รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมการประชุมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย - ตุรกี ครั้งที่ ๔

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมการประชุมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย - ตุรกี ครั้งที่ ๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 ม.ค. 2566

| 17,344 view

เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีและเป็นประธานร่วมกับนายมุสตาฟา วารังก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตุรกี ในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย - ตุรกี (4th Thai-Turkish Joint Committee on Economic and Technical Cooperation: JETC) ครั้งที่ ๔ ณ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี กรุงอังการา ตุรกี

การประชุมครั้งนี้เป็นการรื้อฟื้นกลไกการหารือภายใต้กรอบ JETC หลังจากว่างเว้นมานานถึง ๒๐ ปี (การประชุมครั้งที่ ๓ จัดเมื่อปี ๒๕๔๖) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายในการใช้กลไกการหารือระดับสูงเพื่อขับเคลื่อนและกำหนดแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศเผชิญความท้าท้ายร่วมกันจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมทั้งผลักดันผลประโยชน์ของไทย ได้แก่ การเร่งรัดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น ๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มพูนการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะเชิญชวนฝ่ายตุรกีลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแสวงหาความร่วมมือที่มีศักยภาพในอนาคต อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังงานทดแทน BCG ตลอดจนเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมรองนายกรัฐมนตรีฯ และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กับกรมความร่วมมือและประสานงานของตุรกี (TİKA) เพื่อขยายบทบาทความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศและการพัฒนาในรูปแบบไตรภาคี รวมทั้งได้ร่วมลงนามเอกสารผลลัพธ์การประชุม (Agreed Minutes) JETC ไทย-ตุรกี ครั้งที่ ๔ โดยเอกสารดังกล่าวเป็นกรอบกำหนดแนวทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับตุรกี มุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ อาทิ เทคโนโลยีป้องกัน

เอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ระบุความร่วมมือที่สาคัญใน ๓ ส่วน ได้แก่ (๑) การเน้นย้ำและสานต่อความสำเร็จของความตกลงที่ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการร่วมกัน (๒) การส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี การส่งเสริมกิจกรรมทางการค้า และ (๓) การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการในสาขาความร่วมมือมิติต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการศึกษา

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ