วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ม.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศ ได้จัดการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “Thailand: The Greatest Story in Global Tourism History” โดยนาย Imtiaz Muqbil บรรณาธิการใหญ่ สำนักข่าว Travel Impact Newswire ซึ่งได้อุทิศเวลาในการศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมาหลายทศวรรษ เพื่อนำความรู้ความเชี่ยวชาญมานำเสนอแนวคิดเพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชูเรื่องการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ ความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืน
ในโอกาสนี้ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดงาน โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ประกอบด้วยคณะทูตานุทูต หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
นาย Muqbil กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ๖๐ ปีก่อน โดยในปี ๒๕๖๒ คาดว่า ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวมากถึง ๔๐ ล้านคน ด้วยเหตุผลหลายประการ ที่สำคัญคือ การที่ไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคซึ่งเอื้อต่อการคมนาคม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความเชี่ยวชาญด้านการรณรงค์ด้านภาพลักษณ์และการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมหาศาล อีกทั้ง ประเทศไทยยังใช้การท่องเที่ยวเป็นสะพานในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอื่นด้วย ที่สำคัญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ ซึ่งนาย Muqbil ยินดีที่ไทยได้นำแนวดังกล่าวมายกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน โดยเน้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
ทั้งนี้ นาย Muqbil เสนอว่า กระทรวงการต่างประเทศควรมีบทบาทนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยอ้างอิงการศึกษาผ่าน (๑) แนวคิดของ ดร. ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ด้วยแนวทางการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ และ (๒) ถ้อยแถลงของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๓ ที่นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๒ ซึ่งกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่จะธำรงไว้ซึ่งโลกที่มีความยั่งยืนให้แก่มนุษยชาติรุ่นถัดไปในอนาคต และความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่มนุษยชาติต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก
ผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน เช่น การแข่งขันระหว่างสายการบิน บทบาทของสื่อมวลชน รวมถึงผลกระทบจากเทคโนโลยียุคใหม่ และการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสำหรับการพัฒนาบุคลากรที่กำลังศึกษาด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบัน
อธิบดีกรมสารนิเทศกล่าวเสริมในช่วงสรุปว่า ไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ไปเผยแพร่ให้ประเทศอื่นในหลายภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาตินอเมริกา และแอฟริกาได้รับรู้ ประกอบกับการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำโดยส่งเสริมการพัฒนาให้ทั่วถึงทุกชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **