เครือข่ายความมั่นคงมนุษย์

เครือข่ายความมั่นคงมนุษย์

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 29,680 view

เครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์

(Human Security Network – HSN)

 

1. ภูมิหลัง

·     เครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network – HSN) เป็นการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีแนวคิดคล้ายคลึงกัน (like-minded countries) เกี่ยวกับการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ภายในประเทศของตนและในเวทีโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 ประกอบด้วยสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ ไทย ชิลี กรีซ ไอร์แลนด์ จอร์แดน มาลี ปานามา นอร์เวย์ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ สโลวีเนีย และคอสตาริกา และมีแอฟริกาใต้เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ โดยปัจจุบัน ชิลีดำรงตำแหน่งประธาน HSN (ประธาน HSN ก่อนหน้านี้ คือ จอร์แดน)

 

2. วิสัยทัศน์

·     วิสัยทัศน์ของ HSN คือ การสร้างสรรค์โลก ซึ่งประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความมั่นคง (security) และมีศักดิ์ศรี (dignity) หรือการบรรลุสภาวะที่มนุษย์ “ปลอดจากความหวาดกลัว” (Freedom from Fear) เช่น ผลกระทบจากการสู้รบ หรือภัยจากอาวุธที่อันตราย เช่น ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล การแพร่ขยายของอาวุธขนาดเล็ก และ “ปลอดจากความขาดแคลน” (Freedom from Want) เช่น ความยากจน และภัยจากโรคระบาดที่ร้ายแรง เช่น  โรคเอดส์

 

3. บทบาทของไทยในกรอบ HSN

·     ไทยเข้าเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้ง HSN เนื่องจากไทยเห็นว่าประเด็นความมั่นคงของมนุษย์สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การเป็นประเทศกำลังพัฒนาขนาดกลางที่มีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง การมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และการมีรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยสามารถใช้เวที HSN ในการสะท้อนท่าทีในเรื่องดังกล่าวได้อย่างสร้างสรรค์

·     ไทยเห็นว่าการพิจารณาเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ควรมีความสมดุลระหว่างประเด็น Freedom from Fear กับ Freedom from Want ซึ่งสอดคล้องกับการที่ประชาคมระหว่างประเทศหันมาตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างสันติภาพและความมั่นคงกับการพัฒนา ในฐานะที่เป็นส่วนส่งเสริมที่สำคัญไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศทั้งด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ในการสร้างเครือข่ายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการผลักดันประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ ในการพิจารณาวาระการพัฒนาของสหประชาชาติภายหลังปี ค.ศ. 2015 (post 2015 development agenda) ไทยก็ยังเห็นว่าประเด็นที่เกี่ยวกับหลักนิติธรรม ความเท่าเทียมและความมั่นคงที่มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์ ก็น่าจะได้รับความสำคัญด้วย

·     ไทยเคยดำรงตำแหน่งประธาน HSN เมื่อปี 2548 โดยในระหว่างดำรงตำแหน่ง ไทยได้จัดการประชุมสัมมนาระดับเจ้าหน้าที่ถึง 12 ครั้ง ร่วมกับ UNDP UNAIDS UNODC และ APEC เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องโรคเอดส์ การต่อต้านการค้ามนุษย์ และการอนุวัติตามสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล[1] นอกจากนี้ ไทยมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค และมีบทบาทนำในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรคเอดส์ และไข้หวัดนก การวางโครงสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับระบบประกันสุขภาพ และการต่อต้านการค้ามนุษย์

·     ไทยได้แสดงบทบาทในการสนับสนุนประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ในระดับระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรมอีกครั้งในปี 2556 ซึ่งเป็นการครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้ง Advisory Board on Human Security (ABHS) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้คำแนะนำต่อเลขาธิการสหประชาชาติ เกี่ยวกับการจัดการกองทุนความมั่นคงของมนุษย์ของสหประชาชาติ (UN Trust Fund for Human Security)  โดยได้บริจาคเงินในลักษณะ token contribution แบบครั้งเดียวเป็นจำนวนเงิน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนฯ ทั้งนี้ ไทยได้เคยบริจาคเงินเข้ากองทุนดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2550 และ 2551

 

4. แนวทางการดำเนินงานของ HSN

·     HSN จัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมที่สำคัญในนาม HSN ตั้งแต่ปี 2553 มีเพียงการจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ในแต่ละปีและการออกถ้อยแถลงร่วมในเวทีการประชุมต่าง ๆ เท่านั้น โดยล่าสุด กลุ่ม HSN ได้จัดการประชุมระดับ เจ้าหน้าที่อาวุโสขึ้นเป็นกิจกรรมคู่ขนานของการประชุม UNGA สมัยที่ 68 เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2556 ณ นครนิวยอร์ก โดยอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุม และได้กล่าวถ้อยแถลงขอให้กลุ่ม HSN ให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่าง 3 เสาหลัก ได้แก่ ความมั่นคง การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน โดยการดำเนินการด้านความมั่นคงของมนุษย์จะต้องตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อความกินดีอยู่ดี และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ เสนอให้ HSN พิจารณากิจกรรมและแผนงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริม visibility ของ HSN ด้วย

·     นอกเหนือจากการประชุมประจำปีของกลุ่ม HSN ระดับอธิบดีในปี 2556 แล้ว Human Security Unit (HSU) ภายใต้ UN Office for the Coordinator of Humanitarian Affairs (OCHA)  HSN ได้ร่วมกับ HSU จัด Panel Discussion หัวข้อ Implementing Human Security at the National Level เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2556 เพื่อหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านมั่นคงของมนุษย์ที่เน้นเรื่องการพัฒนา สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย ซึ่งประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนแนวคิดการจัดกิจกรรมดังกล่าว

·     นอกจากกรอบความร่วมมือ HSN แล้ว เมื่อปี 2549 ญี่ปุ่นได้จัดตั้งความร่วมมือด้านความมั่นคงของมนุษย์ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง ชื่อ Friends of Human Security โดยเป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการ ไม่เป็นระบบสมาชิก[2] ไม่มีการประชุมระดับรัฐมนตรี แต่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม โดยดำเนินงานร่วมกับกรอบความร่วมมือ HSN ในการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงร่วมกันเสนอข้อมติเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงของมนุษย์  ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 66 เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2555 ด้วย

 

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง : www.humansecuritynetwork.org

--------------------------------------

 

กรมองค์การระหว่างประเทศ

กองการสังคม.

 

 



     [1] ปัจจุบัน ไทยดำรงตำแหน่งประธานการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน (AHMM) ระหว่างปี 2555 - 2557 โดยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม AHMM ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุม AHMM+3 และ AHMM+จีน รวมทั้ง การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุข  ระหว่างวันที่ 2 – 6 ก.ค. 2555 ที่ จ. ภูเก็ต ซึ่งการประชุมเหล่านี้ย้ำความสำคัญของประเด็นความร่วมมือด้านสาธารณสุข ได้แก่ การควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อ  (Non-Communicable Diseases: NCD) การลดการบริโภคยาสูบ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC)  และการควบคุมและป้องกันโรคเอดส์

     [2] ญี่ปุ่นได้เชิญกลุ่มประเทศสมาชิก HSN ซึ่งรวมไทย และประเทศจากภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มเติมอีก 18 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บังกลาเทศ เอลซัลวาดอร์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กานา กัวเตมาลา อินโดนีเซีย จาไมกา เคนยา เม็กซิโก มองโกเลีย โปแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี สวีเดน ตรินิแดดและโตเบโก และเวียดนาม รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ UNFPA UNICEF World Bank WHO และ OSAA เข้าร่วม