ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีสำหรับการหารือระดับผู้นำ ๑ (Leaders Dialogue 1) ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Summit on Biodiversity)

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีสำหรับการหารือระดับผู้นำ ๑ (Leaders Dialogue 1) ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Summit on Biodiversity)

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ต.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,832 view

As delivered

ถ้อยแถลง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับการหารือระดับผู้นำ ๑ (Leaders Dialogue 1) 
ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Summit on Biodiversity)
วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
*****

หัวข้อหลัก: “Addressing biodiversity loss and mainstreaming biodiversity for sustainable development”

ท่านประธาน

๑. ผมยินดีอย่างยิ่งที่ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในวันนี้ ปัจจุบัน ทั่วโลกประสบปัญหาการลดลงและความเสื่อมโทรมของความหลากหลายทางชีวภาพในทุกพื้นที่ โดยสาเหตุสำคัญมาจากมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหานี้เป็นสิ่งท้าทายรูปแบบใหม่ซึ่งกระทบทุกชีวิตในวงกว้าง

ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแห่งหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันถูกคุกคามโดยมนุษย์ เช่น การรุกล้ำผืนป่า และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยตระหนักดีถึงผลกระทบจึงได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ดังนี้

- หนึ่ง ไทยมีนโยบายเพื่ออนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยได้บรรจุประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีแผนแม่บทบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนงานตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

- สอง ไทยย้ำว่าการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม คือกุญแจสู่ความสำเร็จ และส่งเสริมการบูรณาการในทุกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และสนับสนุนการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยไทยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ

- สาม ไทยได้เรียนรู้จากช่วงวิกฤติโควิด-๑๙ ว่า เมื่อคนเว้นระยะจากธรรมชาติ ธรรมชาติและระบบนิเวศ ก็สามารถฟื้นตัวได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงอยู่ระหว่างการจัดทำแผนเพื่อปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศเป็นเวลา ๓ เดือนเป็นประจำทุกปี เพื่อฟื้นฟูผืนป่า ทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่า รวมถึงจะบริหารจัดการกิจกรรมและนักท่องเที่ยวด้วย

๓. นอกจากนี้ ไทยยังขับเคลื่อน Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG โดยมุ่งหวังให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ชีวิตกับธรรมชาติมากขึ้น

๔. สุดท้ายนี้ ขอยืนยันว่าไทยจะดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเต็มความสามารถ และขอเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเจรจากรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐ จะมีข้อสรุปได้ในปีหน้า เพื่อให้ทุกประเทศมีแนวทางร่วมกันในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพให้อยู่คู่กับอนุชนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป

ขอบคุณครับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ