ถ้อยแถลง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่อง การเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล

ถ้อยแถลง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่อง การเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,654 view

As delivered

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี

สำหรับการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่อง การเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล

วันศุกร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓

* * * * *

                                                 

ท่านประธาน และ ฯพณฯ ทั้งหลาย ท่านผู้แทน ท่านนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
ท่านเลขาธิการบริหาร
ESCAP ท่านเลขาธิการอาเซียน ท่านประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม

 

๑. ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่อง “การเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล” ในครั้งนี้ และขอชื่นชมเวียดนามที่ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพสตรี ซึ่งเป็นสมาชิกกว่าครึ่งหนึ่งของประชาคมอาเซียน ผมเชื่อมั่นว่า การเสริมสร้างศักยภาพสตรีเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ ๕ การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างศักยภาพสตรีและเด็กหญิง

 

๒. ประเทศไทยได้กำหนดให้การเสริมสร้างศักยภาพสตรีเป็นนโยบายสำคัญมาโดยตลอด ด้วยตระหนักว่า สิทธิสตรี  คือสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับเท่าเทียมกัน ไทยจึงได้จัดทำแผนการพัฒนาสตรีภายใต้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ซึ่งเน้นการส่งเสริมรากฐานสำคัญด้านการศึกษาผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตทุกช่วงวัย

 

๓. ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการสตรี โดยจัดตั้งสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสตรีไทย เมื่อปี ๒๕๕๐ เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการสตรี ให้คำปรึกษา รวมทั้งจัดทำระบบ e-training และการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ผู้ประกอบการสตรี เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart Enterprises ที่ผู้ประกอบการสตรี และสตรีในวิสาหกิจ มีความรู้และทักษะด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการประกอบการอย่างเต็มขีดความสามารถ

 

๔. ประเทศไทยผลักดันการเสริมสร้างศักยภาพสตรีในอาเซียนอย่างเต็มที่ โดยได้สนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล หรือ AWEN (อาเว่น) เพื่อสร้างเครือข่ายและเสริมสร้างขีดความสามารถทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการสตรี โดย AWEN ประเทศไทย ได้รับเกียรติดำรงตำแหน่งประธาน AWEN สากล วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๘-๒๐๒๐ และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ๒๕๖๓ ในวาระอันใกล้นี้ ภายใต้หัวข้อ “พลังสตรีพลิกเศรษฐกิจ” เพื่อเชื่อมพลังสตรีจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทผู้นำสตรีทั้งในภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคการเมือง ภาคความมั่นคง และมีส่วนร่วมในการสร้างเสถียรภาพอีกด้วย

 

๕. ในการขจัดอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของสตรี ประเทศไทยได้บังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม ป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และส่งเสริมเจตคติที่เคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ ตัวอย่างที่ดี คือการริเริ่มขจัดอคติทางเพศในกระบวนการศึกษา โดยประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดทำและศึกษาแนวทางในการขจัดอคติทางเพศเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี

 

๖. นอกจากนั้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รัฐบาลไทยได้เตรียมมาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย คนยากจน กลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ โดยให้ความช่วยเหลือตามสภาพปัญหาความเดือดร้อน การให้การสงเคราะห์ครอบครัวคนพิการ การฝึกทักษะอาชีพ รวมถึงการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกัน ยังได้ช่วยเหลือพนักงานหญิงตั้งครรภ์ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวด้วย

 

๗. อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การดำเนินการในการเสริมสร้างศักยภาพสตรีจะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่อาเซียนควรให้ความสำคัญต่อประเด็นต่อไปนี้ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่มีร่วมกันในปัจจุบัน

 

๘. ประการแรก อาเซียนควรส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสตรีที่ประกอบวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่าร้อยละ ๙๕ ของจำนวนวิสาหกิจในประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นโอกาสส่งเสริมสตรีให้มีรายได้และพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔

 

๙. ประการที่สอง อาเซียนควรส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทด้านการสาธารณสุข โดยในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาด   ของโควิด-๑๙ ไทยตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสตรีในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้มแข็ง ผ่านการทำงานเชิงป้องกันและการต่อสู้กับการแพร่ระบาดในชุมชน ดังนั้น สตรี อสม. จึงถือเป็นหน้าด่านในการติดตามหาข่าวผู้มีความเสี่ยงเฝ้าระวัง กักตัวบุคคล และให้ความรู้ประชาชน ทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคในประเทศเป็นไปได้ด้วยดี เพราะมีสตรี อสม. จำนวนหลายล้านคนเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย

 

๑๐. สุดท้ายนี้ ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการส่งเสริมความก้าวหน้าของสตรีทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

 

๑๑. ขอบคุณครับ