รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อผนึกกำลังร่วมกันรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งสรรหาแนวทางความร่วมมือเพื่อให้ประเทศในภูมิภาคฟื้นตัวจากวิกฤตและกลับมาเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีดาโตะ ซรี ฮิชามมุดดิน บิน ตุน ฮุสเซน (Dato’ Seri Hishammuddin bin Tun Hussein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย เป็นประธานการประชุมร่วมกับนางมาริส เพย์น (Senator the Honourable Marise Payne) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย และรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหรือผู้แทน รวมถึงเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข การบรรเทาผลกระทบทาง เศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อประชาชนและภาคธุรกิจของอาเซียน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการรักษาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค รวมถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการผ่อนปรนข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างกัน โดยภายหลังการประชุม ประธานร่วมจะได้ออกถ้อยแถลงของประธานร่วมสำหรับการประชุมในครั้งนี้
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลประชาชนและเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูภูมิภาคให้กลับคืนสู่สภาพปกติทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลก รวมถึงออสเตรเลีย ในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและสันติซึ่งจะเอื้อต่อความพยายามในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ โดยไทยสนับสนุนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในการควบคุมและรับมือกับโควิด-๑๙ การพัฒนายาและวัคซีนซึ่งออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในด้านนี้ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขยายช่องทางการค้าระหว่างกัน การลงนาม RCEP ภายในปี ๒๕๖๓ และการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔ นอกจากนี้ ไทยเชิญชวนให้ออสเตรเลียและประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ สนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ (COVID-19 ASEAN Response Fund) และร่วมกับอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ภูมิภาคจากสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ในปีนี้ ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียเข้าสู่ปีที่ ๔๖ โดยออสเตรเลียเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกของอาเซียนและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนที่มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดและรอบด้าน ครอบคลุมทั้ง ๓ เสาของอาเซียน การประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเข้มแข็งในการร่วมกันรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-๑๙ และฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์อย่างยั่งยืน