ถ้อยแถลง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖

ถ้อยแถลง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,410 view

As delivered

ถ้อยแถลง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖

วันศุกร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๘.๕๐ – ๑๐.๓๐ น.

* * * * *

ท่านประธาน

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

และ ฯพณฯ ทั้งหลาย

๑.   ผมขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖ ในวันนี้ และขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับเวียดนามที่การประชุมสุดยอดอาเซียนและอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-๑๙ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งช่วยเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนในการรับมือกับโควิด-๑๙ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

๒.   ในช่วงที่ผ่านมานั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี โดยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมานานกว่า ๑ เดือน ผู้ติดเชื้อที่พบเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักตัวโดยรัฐ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต แต่ก็ยังคงบังคับใช้มาตรการด้านสุขอนามัย การรักษาระยะห่างทางสังคม และการใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ในการติดตามตรวจสอบผู้ใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกสอง

๓.   ในขณะที่เรากำลังปรับตัวเพื่อรับกับวิถีใหม่ อีกด้านหนึ่ง เราก็กำลังรับมือกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ผันผวนมากขึ้น เราได้เห็นการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ การเพิ่มขึ้นของกระแสชาตินิยมและต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ และท้าทายระบบพหุภาคีนิยม อาเซียนจึงควรร่วมมือกันต้านกระแสเหล่านี้ เสริมสร้างระบบภูมิภาคนิยมให้เข้มแข็งและส่งเสริมการช่วยเหลือเกื้อกูลระดับโลก ผนึกกำลังในการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค หลีกเลี่ยงการถูกบังคับให้เลือกข้าง และเป็นสะพานเชื่อมโยงมหาอำนาจที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาค ใช้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้อาเซียนสามารถรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ทั้งทางบก ทางอากาศ ทางทะเล ผ่านการเจรจาหารือร่วมกัน และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอาเซียนเมื่อกว่า ๕๐ ปีที่แล้ว

๔.     ในการนี้ ผมขอเสนอ ๓ แนวทางเพื่อขับเคลื่อน ‘อาเซียนในยุคหลังโควิด-๑๙’ ดังนี้

๕.     ประการแรกอาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น’ เราต้องทำให้อาเซียนกลับมาเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงโดยเร็ว ด้วยการเร่งดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (เอ็มแพ็ค) ๒๐๒๕ ต่อไป และส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อสร้างอาเซียนที่ไร้รอยต่อและมีความยั่งยืน นอกจากนี้ เราควรเริ่มพิจารณาแนวทางร่วมกันในการผ่อนคลายมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจและการเดินทางระหว่างกันของประชาชน โดยอาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อมก่อน เพื่อสร้างช่องทางพิเศษสำหรับนักธุรกิจและการไปมาหาสู่ของประชาชน บนพื้นฐานของมาตรการด้านสาธารณสุขที่ยอมรับร่วมกัน

๖.     ประการที่สองอาเซียนที่เข้มแข็งขึ้น’ ด้วยการ ‘สร้างความเข้มแข็งจากภายใน’ ผ่านการขับเคลื่อนการบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขันต่อไปและเร่งลงนาม RCEP ภายในปีนี้ เพื่อช่วยให้อาเซียนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความน่าสนใจของอาเซียนในการเป็นฐานการผลิตและตลาดขนาดใหญ่ในภูมิภาค นอกจากนี้ ในช่วง ๑๐ ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลคือกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของอาเซียนให้สูงขึ้นอีกถึง ๑.๓ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เราจึงต้องส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัล ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจ และลดต้นทุนในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ อาเซียนจะต้องต่อยอดจุดแข็งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตาม “โมเดลเศรษฐกิจ BCG”

๗.     ประการที่สามอาเซียนที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น’ เราต้องร่วมสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความผันผวนและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในการนี้ ผมขอร่วมสนับสนุนให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลัก เริ่มจัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อวางแนวทางสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่อาเซียนในอนาคต โดยต่อยอด จากความสำเร็จต่าง ๆ ที่อาเซียนได้ร่วมกันขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างประชาคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปันกัน และการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวควรครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุข โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการใช้กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งถือเป็น ‘สินค้าเพื่อประโยชน์สาธารณะ’ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ในราคาที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ ไทยจะร่วมบริจาคเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนกองทุนดังกล่าว เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียน นอกจากนี้ อาเซียนควรเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเรามีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะจากการพัฒนาทุนมนุษย์ การส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก ตามแนวทางที่ระบุไว้ในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน

๘.        อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการป้องกันแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนกับการประกอบธุรกิจ ซึ่งไทยได้เริ่มดำเนินการแล้ว ปัญหาการค้ามนุษย์ การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติด และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม อย่างจริงจัง เพื่อความสงบสุข ความปลอดภัยของภูมิภาคและประชาชนของเรา

๙.     สำหรับไทย เราได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก และคำนึงถึงความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี มาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลักปรัชญาดังกล่าวสามารถเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้อาเซียนกลับมาเข้มแข็งกว่าที่เคยเป็น ซึ่งไทยพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในเรื่องนี้กับประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านศูนย์อาเซียนว่าด้วยการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD)

๑๐. นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-๑๙ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาเซียนต้องยึดมั่นแนวทางการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติ ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณเพื่อนประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ดูแลช่วยเหลือคนไทยในประเทศของท่าน และอำนวยความสะดวกในการส่งคนไทยกลับบ้าน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ได้ดูแลให้ความช่วยเหลือพลเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ ในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยได้อำนวยความสะดวกการเดินทางกลับประเทศของพลเมืองอาเซียนในไทยทั้งชาวเมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ รวมจำนวนกว่า ๑๘,๐๐๐ คน

๑๑.  อีกประการหนึ่ง เราต้องเร่งดำเนินการเชิงรุก โดยการร่วมประชุมหารือทางไกล เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคและเตรียมความพร้อมในทุกมิติ เมื่อสถานการณ์โควิด-๑๙ เป็นปรกติ จะได้ดำเนินการได้โดยทันที ท้ายสุดนี้ เราต้องเร่งดำเนินการเชิงรุก โดยการร่วมประชุมหารือทางไกล เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคและเตรียมความพร้อมในทุกมิติ เมื่อสถานการณ์โควิด-๑๙ เป็นปรกติ จะได้ดำเนินการได้โดยทันที ผมยินดีร่วมรับรอง ‘วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง’ และขอแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นปึกแผ่นในอาเซียน ควบคู่ไปกับการแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอก ให้สามารถตอบสนองกับทุกความท้าทายทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคนับจากนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมของประชาชน ที่ทุกคนก้าวไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเป็นประชาคมแห่งอนาคตที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของโลกต่อไป

๑๒.  สวัสดีครับ