รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ ๑๒ ที่กรุงเทพฯ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ ๑๒ ที่กรุงเทพฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ก.ค. 2566

| 16,568 view

เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ ๑๒ (The 12th Mekong - Ganga Cooperation Foreign Minister’s Meeting) ที่กรุงเทพฯ ในรูปแบบการประชุมแบบผสมผสาน (hybrid) โดยมี ดร. สุพรหมณยัม ชัยศังกระ (H.E. Dr. Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียและนายสะเหลิมไซ กมมะสิด (H.E. Mr. Saleumxay Kommasith) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เป็นประธานร่วม

ที่ประชุมได้ทบทวนพัฒนาการของ MGC ในรอบ ๒๓ ปีที่ผ่านมา และหารือเกี่ยวกับทิศทางในอนาคต โดยเห็นพ้องเร่งรัดโครงการก่อสร้างถนนสามฝ่ายอินเดีย - เมียนมา - ไทย เพื่อเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับอนุทวีปอินเดียเข้าด้วยกัน และการลงนามในความตกลงและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างอินเดีย เมียนมาและไทย และขยายเส้นทางในทิศตะวันออกไปยัง สปป. ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตระหนักความสำคัญของการสอดประสานระหว่าง MGC กับกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาวิชาการ และเศรษฐกิจ (BIMSTEC) และอาเซียน

ที่ประชุมเห็นพ้องตามข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เกี่ยวกับแนวทาง “READY” เพื่อขับเคลื่อน MGC สู่อนาคต ได้แก่ การเสริมสร้างความยืดหยุ่น (Resilience) การส่งเสริมความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) การปรับตัว (Adaptation) และการสร้างความหลากหลาย (Diversification) ของเศรษฐกิจ และการกำหนดให้ปี ๒๕๖๘ ซึ่งครบรอบ ๒๕ ปี ของการจัดตั้ง MGC ให้เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC Year of Exchange) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของ MGC ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต รวมถึงความตระหนักรู้เกี่ยวกับ MGC ในประเทศสมาชิก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่  

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก MGC ได้ร่วมกันรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมฯ (Joint Statement) และเอกสารภาคผนวก จำนวน ๒ ฉบับ ได้แก่ เอกสารแนวคิดเรื่องการฟื้นฟูกลไกประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก (Lead Country Mechanism) ใน ๑๐ สาขาความร่วมมือของ MGC และเอกสารแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจ MGC ซึ่งทั้งสองเรื่องดังกล่าวเป็นข้อเสนอของไทยต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ MGCครั้งที่ ๑๑ เมื่อปี ๒๕๖๔ ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศสมาชิกผู้ขับเคลื่อนหลัก (Lead Country) ในสาขาการท่องเที่ยวและเป็น
ผู้ขับเคลื่อนหลัก (Co-lead Country) ร่วมกับเมียนมาในสาขาสาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม

อนึ่ง กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๓ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ ประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง ๕ คือ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม และอินเดีย โดย MGC เป็นกรอบความร่วมมือแรกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับประเทศนอกอนุภูมิภาค

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ