ไทยประกาศความสำเร็จในการปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ชุมพร และจันทบุรี และเน้นย้ำเจตนาในการลดอาวุธในเวทีระหว่างประเทศ

ไทยประกาศความสำเร็จในการปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ชุมพร และจันทบุรี และเน้นย้ำเจตนาในการลดอาวุธในเวทีระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,786 view

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมประกาศความสำเร็จของประเทศไทยในการปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิด โดยประกาศให้ ๔ จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ชุมพร และจันทบุรี เป็นพื้นที่ปราศจากการปนเปื้อนของทุ่นระเบิด แสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามอนุสัญญาออตตาวา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชน โดยปัจจุบันไทยสามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดเสร็จสิ้นแล้วกว่าร้อยละ ๙๐ ของพื้นที่ปนเปื้อน และได้กำหนดเป้าหมายที่จะเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นจากประเทศภายในปี ๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) กองบัญชาการกองทัพไทย ได้จัดงานประกาศความสำเร็จในการปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดในประเทศไทย ณ วิเทศสโมสรส่วน ๓ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และพลเอกสุพจน์ มาลานิยม เสนาธิการทหาร เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๘๐ คน ประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ศทช. ผู้แทนจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ ญี่ปุ่น กัมพูชา สหรัฐอเมริกา และเมียนมา ประจำประเทศไทย รวมถึงผู้ช่วยทูตทหารจากประเทศต่าง ๆ ในฐานะประเทศที่มีความร่วมมือกับ ศทช. และภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (Norwegian Peoples’ Aid -NPA) สมาคมผู้เก็บกู้ระเบิดพลเรือนไทย (Thai Civilian Deminer Association-TDA) และ Golden West Humanitarian Foundation (GWHF) รวมทั้งสื่อมวลชน

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นและการดำเนินการของไทยในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาออตตาวา ในปี ๒๕๔๒ (The Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on their Destruction – Ottawa Treaty) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งนอกจากพัฒนาการด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อปลดปล่อยพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนใช้ประโยชน์แล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดและความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย

พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เสนาธิการทหาร ได้แจ้งความสำเร็จล่าสุดในการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ในช่วงปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๓ โดยสามารถปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิด และปลดปล่อยพื้นที่ ๔ จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ชุมพร และจันทบุรี เป็นพื้นที่ปราศจากการปนเปื้อนของทุ่นระเบิด ทำให้ประเทศไทยเหลือพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดอีก ๗ จังหวัด โดยปัจจุบันไทยสามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดเสร็จสิ้นแล้วกว่าร้อยละ ๙๐ ของพื้นที่ปนเปื้อน และได้กำหนดเป้าหมายที่จะเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นจากประเทศภายในปี ๒๕๖๖

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานได้ชมนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การดำเนินงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดของ ศทช. และกิจกรรมสนับสนุนปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดของไทยโดยองค์กรเอกชนต่างประเทศ ได้แก่ NPA, TDA และ GWHF รวมทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับระบบช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ของกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

การจัดงานดังกล่าวเน้นย้ำเจตนาของประเทศไทยในการลดอาวุธในเวทีระหว่างประเทศ โดยการปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดของไทยและการปลดปล่อยพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดจำนวน ๔ จังหวัดข้างต้น มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชน โดยประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดมาเป็นเวลานาน สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ