วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศและกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เพื่อหารือความคืบหน้าในการเตรียมการ ได้แก่ การจัดประกวดตราสัญลักษณ์ (Logo) การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย การสนับสนุนของภาคเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการประชาสัมพันธ์ การจัดทำวีดิทัศน์การรับมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคของไทย ตลอดจนแผนงาน โครงการและกิจกรรมประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนไทย
เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ซึ่งกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศและกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าภาพร่วมจัดขึ้น ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายธนา เวสโกสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ อดีตเอกอัครราชทูต หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเตรียมการเป็นเจ้าภาพเอเปค และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า ๔๘ หน่วยงานและองค์กร
ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการเตรียมการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในด้านต่าง ๆ ได้แก่ (๑) การประชุมคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ ซึ่งได้มีการหารือหัวข้อหลัก (Theme) ประเด็นสําคัญ (Priorities) ๓ ด้าน และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (key deliverables) ตลอดจนข้อริเริ่ม/โครงการภายใต้แต่ละประเด็นสําคัญที่จะผลักดันในระหว่างการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย (๒) ผลการประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งได้เห็นชอบให้ปรับยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์เป็น"ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์” โดยมุ่งสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ในสังคมไทย เขตเศรษฐกิจเอเปคอื่น ๆ และนานาชาติอย่างครอบคลุม และให้ความสําคัญกับการสร้างพันธมิตรกับภาคเอกชน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการตั้งแต่ช่วงก่อน-ระหว่าง-หลังการเป็นเจ้าภาพ (๓) การจัดการประกวดตราสัญลักษณ์ (Logo) การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนไทย จึงกำหนดอายุผู้สมัครไม่เกิน ๒๕ ปี และได้เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดกว่า ๕๙๘ ชิ้น โดยมีกำหนดตัดสินรางวัลชนะเลิศโดยคณะกรรมการระดับชาติในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ศกนี้ และ (๔) ความคืบหน้าในการขอความร่วมมือภาคเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ ซึ่งรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแหล่งพร้อมให้การสนับสนุน นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้มีการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ผู้ประกอบการ MSMEs ภาคประชาสังคม และชุมชน/บุคคลที่มีผลงานที่โดดเด่นเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green- BCG Economy) เป็นต้น
ที่ประชุมยังได้หารือการเตรียมการด้านประชาสัมพันธ์ในช่วงต่อจากนี้ ได้แก่ การจัดทําวีดิทัศน์การรับมอบตําแหน่งเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งกรมสารนิเทศอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างเนื้อหาวีดิทัศน์ ซึ่งจัดทําเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อหลักและสะท้อนประเด็นสําคัญที่ไทยจะผลักดันทั้ง ๓ ด้านอย่างสมดุล โดยเชื่อมโยงกับเรื่องเศรษฐกิจ BCG และนําเสนอศักยภาพของไทยในฐานะเจ้าภาพและบทบาทของเอเปคในฐานะองค์กรระหว่างประเทศและแหล่งบ่มเพาะทางความคิดของเขตเศรษฐกิจสมาชิกที่จะเป็นเวทีในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกในยุคหลังโควิด-๑๙ ด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือแผนงาน โครงการและกิจกรรมประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยของหน่วยงานต่าง ๆ ในคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ฯ รวม ๑๘ แห่ง ทั้งนี้ กรมสารนิเทศในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมจะมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัลที่เป็นทางการของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งจะมีการเปิดตัวในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ในห้วงเวลาเดียวกับการเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๖๔ กรมสารนิเทศได้มุ่งปูพื้นฐานการรับรู้เกี่ยวกับเอเปคในกลุ่มเป้าหมายภายในประเทศผ่านรูปแบบและช่องทางต่าง ๆ ส่วนกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมได้กําหนดแผนการสื่อสารผ่านกลุ่มเป้าหมาย ๒ กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้มีความรู้เกี่ยวกับเอเปค อาทิ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ MSMEs และนักเรียน/นักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถต่อยอดประเด็นเนื้อหาได้ง่ายกว่ากลุ่มที่ ๒ คือ ประชาชนทั่วไปหรือกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ติดตามประเด็นเอเปคอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อไทยรับตําแหน่งเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ จะได้สื่อสารเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นผ่านสื่อทุกช่องทางของกรมประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ ประธานการประชุมได้เน้นย้ำว่า การประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๖๕ เป็นการประชุมในรอบ ๒๐ ปีจึงจะเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ถือเป็นโอกาสสําคัญที่ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพ โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสําคัญยกให้เป็นวาระระดับชาติเพื่อเชื่อมโยงการดําเนินงานและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกที่มีต่อไทยในภาวะหลังโควิด-๑๙ สําหรับคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ฯ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบภารกิจสําคัญเพื่อสร้างการรับรู้และการเป็นเจ้าภาพที่ดีของคนไทย ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับช่วงเวลาและสถานการณ์ และให้สาระของการประชาสัมพันธ์เน้นว่า เอเปคคืออะไรและคนไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ รวมทั้งบูรณาการงานให้สอดคล้องกับคณะอนุกรรมการคณะอื่น ๆ อาทิ อนุกรรมการด้านสารัตถะฯ ที่เน้นให้ประชาชนคนไทยเห็นถึงคุณค่าที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพเอเปค และขอความร่วมมือจากเวทีเอเปคให้ร่วมสร้างความปรองดองบนโลก เพื่อตอบโจทย์ให้ประชาชนได้รับทราบว่า ความร่วมมือกันของสมาชิกเอเปคจะนําไปสู่การลดความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรของโลกอย่างคุ้มค่า
กรมสารนิเทศและกรมประชาสัมพันธ์กำหนดเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ต่อไปในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ๒๕๖๔
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **