทย
 
             แม้ว่าไทยจะมีพื้นที่ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 790 ตารางกิโลเมตร แต่ปัญหาทุ่นระเบิดของไทยในขณะนั้น ไม่เป็นที่ประจักษ์ในสายตาประชาคมโลกมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น กัมพูชา       อังโกลา บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา และอัฟกานิสถาน และการแก้ปัญหาทุ่นระเบิดของไทยที่มีบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ฯพณฯ            รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ได้นำคณะทูตต่างประเทศเดินทางไปบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้เชิงเขา    พระวิหารเพื่อให้รับทราบถึงปัญหาทุ่นระเบิดของไทยและเพื่อประกาศความร่วมมือไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับปฏิบัติการทุ่นระเบิด โดยได้มีการลงนามในแถลงข่าวรวมเกี่ยวกับความร่วมมือไทย-กัมพูชาในเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้

5.  พันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาออตตาวา
 
             เมื่ออนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อไทยในวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 แล้ว ไทยก็มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ ดังนี้
 
              5.1  ไม่ใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
 
              5.2  ไม่พัฒนา ผลิต หรือได้มาด้วยวิธีอื่น สะสม จัดเก็บหรือโอนไปสู่ผู้ใดทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมซึ่งทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ยกเว้นการโอนทุ่นระเบิดเพื่อทำลาย
 
               5.3 ไม่ช่วยเหลือ สนับสนุนหรือชักจูงผู้ใดให้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ต้องห้ามแก่รัฐภาคีภายใต้อนุสัญญานี้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
 
               5.4 ทำลายหรือดำเนินการให้แน่ใจว่ามีการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดภายใน 4 ปี  หลังจากที่อนุสัญญาฯมีผลบังคับใช้ต่อไทย (30 เมษายน 2546) ยกเว้นการจัดเก็บหรือโอน ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลได้จำนวนหนึ่งเพื่อการพัฒนา การฝึกอบรมในการตรวจค้นทุ่นระเบิด การกวาดล้างทุ่นระเบิด หรือวิธีการทำลายทุ่นระเบิด  โดยจำนวนทุ่นระเบิดดังกล่าว  จะต้องไม่เกินจำนวนต่ำที่สุดที่จำเป็นอย่างที่สุดเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น ซึ่ง ศทช. มีแผนการทำลายทุ่นระเบิดในคลังให้แล้วเสร็จตามกำหนดอยู่แล้ว
 
               5.5  ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ทุ่นระเบิด (การเก็บกู้ทุ่นระเบิด) ภายใน 10 ปี หลังจากที่อนุสัญญามี  ผลบังคับใช้ต่อไทย (30 เมษายน 2552) ทั้งนี้ หากไม่สามารถที่จะทำลายทุ่นระเบิดในพื้นที่ทุ่นระเบิดได้ทันตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าว อาจร้องขอต่อที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมทบทวนเพื่อขยายกำหนดเวลาในการดำเนินการดังกล่าวให้เสร็จสิ้น ออกไปได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี โดยคำร้องขอแต่ละครั้งจะประกอบด้วย ระยะเวลาที่เสนอ  ขอขยาย คำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลของการขยายเวลาที่จะเสนอ อุปสรรคที่ขัดขวางการทำลาย   ทุ่นระเบิด ผลกระทบด้านมนุษยธรรม สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของการขยายเวลา ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมทบทวนจะประเมินคำร้องขอ และวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงข้างมากของรัฐภาคีที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง
 
               5.6  แสดงตำแหน่งพื้นที่ซึ่งทราบหรือสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และต้องแสดงเขตบริเวณ เฝ้าตรวจพื้นที่ทุ่นระเบิด และแยกพลเรือนออกไปจากพื้นที่ทุ่นระเบิดโดยใช้การล้อมรั้ว
 
               5.7  รายงานผลการดำเนินการด้านทุ่นระเบิดต่อเลขาธิการสหประชาชาติเป็นประจำทุกปี โดยมีกำหนดต้องส่งรายงานดังกล่าวภายในวันที่ 30 เมษายน

6.  การดำเนินการด้านทุ่นระเบิดของไทยที่ผ่านมา
 
               6.1  ในการแก้ปัญหาทุ่นระเบิดอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการรอบด้าน กล่าวคือ การเก็บกู้ทำลายทุ่นระเบิด การให้ความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาทุ่นระเบิด การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด และการ  ฟื้นฟูพื้นที่ทุ่นระเบิดให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้  ในการดำเนินการดังกล่าว ไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาพื้นที่           ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร โดย ศทช. ได้มีโครงการนำร่องในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดจังหวัดสระแก้ว  ในขณะเดียวกัน ศทช. ก็ได้จัดให้มีการฝึกอบรมด้านการเก็บกู้        ทุ่นระเบิดและการแจ้งเตือนภัยให้ความรู้ด้วย ที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินการด้านทุ่นระเบิดในด้านต่างๆ  ดังนี้
 
                       6.1.1 การเก็บกู้ทุ่นระเบิด
 
                               จากผลการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดขั้นที่ 1 ของไทย (Thailand Level one Landmine Impact Survey) ซึ่งดำเนินการโดย Norwegian People ‘ s Aid ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด 2,557 ตารางกิโลเมตร 531 หมู่บ้าน ใน พื้นที่ 27 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับผลกระทบถึง 504,303 คน และในแต่ละปีมีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเฉลี่ยปีละ 170 คน   ศทช. ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิด (Humanitarian Mine Action Unit –HMAU) ขึ้น 3 หน่วยเพื่อดำเนินการด้านทุ่นระเบิดในด้านต่างๆ ประกอบด้วยการเก็บกู้ทุ่นระเบิด การแจ้งเตือนภัยให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากทุ่นระเบิด และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด   ดังนี้
 
                                - HMAU 1 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2543 ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
 
                                - HMAU 2 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2543 ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี
 
                                - HMAU 3 ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2544 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ขณะนี้ดำเนินการเฉพาะด้านการแจ้งเตือนภัยให้ความรู้และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด จนถึงปัจจุบัน (เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปีนับจากศทช. เริ่มปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิด และเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปีหลังอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อไทย)  ศทช. ได้ทำลายทุ่นระเบิดในจังหวัดสระแก้ว จันทบุรีและตราดไปแล้วเป็นจำนวนประมาณ  2 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ร้อยละ 0.078  ของพื้นที่ที่ต้องทำลายทุ่นระเบิดทั้งหมด ซึ่งเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่าไทยไม่สามารถดำเนินการได้ทันในกรอบระยะเวลา 10 ปี ศทช. ประสบปัญหาด้านงบประมาณ บุคลากรและวัสดุ/อุปกรณ์ในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด  ที่ผ่านมา ศทช .ได้รับเงินงบประมาณปีละประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน ส่งผลต่อการดำเนินการด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้วย นอกจากนี้ วัสดุ/อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดมีราคาแพง ไม่สามารถจัดซื้อเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานได้ ในปัจจุบัน ประเทศ ผู้บริจาคต่างๆ ได้สนับสนุนวัสดุ/อุปกรณ์ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้สนับสนุนวัสดุ/อุปกรณ์ให้แก่ HMAU 1 และ 2 จนสามารถปฏิบัติงานได้  ขณะนี้ HMAU 3 ยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น
 
                            หากพิจารณาพันธกรณีของไทยในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นภายในเดือนเมษายน 2552 หรือหากจะพิจารณาเลื่อนเวลาซึ่งสามารถกระทำได้จนถึงปี 2562 จะเห็นว่า ไทยยังประสบปัญหาที่สำคัญยิ่งในการดำเนินการดังกล่าว และหากไทยไม่สามารถดำเนินการตามพันธกรณีดังกล่าวได้อาจส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของไทยในการดำเนินการด้านทุ่นระเบิด
 
                      6.1.2 การทำลายทุ่นระเบิดในคลัง
 
                              ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ซึ่งอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อไทย ศทช. ได้จัดให้มีการทำลายทุ่นระเบิดในคลังจำนวน 1,000 ทุ่น ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ บริเวณเขาพุคา จังหวัดลพบุรี และได้ดำเนินการต่อจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 ไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดไปรวม 10,000 ทุ่น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้รับความชื่นชมจากประชาคมโลก โดยประเทศต่างๆ องค์กร Handicap International และผู้อำนวยการกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF ได้มีหนังสือถึงฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
 
                              ต่อมา ศทช. ได้จัดทำแผนงานที่จะทำลายทุ่นระเบิดในคลัง จำนวน 6 ครั้ง/ปี เป็นเวลา 3 ปี โดยใช้งบประมาณปีละ 1.2 ล้านบาท หรือ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งสิ้น 90,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในการเยือนไทยระหว่างวันที่ 6-7 มกราคม 2543 ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศของนาย Knut Vollebaek รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ นอร์เวย์ตกลงที่จะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการทำลายทุ่นระเบิดในคลังของไทย เป็นเวลา 3 ปี ปีละ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมา ฝ่ายนอร์เวย์ได้แจ้งว่า อาจมีปัญหาในการให้ความช่วยเหลือแก่ไทยในเรื่องนี้ เนื่องจากข้อจำกัดภายในประเทศนอร์เวย์ แต่ก็จะพยายามช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ และขอให้ไทยแสวงหาประเทศผู้ให้อื่นๆ สำหรับโครงการนี้ด้วย อย่างไร ก็ตาม นอร์เวย์ยืนยันให้ความช่วยเหลือแก่ไทยจำนวน 90,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ขอให้ไทยพิจารณาเปลี่ยนคำขอใช้งบประมาณดังกล่าวจากการทำลายทุ่นระเบิดในคลังเป็นด้านอื่น ล่าสุด จากการหารือเป็นการภายในระหว่าง ศทช. กับเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 ศทช. ได้ขอให้นอร์เวย์พิจารณาให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์สำหรับ นปท. 2 มูลค่ารวม 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากนอร์เวย์จะให้ความช่วยเหลือได้เพียง 90,000 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ขอให้นอร์เวย์ในฐานะประธาน Mine Action Support Group (MASG) ประสานประเทศผู้ให้อื่นๆ เพื่อให้การสนับสนุนส่วนที่เหลือด้วย
 
                     6.1.3  การจัดทำรายงานตามข้อ 7 ของอนุสัญญาฯ
 
                               ไทยได้นำส่งรายงานตามข้อ 7 ของอนุสัญญาฯ ฉบับแรก (เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2542) ฉบับที่ 2, 3 และ 4  ภายในวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ( 2543-2545)  ให้แก่เลขาธิการสหประชาชาติด้วย
 
              6.2  ไทยยังให้การสนับสนุนความเป็นสากลของอนุสัญญาออตตาวา โดยได้ดำเนินการต่างๆ ดังนี้
 
                     6.2.1  ไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนได้แสดงบทบาทนำในเรื่องการสนับสนุนความพยายามในการทำให้อนุสัญญาออตตาวามีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้นมาโดยตลอด  โดยไทยได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน  ที่กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2544  และได้แจ้งความสำคัญของอนุสัญญาฯ ในการช่วยแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดในภูมิภาค ความพร้อมของไทยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และหารือเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคของการเข้าเป็นภาคี  โดยได้จัดทำ concept paper เรื่องดังกล่าวเวียนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณา
 
                     6.2.2  ไทยได้เข้าร่วมอยู่ใน Universalization Contact Group ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการที่มี  แคนาดาเป็นผู้สนับสนุนหลัก จัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันการส่งเสริมความเป็นสากลของอนุสัญญาฯ และจะมีการพบปะหารือในระหว่างการประชุมคณะกรรมการประจำฯ และการประชุมรัฐภาคีฯ ดังนั้น ความพยายามในการดำเนินการต่างๆ ของไทยสะท้อนให้เห็นนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนความเป็นสากลของอนุสัญญาฯ
 
                     6.2.3  ไทยได้เข้าร่วม Joint Demarche เสนอโดยญี่ปุ่นและออสเตรเลียเพื่อสนับสนุนความเป็นสากลของอนุสัญญาออตตาวา และได้ร่วมยื่น Joint Demarche ให้แก่ประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาออตตาวา    รวม 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ บรูไน สิงคโปร์  ศรีลังกา อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว พม่า เนปาล ปากีสถาน ภูฐาน และอัฟกานิสถาน  สาระสำคัญของ Joint Demarche นั้น เรียกร้องให้ประเทศเป้าหมายทั้ง 11 ประเทศให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยเร็วที่สุด เพื่อร่วมกับประชาคมโลกหยุดยั้งการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลซึ่งเป็นอาวุธที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม และแสดงความสนใจที่จะรับทราบข้อขัดข้อง/ปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ยังไม่สามารถเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ พร้อมทั้งเสนอให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศดังกล่าวสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ได้ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเหล่านั้นตัดสินใจเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ได้เร็วขึ้น เช่น ความช่วยเหลือในการทำลายทุ่นระเบิดในคลังที่มีอยู่  รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศที่ยังไม่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมคณะกรรมการประจำด้านต่างๆ ภายใต้กรอบอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจต่ออนุสัญญาฯ และหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศรัฐภาคีต่างๆ
 
                     6.2.4  ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเกี่ยวกับทุ่นระเบิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2545 โดยได้เชิญผู้แทนประเทศอาเซียนทั้งหมดเข้าร่วม ประเทศผู้บริจาค องค์การระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทนำในการดำเนินการด้านทุ่นระเบิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยิบยกประเด็นปัญหาทุ่นระเบิดขึ้นหารือ พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางในการสร้างความร่วมมือด้านทุ่นระเบิดระหว่างกัน และจะมีการพิจารณาอนุสัญญาออตตาวาเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ผลการสัมมนาฯ จะนำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนครั้งถัดไป (ประมาณ ก.ค. 2545)
 
             6.3  ไทยเสนอรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 5 ในปี 2546 โดยในระหว่าง    การประชุมคณะกรรมการประจำ (Standing Committee - SC) ด้านต่าง ๆ ภายใต้กรอบอนุสัญญาออตตาวา ระหว่างวันที่    28 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2545 ณ นครเจนีวา  คณะผู้แทนไทยได้ประกาศท่าทีที่ชัดเจนว่าประเทศไทยเสนอรับเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมดังกล่าวโดยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรฯ  ณ นครเจนีวาได้ประกาศเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมในพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 28 มกราคม 2545 และขอรับการสนับสนุนจากรัฐภาคีต่างๆ  ทั้งนี้ ผู้อำนวยการกองการเมืองได้กล่าวย้ำข้อเสนอของไทยในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งในระหว่างการประชุม  SC on General Status and Its Operations ในวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545  เพื่อให้นำเสนอข้อเสนอของไทยให้รัฐภาคีฯ พิจารณาในระหว่างการประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 4 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2545 ณ นครเจนีวา ตามขั้นตอนที่ถูกต้องต่อไป
 
7. ความช่วยเหลือ/ความร่วมมือกับต่างประเทศ

            7.1  ความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ
 
                  7.1.1 เมื่อนาง Madeleine Albright รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2542 ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแก่ไทยมูลค่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในห้วงเวลา 2 ปี (2542-2543) โดยมีรายละเอียด (ตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย) ดังนี้
 
                          - 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของ ศทช. ณ ทุ่งสีกัน และการปรับปรุงศูนย์ฝึกที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดลพบุรี
 
                          - 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการฝึกอบรมการเก็บกู้ทุ่นระเบิด โดยเป็นในรูปผู้เชี่ยวชาญ ครูฝึกและอุปกรณ์การฝึก
 
                          - 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการฝึกสุนัขที่ใช้ในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด
 
                          - 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรูปของรถบรรทุกจำนวน 150 คัน

                    7.1.2  เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2543 ในโอกาสที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) ได้เปิดทำการ
อย่างเป็นทางการ นาย Richard E. Hecklinger เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยได้น้อม-เกล้าฯ ถวายรถบรรทุกจำนวน 150 คัน แด่สมเด็จพระพี่นางเธอ กัลยานิวัฒนากรมหลวงสางขลานครินทร์ซึ่งทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ของ ศทช.
 
                    7.1.3  คณะผู้เชี่ยวชาญด้านทุ่นระเบิดของสหรัฐฯ จากกต. และ กห. ได้เดินทางมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2543 เพื่อประเมินผลของความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่ผ่านๆ มา และรับทราบความต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากฝ่ายไทย โดยได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกสุนัขเพื่อเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ อ.ปากช่องด้วย และเห็นว่า ศูนย์ฝึกสุนัขฯ มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นศูนย์ระดับโลกได้ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมครูฝึกสุนัขที่ศูนย์ดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้น ยังได้ให้การสนับสนุนอุปกรณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติการทุ่นระเบิดของ นปท. 1  ที่จังหวัดสระแก้วด้วย

              7.2  การจัดทำ Level –1 Survey (ได้รับการสนับสนุนจากนอร์เวย์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ)
 
                    ภูมิหลัง   เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2542 คณะกรรมการเพื่อดำเนินงานเรื่องทุ่นระเบิดสังหารบุคคลได้มีมติเห็นชอบต่อเอกสารโครงการจัดทำ Level –1 Survey ซึ่งร่างร่วมกันโดย Survey Action Center (SAC) และ ศทช. โดยมอบให้กระทรวงการต่างประเทศนำส่งไปยัง UN Mine Action Service(UNMAS) เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการผ่านคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และในขณะเดียวกัน ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้มอบเอกสารโครงการดังกล่าวให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ พิจารณาให้การสนับสนุนด้วย ในฐานะที่นอร์เวย์เป็นประธานกลุ่ม Mine Action Support Group ทั้งนี้ Norwegian People’s Aid (NPA) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนนอร์เวย์ด้านปฏิบัติการ
ทุ่นระเบิดได้รับมอบหมายจาก SAC ให้เข้ามาดำเนินการในไทย และได้เริ่มดำเนินตามโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 (NPA ได้ดำเนินการเกี่ยวกับทุ่นระเบิดในลาวและกัมพูชาด้วย)  ทั้งนี้ การสำรวจได้จัดทำขึ้นระหว่างเดือนกันยายน 2543- เมษายน 2544
 
                     โครงการสำรวจได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2544  โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 รองจากเยเมนที่ดำเนินการสำรวจเสร็จสิ้น การสำรวจครอบคลุมพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา ไทย-ลาว และไทย-มาเลเซีย รวม 2,727 ชุมชนใน 47 จังหวัด ผลการสำรวจปรากฏว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดรวม 2,556.7 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 531 ชุมชน 185 ตำบล 84 อำเภอ 27 จังหวัด ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 504,303  คน สำหรับในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา (มี.ค. 2543- เม.ย. 2544) มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดจำนวน 3,469 คน โดยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวม 346 คน
 
             7.3  โครงการของ UN Development Programme (UNDP)
 
                    ภูมิหลัง  เมื่อเดือนมีนาคม 2542 นาย Ian Mansfield ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการทุ่นระเบิดของ UNDP
นิวยอร์ก ได้มาเยือนไทย และได้จัดทำรายงานประเมินความช่วยเหลือที่ UNDP สามารถให้แก่ไทยได้ในรูปแบบของ capacity building ของ ศทช. ซึ่งต่อมา UNDP กรุงเทพฯ ได้เสนอร่างเอกสารโครงการให้ฝ่านไทยพิจารณา โดยโครงการดังกล่าวจะมีมูลค่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ระบุแหล่งเงินทุนและมีแนวโน้มที่ UNDP กรุงเทพฯ จะให้เงินที่จัดสรรให้กับ country programme ของไทยซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมวิเทศสหการ
 
                    ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านความร่วมมือกับต่างประเทศฯ ครั้งที่ 1/2542 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2542 ที่ประชุมเห็นพ้องว่า โครงการดังกล่าวไม่ควรใช้งบประมาณที่ได้จัดสรรให้ประเทศไทยผ่านกรมวิเทศสหการแล้ว แต่ควรใช้แหล่งงบประมาณอื่น  ต่อมา UNDP กรุงเทพฯ ได้เสนอร่างเอกสารโครงการดังกล่าวใหม่ โดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดย UNDP กรุงเทพฯ ได้แจ้งว่า ได้เวียนร่างเอกสารโครงการให้ประเทศผู้ให้พิจารณา และญี่ปุ่นมีความสนใจจะให้ความช่วยเหลือ  แก่ไทย โดยบริจาคให้ UN Voluntary Trust Fund for Mine Action ที่นิวยอร์กแล้ว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในปี 2543 จึงได้มีมติให้ ศทช. ประสานกับ UNDP เพื่อปรับแผนใหม่ให้เน้นเรื่อง victim assistance, mine awareness และการวิจัยและพัฒนาในต้นปี 2544 UNDP ได้เสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาร่างโครงการ “Facilitating the National Mine Action Programme in Thailand” ซึ่งได้มีการปรับสาระโครงการให้เกิดประโยชน์แก่ไทยในการดำเนินการด้านทุ่นระเบิดมากยิ่งขึ้น และต่อมาทุกฝ่ายได้เห็นพ้องตามร่างฯ ที่ได้เสนอมาและให้มีการดำเนินโครงการ โดยผู้แทนไทยและ UNDP ได้ร่วมลงนามเอกสารโครงการฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2544 ขณะนี้โครงการกำลังดำเนินอยู่และจะจบสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2545

8.  ข้อสรุป
 
             อนุสัญญาออตตาวานับเป็นอนุสัญญาแรกในกรอบลดอาวุธที่ห้ามอาวุธตามแบบอย่างเต็มรูปแบบและ
กำหนดให้มีการทำลายอาวุธดังกล่าวด้วย ตลอดจนเป็นผลจากความร่วมมือร่วมใจอย่างแข่งขัน ระหว่างรัฐบาลและองค์กรเอกชน ซึ่งนาย Kofi Annan เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เมื่อรัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชนอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น” และ ได้กล่าวถึงอนุสัญญาออตตาวาว่า “เป็น landmark ของประวัติศาสตร์การลดอาวุธโลก” โดยที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่นอกจากจะทำให้พี่น้องประชาชนบาดเจ็บล้มตายแล้ว ทุ่นระเบิดยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีอนุสัญญาออตตาวา ฝ่ายทหารของไทยก็ได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเท่าที่จะกระทำได้มาโดยตลอด การเข้าร่วมอนุสัญญาออตตาวาของไทย นอกจากจะทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องทุ่นระเบิดสังหารบุคคลของไทยมีระบบการดำเนินการที่ชัดเจนและอยู่ในความร่วมมือกับต่างประเทศแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ไทยแสวงหาความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อการนี้ได้
  
             การที่อนุสัญญาฯ มีผู้ลงนามและให้สัตยาบันเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับน่าจะเป็นบทพิสูจน์ที่ดีประการหนึ่งและเป็นการส่งสัญญาณว่า ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงภัยอันร้ายแรงของทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและความสำคัญของอนุสัญญาฯ
 
             ในส่วนของไทย หลังจากที่ได้เข้าเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาฯ และได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการเรื่องทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและ ศทช. ขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติหลักของไทยในเรื่องนี้ ศทช. ได้พยายามดำเนินการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาโดยตลอดแม้จะมีงบประมาณที่จำกัดก็ตามซึ่งควรได้รับการชมเชยในที่นี้
             ไทยมีความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะดำเนินการแก้ปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ทั้งในด้านการเก็บกู้ทำลาย การแจ้งเตือนภัยให้ความรู้เรื่องทุ่นระเบิด การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการฟื้นฟูพื้นที่ทุ่นระเบิดให้เป็นประโยชน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นการดำเนินการในทิศทางที่ถูกต้อง เนื่องจากสอดคล้องกับกระแสของโลกและเป็นประโยชน์ต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนไทยในระยะยาว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะดำเนินการอย่างเต็มที่เท่าที่ความสามารถและทรัพยากรจะเอื้ออำนวย อย่างไรก็ดี ในภาวะเศรษฐกิจของไทยปัจจุบันนี้ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งต่อความสำเร็จของปฏิบัติการทุ่นระเบิดไทย

ระบบเครื่องส่งอาวุธ
 
ข้อมูลเบื้องต้น
 
                             - การพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธแห่งชาติ (National Missile Defense: NMD) ของสหรัฐฯ ถือได้ว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT)  
 
                             - จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่แสดงความกังวลต่อภัยคุกคามและความเสียเปรียบ
ทางยุทธศาสตร์ของตนที่เกิดขึ้นจากระบบป้องกันขีปนาวุธยุทธบริเวณ (Theatre Missile Defense: TMD) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และต้องการให้ประชาคมโลกหันมาให้ความสนใจและต่อต้านการแข่งขันกันทางอาวุธในอวกาศ (Weaponization of the Outer Space)  ต่อมา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2543 รัสเซียและจีนได้มีแถลงการณ์ร่วมประณามสหรัฐฯ และเตือนว่า การฝ่าฝืนสนธิสัญญา ABM จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธครั้งใหม่ นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ รัสเซีย จีน และเบลารุสได้เสนอร่างข้อมติเรียกร้องการคงไว้ซึ่ง (preservation) สนธิสัญญา ABM และการ
 
                               - ได้มีการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ในเรื่องสนธิสัญญา ABM ในหลายระดับเป็นระยะๆ โดยการเจรจาระดับสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีบุชกับประธานาธิบดีปูติน ได้มีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 แต่ไม่สามารถมีข้อยุติระหว่างกันเกี่ยวกับการแก้ไขสนธิสัญญา ABM และต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2544 สหรัฐฯ ได้ประกาศถอนตัวออกจากสนธิสัญญา ABM โดยจะมีผล 6 เดือนนับจากวันประกาศ

                               - ล่าสุด สหรัฐฯ และรัสเซียได้เริ่มเจรจาเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ ทั้งในกรอบ START และเรื่องขีปนาวุธ อันอาจนำไปสู่ความตกลงใหม่เกี่ยวกับขีปนาวุธ
 
ท่าทีไทย
 
                               -  ไทยไม่มีอำนาจต่อรองในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี ไทยเห็นด้วยในหลักการที่ควรจะมีการปฏิบัติตามสนธิสัญญา ABM อย่างเคร่งครัด เนื่องจากการพัฒนาโครงการด้านอาวุธนิวเคลียร์ไม่ว่าจะในเชิงรุกหรือในเชิงป้องกันย่อมส่งผลกระทบต่อความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และอาจนำไปสู่การแข่งขันสะสมอาวุธซึ่งเป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลกโดยรวม ทั้งนี้ ไทยได้ออกเสียงสนับสนุนร่างข้อมติของรัสเซียเรื่อง ABM ในการประชุมคณะกรรมการ 1 (ด้านลดอาวุธ) ในการประชุมสมัชชา สหประชาชาติ มาโดยตลอด รวมทั้งในการประชุมสมัชชาฯ สมัยที่ 56 ด้วย
 
                               ส่วนผลประโยชน์หลักของไทยและประเทศอาเซียนคือ เรื่องเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ หากประเทศ NWS มีความจริงใจที่จะปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของ NPT  NWS ทั้งห้าก็น่าจะพิจารณาลงนามในพิธีสารแนบท้ายสนธิสัญญาจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) โดยเร็วด้วย
 

กรมองค์การระหว่างประเทศ
กองสันติภาพ ความมั่นคง และการลดอาวุธ

โทร. 0-2643-5074 ถึง 5

มิถุนายน 2548