ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,329 view
เมื่อวันที่ ๒๘ - ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อสานต่อแนวคิดการขยายความร่วมมือไทย – ฮ่องกง ตามที่ได้หารือกันในหลักการระหว่างการเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงอย่างเป็นทางการของรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ – ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ ให้มีผลเป็นรูปธรรม 
 
ในช่วงเช้าของวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ รองนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานร่วมกับผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในการประชุมระดับสูงระหว่างไทยกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ครั้งที่ ๑ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดแนวทางและมาตรการการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจใน ๖ ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 
 
(๑) ด้านการค้า ส่งเสริมการกระจายการค้าให้เพิ่มเติมจากการค้าสินค้าเกษตร อาทิ สินค้าเกษตรพรีเมี่ยม และการใช้ภาคบริการขยายการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และโลจิสติกส์ ตลอดจนจะเริ่มหารือความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย – ฮ่องกง โดยเห็นพ้องที่จะส่งเสริมให้ไทยและฮ่องกงบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าสองหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๖๓
 
(๒) ด้านการโยกย้ายฐานการผลิตและการลงทุน ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้วิสาหกิจฮ่องกงโยกย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย รวมถึงการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทย – ฮ่องกง ซึ่งลงนามกันเมื่อปี ๒๕๔๘ ให้สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ในปัจจุบัน 
 
(๓) ด้านการเงิน ผลักดันการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนระหว่างกันผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ตลอดจนแสวงหาแนวทางให้บริษัทที่มีศักยภาพของทั้งสองฝ่ายสามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของอีกฝ่ายได้ (cross listing) รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียว 
 
(๔) ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมความร่วมมือในด้านที่ไทย – ฮ่องกงมีศักยภาพให้เป็นไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เช่น การผลิตภาพยนตร์ร่วมกัน (co-production) กระบวนการหลังการผลิต (post-production) และการออกแบบ นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและฮ่องกงเข้าร่วมกิจกรรมนานาชาติของกันและกัน 
 
(๕) ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เสริมสร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับและสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs และ Start-up เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการร่วมกันสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์และอุทยานแห่งการสร้างสรรค์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor (EEC) ของไทย 
 
(๖) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะส่งเสริมให้ภาคเอกชน สถาบัน และมหาวิทยาลัยชั้นนำของฮ่องกงมาลงทุนและจัดตั้งสาขาในพื้นที่ EEC เพื่อค้นคว้าวิจัยและช่วยยกระดับทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแห่งศตวรรษใหม่ รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะจัดทำความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนให้เยาวชนของทั้งสองฝ่ายสามารถท่องเที่ยวและทำงานไปพร้อม ๆ กันได้ (work and travel scheme หรือ working holiday scheme) 
 
ภายหลังการประชุม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมประเด็นความร่วมมือที่ได้หารือกันข้างต้น และได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไทย – ฮ่องกงอีก ๕ ฉบับ ซึ่งจะเป็นกรอบการดำเนินงานร่วมกันต่อไปของทั้งสองฝ่าย 
 
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ให้กำลังใจแก่ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และย้ำว่า ไทยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะสามารถจัดการกับความท้าทายได้อย่างเหมาะสม และกลับมามีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศได้อีกครั้ง ขณะที่ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงขอบคุณฝ่ายไทยที่ได้ให้กำลังใจมาอย่างต่อเนื่องและเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงระหว่างสองฝ่ายครั้งแรก ซึ่งช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น 
 
การเยือนไทยของผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับ และเปิดมิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ตลอดจนเป็นตัวอย่างของการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างนโยบายการพัฒนาของไทย โดยเฉพาะ Thailand 4.0 และ EEC กับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า และข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative – BRI) ของจีนเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อนุภูมิภาค และภูมิภาคโดยรวม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ