งานวันดินโลก (World Soil Day) ประจำปี ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

งานวันดินโลก (World Soil Day) ประจำปี ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ย. 2565

| 465 view

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติได้เป็นเจ้าภาพจัดงานวันดินโลก (World Soil Day) ประจำปี ๒๕๖๒ (วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี) ภายใต้หัวข้อ “Stop soil erosion, save our future” เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยร่วมกับคณะผู้แทนถาวรเอกวาดอร์ ไนจีเรีย และรัสเซียประจำสหประชาชาติ รวมทั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) และสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (Secretariat to the United Nations Convention to Combat Desertification: UNCCD)

การจัดงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นปีที่ ๖ ติดต่อกัน เพื่อย้ำความสำคัญของดินและผลักดันการบริหารจัดการดินที่ยั่งยืน การอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน รวมทั้งเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงได้อุทิศตนและมีบทบาทริเริ่มที่สำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน จนได้รับ             การยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยในปี ๒๕๕๖ สมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๘ ได้รับรองข้อมติ  ซึ่งกำหนดให้วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ เป็นวันดินโลก

นายวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติได้กล่าวเปิดงาน โดยย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) นอกจากนี้ โดยที่วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันอาสาสมัครสากล จึงได้ย้ำความสำคัญของอาสาสมัครและจิตอาสาที่เป็นกำลังและเครื่องมือสำคัญในการอนุวัติ SDGs และรับมือกับความท้าทายต่างๆ รวมถึงภัยคุกคามต่อทรัพยากรดิน

การอภิปรายนำเสนอปัญหาการพังทลายของหน้าดินและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านการบริหารจัดการดินและน้ำอย่างบูรณาการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความมั่งคงทางอาหาร การลดมลพิษ การรับมือกับการเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องอาศัยความพยายามจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้อภิปรายที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญจาก UNCCD นักวิชาการจาก International Technical Panel on Soils อีกทั้งผู้แทนเยาวชนจากรัฐแคลิฟอร์เนียและเวอร์มอน

นายภิรมย์ แก้ววิเชียร เกษตรกรและหมอดินอาสาจากประเทศไทย ได้อภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเป็นเกษตรกรที่ได้เรียนรู้วิธีในการปรับปรุงคุณภาพดินและป้องกันการพังทลายของหน้าดินด้วยการใช้ถั่วพร้าคลุมดิน การใส่โดโลไมท์เพื่อแก้ค่าความเป็นกรดของดิน และการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินจากนาข้าวเป็นระบบเกษตรผสมผสาน รวมทั้งศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและได้น้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปรับใช้ในการบริหารจัดการดิน น้ำ พืชในพื้นที่การเกษตรของตนจนประสบความสำเร็จ และหลังจากนั้น ได้อุทิศตนเป็น “หมอดินอาสา” และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ในพื้นที่ และช่วยเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนภาคเกษตร ซึ่งช่วยยกระดับชีวิตของเกษตรกรในชุมชนให้ดีขึ้น ซึ่งนายภิรมย์ฯ เชื่อว่า ดินเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิต คนดูแลสุขภาพดินเป็นเสมือนหมอ และหมอที่ดีต้องมีจิตอาสา โดยการแบ่งปันดังกล่าวเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน

กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้แทนจากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งประเทศสมาชิกสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ