นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูง เรื่องการระดมทุนเพื่อการพัฒนาในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และในอนาคต (High-level Event on Financing for Development in the Era of COVID-19 and Beyond)

นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูง เรื่องการระดมทุนเพื่อการพัฒนาในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และในอนาคต (High-level Event on Financing for Development in the Era of COVID-19 and Beyond)

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,999 view
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมการประชุมระดับสูงเรื่องการระดมทุนเพื่อการพัฒนาในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และในอนาคต ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีแคนาดา นายกรัฐมนตรีจาเมกา และเลขาธิการสหประชาชาติ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำรัฐสมาชิกสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ กว่า ๖๐ คน ที่ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมดังกล่าว 
 
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในจังหวะเวลาที่สำคัญโดยเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกภายใต้กรอบสหประชาชาติที่เน้นการหารือเรื่องการรับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมุ่งหวังให้ผู้นำร่วมกันผลักดันให้เกิดการเร่งการดำเนินการระดับโลกให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมใน ๖ สาขา ได้แก่ การขยายเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพทางการเงินระดับโลก การจัดการกับความเปราะบางของภาระหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา การมีส่วนร่วมของผู้ให้กู้จากภาคเอกชน การระดมทุนจากภายนอกและการส่งเงินรายได้กลับประเทศเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ครอบคลุม การระดมทุนภายในประเทศและการจัดการกับการไหลเวียนของเงินทุนผิดกฎหมายและการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGS) 
 
นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวเพื่อช่วยกันรับมือกับ COVID-19 ที่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก โดยได้ย้ำประเด็นสำคัญ ได้แก่ (๑) การระดมทุนเพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage-UHC)โดยจากประสบการณ์ของไทย การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบอาสาสมัครสาธารณสุข มีส่วนสำคัญในการช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ  (๒) การมีสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เป็นมิตร และการยืดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนั้น ยังสนับสนุนการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการเงินโลกเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด  (๓) การฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวปิดท้ายโดยย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ในกระบวนการวางแผนรับมือและฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 อีกทั้งแสดงความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการจัดการกับผลกระทบของ COVID-19 เพื่อการฟื้นคืนกลับอย่างยั่งยืนของสังคมทั่วโลกต่อไป

คำกล่าวนายกรัฐมนตรีในกิจกรรม High-level Event on Financing for Development in the Era of COVID-19 and Beyond วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ