การประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓

การประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,916 view

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ เพื่อวางแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเชิงบูรณาการในรูปแบบทีมประเทศไทย เพื่อให้ตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศ ได้อย่างแท้จริง โดยร่วมกันพิจารณานโยบายและทิศทางการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการให้สอดคล้องกับศักยภาพและผลประโยชน์ของไทย รวมถึงแสวงหารูปแบบและคู่ร่วมมือใหม่ ๆ สำหรับความร่วมมือในอนาคต

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ โดยมี นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ และนายเจษฎา กตเวทิน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ น.ส. ภัทรัตน์ หงษ์ทอง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะกรรมการจาก ๒๒ หน่วยงาน เข้าร่วมประชุม ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการนี้ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการวางแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเชิงบูรณาการในรูปแบบทีมประเทศไทย เพื่อให้ตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศได้อย่างแท้จริงให้สอดคล้องกับศักยภาพและผลประโยชน์ของไทย

ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาทิศทางและแนวโน้มของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ของไทย โดยจะขยายขอบเขตการดำเนินงานจากที่มุ่งประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลักไปสู่ทุกภูมิภาค และจากรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปทุนศึกษาและอบรม ไปสู่โครงการพัฒนาระยะยาว (project-based) มากขึ้นและสำหรับสาขาความร่วมมือที่มีปริมาณมาก เช่น การเกษตร สาธารณสุข การพัฒนาการศึกษา ไทยจะพัฒนา best practice และสร้างความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป และมีแนวโน้มไปสู่การเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น จะมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในประเทศมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งเผยแพร่การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs Partnership) ของไทยไปสู่ต่างประเทศ นอกจากนี้ จะสนับสนุนความร่วมมือจากลักษณะทวิภาคีไปสู่ไตรภาคี และเป็นระดับภูมิภาค (regional approach) มากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ๒ คณะ ในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีอธิบดีหรือรองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นประธาน และเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในด้านนี้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและผลประโยชน์ของไทยอย่างรอบด้าน และตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม โดยร่างแผนปฏิบัติการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕) ประกอบด้วย ๖ ประเด็น คือ (๑) บูรณาการแผนงานและนโยบายเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทยอย่างครอบคลุม (๒) ส่งเสริมและเผยแพร่ให้องค์ความรู้ด้าน SEP เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (๓) ขยายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ และการค้าการลงทุน (๔) เสริมสร้างความเป็นเลิศของไทยในด้านที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยนกับประเทศต่าง ๆ (๕) ขยายความร่วมมือไตรภาคีกับหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และ (๖) ยกระดับสถานะและบทบาทของประเทศไทยในการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ

อนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่ประสบความสำเร็จมีความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจที่สามารถแบ่งปันกับประเทศอื่น ๆ ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา หรือ Partner for the Goals ตามเป้าหมายที่ ๑๗ ของ SDGs โดยมีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลัก โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ การให้ความช่วยเหลือของประเทศไทย (Official Development Assistance - ODA) มีมูลค่ารวม ๔,๕๖๑.๗๘ ล้านบาท แบ่งเป็นเงินบริจาคให้องค์การระหว่างประเทศ จำนวน ๒,๔๕๒.๓๒ ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ ๕๔ เป็นเงินให้เปล่าและความร่วมมือทางวิชาการจำนวน ๑,๖๖๒.๔๕ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๓๖ และเงินกู้จำนวน ๔๔๗.๐๑ ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ ๑๐

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ