รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับโควิด-๑๙ ของไทยโดยคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ในการประชุม Bali Democracy Forum ครั้งที่ ๑๓

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับโควิด-๑๙ ของไทยโดยคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ในการประชุม Bali Democracy Forum ครั้งที่ ๑๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,468 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับโควิด-๑๙ ของไทยซึ่งให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุมโดยคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย โดยนานาชาติควรหาทางออกร่วมกันเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการประกันสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยที่ยืดหยุ่นต่อความไม่แน่นอนในยุค New Normal ต่อไป ในการประชุม Bali Democracy Forum ครั้งที่ ๑๓

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Bali Democracy Forum ครั้งที่ ๑๓ ในรูปแบบวิดีทัศน์ ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้หัวข้อ “Democracy and the COVID-19 Pandemic” โดยมีนายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกล (virtual meeting)

ในช่วง “Perspective from the World” อินโดนีเซียได้เชิญผู้แทนจากประเทศที่เข้าร่วม Bali Democracy Forum ที่มีประสบการณ์และบทบาทสำคัญโดดเด่นในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อาทิ ไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในหัวข้อย่อย “Upholding Democracy amid Pandemic”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงมาตรการของไทยซึ่งให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุม (inclusive) โดยคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย อาทิ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องโปร่งใส สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข และการมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ในที่นี้ ได้กล่าวถึงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า การแถลงข่าวประจำวันเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-๑๙ และบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) และภาคประชาสังคมในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐในการประกันสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและให้พื้นที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มเรื่องการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนที่ได้รับผลกระทบซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศและเป็นประเด็นที่นานาชาติควรหาทางออกร่วมกันเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการประกันสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยที่ยืดหยุ่นต่อความไม่แน่นอนในยุค New Normal ต่อไป

ในปีนี้ การประชุม Bali Democracy Forum จัดขึ้นทั้งในรูปแบบตัวต่อตัวและรูปแบบทางไกล โดยมีผู้แทนเข้าร่วมในรูปแบบตัวต่อตัวจาก ๒๖ ประเทศ และในรูปแบบทางไกลจาก ๗๑ ประเทศ ในจำนวนนี้ มีทั้งผู้แทนในระดับรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต และเจ้าหน้าที่จากหลายระดับ รวมถึงมีผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ อาทิ เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และเลขาธิการอาเซียนร่วมกล่าวถ้อยแถลงในรูปแบบวิดีทัศน์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และเยาวชนร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับความโปร่งใสและความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการรับมือกับความท้าทายที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อาทิ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การรับมือกับข่าวปลอม และกระแสการสร้างความเกลียดชังบนสื่อสังคมออนไลน์

อนึ่ง การประชุมดังกล่าว เป็นข้อริเริ่มของอินโดนีเซียในการผลักดันประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการความหลากหลาย เสริมสร้างความเท่าเทียม ความเข้าใจ และความเคารพ ซึ่งที่ผ่านมา มีทั้งผู้เข้าร่วมในระดับผู้นำ ประมุขของรัฐ รัฐมนตรี ผู้บริหารรัฐสภา และข้าราชการระดับสูง และไทยส่งผู้แทนเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ