นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,753 view
นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และมีข้อเสนอเพื่อการฟื้นตัวของอาเซียนหลังโควิด 3 ประการ กล่าวคือ “อาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น” “อาเซียนที่เข้มแข็งมากขึ้น” และ “อาเซียนที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น” ที่ประชุมเน้นย้ำความสำคัญของการให้การดูแลและคุ้มครองประชาชนในช่วงวิกฤต พิจารณาแนวคิดเรื่อง ‘Travel Bubble’ ในอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งประกาศจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 อย่างเป็นทางการ โดยไทยได้บริจาคเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนกองทุนฯ
 
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อาเซียนจัดการประชุมสุดยอดเต็มรูปแบบ   ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายเหวียน ชวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประธาน ภายใต้แนวคิดหลัก “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” 
 
ผู้นำอาเซียนได้ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง รวมทั้งได้หารือกันเกี่ยวกับแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยย้ำความสำคัญของการให้การดูแลและคุ้มครองประชาชนในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ความร่วมมือเพื่อพัฒนายาและวัคซีน และการพิจารณาแนวทางร่วมกันในการผ่อนปรนมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง และพิจารณาแนวคิดเรื่อง ‘Travel Bubble’ ในอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
 
ที่ประชุมได้มีข้อตัดสินใจสำหรับการรับมือกับโควิด-19 ดังนี้ (1) ประกาศจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 อย่างเป็นทางการ โดยไทยได้บริจาคเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนกองทุนฯ (2) เห็นชอบต่อแนวทางและเงื่อนเวลาสำหรับการจัดทำแผนงานฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (3) เร่งรัดการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์และมาตรฐานวิธีปฏิบัติของอาเซียนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และ (4) มอบหมายให้ที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ) ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือในทั้ง 3 เสาประชาคมอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพและมีบูรณาการ
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ย้ำถึงบทบาทนำและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือที่จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และลดการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของการเป็นประธานอาเซียนของไทยเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งเน้นย้ำ การสนับสนุนระบบพหุภาคี การค้าเสรีที่เปิดกว้าง การบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ  RCEP ภายในปีนี้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
 
นายกรัฐมนตรียังได้มีข้อเสนอเพื่อการฟื้นตัวของอาเซียนหลังโควิด 3 ประการ กล่าวคือ ‘อาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น’ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ‘อาเซียนที่เข้มแข็งมากขึ้น’ และ ‘อาเซียนที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น’ โดยส่งเสริมความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของมนุษย์ ป้องกันแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนกับการประกอบธุรกิจ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยคุกคามจากไซเบอร์ การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติด และการทำประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อความสงบสุขของภูมิภาค ตลอดจนไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวของอาเซียน 
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง: ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน
 
เพื่อส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผู้นำอาเซียนยังได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ ได้แก่ การประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่องการเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล และการหารือกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยสมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชนอาเซียน และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและร่วมกันขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้สามารถตอบสนองต่อประเด็น ที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ