วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มี.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 มี.ค. 2567
เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ กรมสารนิเทศร่วมกับกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้จัดการบรรยายสรุป BIMSTEC Media Focus Group ครั้งที่ ๑ โดยนาย Indra Mni Pandey เลขาธิการ BIMSTEC คนใหม่ และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญและทิศทางการขับเคลื่อนความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) โดยมีผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศกว่า ๓๐ คน เข้าร่วมรับฟัง
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในโอกาสที่ไทยรับหน้าที่เป็นประธาน BIMSTEC ตั้งแต่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ และมีแผนจะจัดการประชุมระดับผู้นำภายในปีนี้ โดย BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือที่เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ เป็นต้น อีกทั้งเป็นช่วงที่เลขาธิการ BIMSTEC คนใหม่เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อแนะนำตัวในโอกาสที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง และได้เข้าเยี่ยมคารวะกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย
อธิบดีกรมเศรษฐกิจฯ ได้ย้ำถึงการใช้โอกาสการเป็นประธาน BIMSTEC ของไทยในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก โดยไทยพร้อมแสดงบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ โดยเฉพาะกับอินเดียซึ่งเป็นมีบทบาทนำและมีแนวทางการดำเนินการทางการทูตที่โดดเด่นในภูมิภาค รวมถึงแนวคิด Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC (PRO BIMSTEC) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่ไทยใช้ขับเคลื่อนวาระการเป็นประธาน BIMSTEC โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการยกระดับความเชื่อมโยงรอบด้าน การเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคผ่านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข รวมไปถึงวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ๒๐๓๐ (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในการหารือที่สำคัญในห้วงการประชุมผู้นำ เพื่อกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และประเด็นสำคัญ พร้อมส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและร่วมกัน ขณะที่เลขาธิการ BIMSTEC ได้ชื่นชมบทบาทในการเป็นประธานของไทย ที่พยายามส่งเสริมให้ BIMSTEC มีบทบาทมากขึ้น และยังได้กล่าวถึงความร่วมมือ ๗ สาขาที่แต่ละประเทศเป็นประเทศนำ ได้แก่ (๑) บังกลาเทศ: การค้า การลงทุน และการพัฒนา (๒) ภูฏาน: สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (๓) อินเดีย: ความมั่นคง (๔) เมียนมา: การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (๕) เนปาล: การติดต่อระหว่างประชาชน (๖) ศรีลังกา: วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ (๗) ไทย: ความเชื่อมโยง
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **