นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙)

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙)

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,081 view

เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๓ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน เป็นประธานการประชุมและมีผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาบวกสาม ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ตลอดจนเลขาธิการอาเซียนและผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เข้าร่วมด้วย

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และมาตรการของแต่ละประเทศ และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์อื่น ๆ ในอนาคต

ที่ประชุมนำเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนบวกสามในด้านสาธารณสุข โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข การแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศทางการแพทย์ การวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส การจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นของภูมิภาค

ในด้านสังคม เน้นการช่วยเหลือคนชาติของประเทศอาเซียนบวกสาม การลดผลกระทบจากข่าวปลอม และการใช้ประโยชน์จากองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนบวกสาม ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และในด้านเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการรักษาตลาดที่เปิดกว้างและห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะสินค้าที่สำคัญ เช่น อาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น การส่งเสริมการเดินทางและเคลื่อนย้ายของประชาชนเพื่อคงไว้ซึ่งพลวัตทางเศรษฐกิจ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประกอบการ MSMEs การกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนฟื้นฟูหลังการระบาด รวมถึงการใช้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคีเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค ในการนี้ ผู้นำประเทศคู่เจรจาบวกสามได้ย้ำความสำคัญของการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ภายในปีนี้ เพื่อกระตุ้นการค้าและสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจ

นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอสถานการณ์และมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในประเทศไทย และได้เสนอจัดตั้ง “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙” ด้วยการจัดสรรจากกองทุนความร่วมมือของอาเซียนและกับประเทศบวกสามที่มีอยู่แล้ว มาสนับสนุนการจัดหาชุดตรวจและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสาธารณสุขในภูมิภาค และการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจด้วยการใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยกตัวอย่างของไทยที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินการในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันและระบุถึงมาตรการที่ได้หารือในที่ประชุม รวมทั้งสนับสนุนข้อเสนอของไทยในการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ ด้วย

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ