การทูตเพื่อสาธารณสุข (Health Diplomacy)

การทูตเพื่อสาธารณสุข (Health Diplomacy)

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 64,581 view

 การทูตเพื่อสาธารณสุข

(Health Diplomacy)

 

ภูมิหลัง

·     ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นการทูตเพื่อสาธารณสุข (Health Diplomacy) ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของนโยบายต่างประเทศ เพื่อให้ตอบสนองต่อกระแสของโลกปัจจุบัน ที่ประเด็นด้านสาธารณสุขไม่ได้เป็นเพียงประเด็นภายในประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป ดังนั้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมในการผลักดันนโยบายสาธารณสุขให้เป็นนโยบายระดับระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สามารถใช้ประเด็นสาธารณสุขเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และในทางกลับกันก็สามารถใช้การต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมและยกระดับการสาธารณสุขภายในประเทศได้

 

Foreign Policy and Global Health Initiative (FPGH)

·     ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเข้าร่วมกรอบ Foreign Policy and Global Health Initiative หรือ FPGH ซึ่งเป็นความร่วมมือของประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการทูตเพื่อสาธารณสุข 7 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ เซเนกัล และไทย เพื่อให้ตอบสนองต่อกระแสปัจจุบันที่ประเด็นด้านสาธารณสุขไม่ได้เป็นเพียงประเด็นภายในของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป ดังนั้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสำคัญ

·     กลุ่ม FPGH เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) สมัยที่ 61 และกิจกรรมที่กลุ่ม FPGH ดำเนินการในทุกปี คือ การเสนอร่างข้อมติในการประชุม UNGA ภายใต้ระเบียบวาระ Global Health and Foreign Policy โดยมีจุดเน้นที่แตกต่างกันในแต่ละปี โดยล่าสุด ในปี 2556 อินโดนีเซียในฐานะผู้ประสานงานได้เสนอหัวข้อร่างข้อมติของกลุ่ม FPGH เรื่อง Strengthening Partnership for Global Health ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็น Global Heath Partnership (GHP) เพื่อเป็นกลไกการส่งเสริมการดำเนินการด้านสาธารณสุข

·     ประเด็นเรื่อง GHP มีความสอดคล้องกับแนวทางของประเทศไทยในการส่งเสริมและการพัฒนาด้านสาธารณสุขให้ได้รับการบรรจุใน post-2015 development agenda ซึ่งเน้นกลไกเพื่อส่งเสริมการดำเนินการด้านสาธารณสุขมากกว่าประเด็น หรือเป้าหมายของสาธารณสุขด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงประเด็นการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งในประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ไปจนถึงประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีความสอดคล้องกับเนื้อหาในรายงานของ High Level Panel of Eminent Persons on the Post 2015 Development Agenda (HLP) ซึ่งมีประธานาธิบดีของอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประธานร่วม เรื่อง “A New Global Partnership: Eradicate Poverty and Transform Economies through Sustainable Development”

·     หน่วยงานของประเทศไทยเองได้เริ่มมีความตื่นตัวในการมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศด้านสาธารณสุข ที่มิใช่เพียงเวทีด้านเทคนิคแต่อย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านนโยบายระบบสุขภาพของโลก (Global Health Policy Advisory Committee) เมื่อเดือน พ.ย. 2554 ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับกระทรวงโดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการสนับสนุนด้านสารัตถะ รวบรวมประเด็นเพื่อจัดทำสุนทรพจน์ ถ้อยแถลงและความเห็นต่าง ๆ สำหรับการประชุมระหว่างประเทศที่มีนัยด้านสาธารณสุข

 

การประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage)

·     หนึ่งในประเด็นสาธารณสุขที่ไทยให้ความสำคัญในการนำเสนอและส่งเสริมในกรอบต่าง ๆ รวมถึงการผลักดันผ่านกลุ่ม FPGH คือ การประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage - UHC) โดยในการประชุม UNGA สมัยที่ 66 เมื่อเดือน ก.ย. 2554 ไทยร่วมกับบราซิล และ Rockefeller Foundation ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมคู่ขนานเรื่อง UHC ระหว่างการประชุม High-level Meeting on Non-communicable Diseases (NCDs) ตลอดจนการผลักดันแนวคิดให้มีการหารือระดับสูง (High Level Meeting - HLM หรือ UNGA Special Session - UNGASS) เรื่อง UHC ในการประชุม UNGA ในอนาคต

·     ในขณะเดียวกัน กลุ่ม FPGH ก็สนับสนุนหลักการและความสำคัญของ UHC ในทุกประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงนโยบายต่างประเทศกับการสาธารณสุขระหว่างประเทศ และประสงค์จะคงการผลักดัน UHC ในเวทีโลก จึงได้เสนอข้อมติของกลุ่ม FPGH ในหัวข้อ “Moving Towards Universal Health Coverage” ในการประชุม UNGA สมัยที่ 67 เมื่อปี 2555 ซึ่งที่ประชุมรับรองโดยฉันทามติ และมีประเทศร่วมอุปถัมภ์จำนวน 91 ประเทศ  ซึ่งรวมถึงประเทศสำคัญ ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์

·     เนื้อหาหลักของข้อมติดังกล่าว คือ UHC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการให้สิทธิทางสุขภาพแก่ประชาชน โดยเรียกร้องให้รัฐสมาชิกให้ความสำคัญกับประเด็นสาธารณสุข และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการส่งเสริมประเด็น UHC กับประเด็นอื่น ๆ ของนโยบายต่างประเทศ อาทิ โลกาภิวัตน์ ความมั่นคง การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงให้รัฐสมาชิกเพิ่มความพยายามในการเปิดโอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมและเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มในสังคม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และให้รัฐสมาชิกสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมประเด็น UHC

·     ข้อมติดังกล่าวเน้นความสำคัญและประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะได้รับจากการดำเนินนโยบาย UHC ไม่เพียงแต่ด้านสาธารณสุข แต่รวมถึงการพัฒนา การลดความยากจน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals –  MDGs) และสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ โดยตระหนักถึงความแตกต่างของบริบทและรูปแบบทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศในการนำนโยบาย UHC ไปดำเนินการในทางปฏิบัติด้วย นอกจากนี้ ระบุให้มีการหารือเพื่อนำประเด็น UHC บรรจุในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (post-2015 development agenda) และเรียกร้องให้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council - ECOSOC) บรรจุประเด็น UHC เป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน ทั้งยังระบุให้มีการหารือเพื่อส่งเสริมประเด็น UHC ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมระดับสูงในเรื่องดังกล่าวระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ในอนาคต

·     ประเทศไทยได้ดำเนินการผลักดันประเด็น UHC ในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากข้อมติดังกล่าวได้รับการรับรอง โดยได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาทิ กิจกรรมคู่ขนานระหว่างการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-ESCAP) เรื่อง Universal Health Coverage: sharing Thai experiences and driving UHC agenda เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2556 เพื่อส่งเสริมประเด็น UHC จากการถ่ายทอดประสบการณ์ของประเทศไทย ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบาย UHC ณ กรุงเทพฯ และ กิจกรรมคู่ขนานเรื่อง Promoting the Right to Health through Universal Health Coverage ในระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council – HRC) สมัยที่ 23 ในวันที่ 29 พ.ค. 2556

·     นอกจากนี้ ประเด็น UHC ยังมีความสอดคล้องกับประเด็นที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ให้ความสำคัญ ประเด็น UHC จึงได้รับการบรรจุอยู่ในกำหนดการหลักของการประชุมของ ECOSOC Substantive Session ในช่วง High Level Segment (HLS) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2556 ณ นครเจนีวา ซึ่งที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความสำคัญของประเด็น UHC ที่มีต่อการพัฒนา รวมถึงการผลักดัน UHC เข้าสู่การเป็นประเด็นหลักด้านสาธารณสุขในการหารือเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ และวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ซึ่ง ดร. Margaret Chan ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ได้เข้าร่วมเป็นผู้ร่วมอภิปรายด้วย ซึ่งประเทศไทยได้ใช้โอกาสดังกล่าวจัดกิจกรรมคู่ขนานภายใต้หัวข้อ Health Technology Assessment: the Key to Ensure Positive Contribution of Science, Technology and Innovations to the Universal Health Coverage เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2556 เสนอแง่มุมของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาระบบ UHC ด้วย เพื่อผลักดันให้เกิดแรงสนับสนุนต่อประเด็น UHC ในการหารือดังกล่าว

 

-------------------------------------

                                                                                                                           

กรมองค์การระหว่างประเทศ

กองการสังคม.