คำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดการประชุม ASEAN-ROK Startup Summit วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ ศูนย์การประชุม BEXCO นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

คำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดการประชุม ASEAN-ROK Startup Summit วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ ศูนย์การประชุม BEXCO นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,116 view
คำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในพิธีเปิดการประชุม ASEAN-ROK Startup Summit
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
ณ ศูนย์การประชุม BEXCO นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
 
* * * * *
 
ประธานาธิบดีมุน แช-อิน
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
เพื่อนผู้นำอาเซียน
แขกผู้มีเกียรติ
ผู้นำธุรกิจสตาร์ทอัพ,
สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ,
 
๑. ขอขอบคุณที่ได้เชิญให้ผมมากล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดผู้ประกอบการรายใหม่อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี กิจกรรมนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของการฉลองการครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีและยังเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของพวกเรา   
 
๒. ผมขอเริ่มด้วยการชื่นชมในความสำเร็จของวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพของสาธารณรัฐเกาหลีอย่างก้าวกระโดดในเวทีโลก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จของหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนสาธารณรัฐเกาหลี ผมเห็นว่า ความสำเร็จของสตาร์ทอัพในประเทศนี้ถือเป็นประสบการณ์สำคัญในการแลกเปลี่ยนกับสตาร์ทอัพไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสามารถช่วยพัฒนาให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต
 
๓. ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสนับสนุนสตาร์ทอัพ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการเติบโตอย่างครอบคลุมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เศรษฐกิจของไทยมีความเข็มแข็ง (resilience) มากยิ่งขึ้นท่ามกลางการแข่งขันและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในภูมิภาคและโลก ในการนี้ ไทยจึงได้ผลักดันการพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างเป็นรูปธรรม ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
 
๔. ด้านนโยบาย มีการผลักดัน ๓ เรื่องสำคัญ คือ (๑) กฎหมายสตาร์ทอัพ (Startup Act) เพื่อลดอุปสรรคในการทำธุรกิจทั้งของไทยและชาวต่างชาติ ทำให้สตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเติบโตแบบก้าวกระโดด เพิ่มศักยภาพในการเติบโตสู่ตลาดโลก (๒) กฎหมายแซนด์บ็อกซ (Sandbox Act) เพื่อทดสอบกฎระเบียบสำหรับสตาร์ทอัพ โดยมีข้อกำหนดเฉพาะและระยะเวลาที่จำกัดให้ครอบคลุมสตาร์ทอัพทุกประเภท และ (๓) กฎหมายเบยห์-โดล (Bayh-Dole Act) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
 
๕. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานระดับประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานและความสามารถทางการวัดของประเทศไทยให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าและบริการของไทยมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก NQI จะมีความสำคัญมากต่อผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในอุตสาหกรรม S-Curve ตามนโยบาย Thailand 4.0 รวมไปถึงการเปิดพื้นที่ให้ทดลองและทดสอบแนวคิดในมหาวิทยาลัย (Pilot Plant) ให้บริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ และเติบโตต่อไปได้
 
๖. ด้านการสร้างคนและบุคลากร มีการกระตุ้น “ต่อมความอยากเป็นผู้ประกอบการ” ของเยาวชนด้วยกลไกกองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) ประมาณ ๓.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้นักเรียนนักศึกษาใช้เงินทุนนี้พัฒนาไอเดีย POC/POV  สร้าง Business Model จนเกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ เปิดเวทีแสดงความสามารถแสดงความคิดของคนรุ่นใหม่ สร้างระบบนิเวศภายในมหาวิทยาลัยให้เหมาะกับการพัฒนาสตาร์ทอัพ รวมไปถึงโครงการบัณฑิตอาสา เพื่อช่วยบัณฑิตจบใหม่ที่ตกงานให้ใช้เวลา ๑ ปีลงไปพัฒนาพื้นที่ในชุมชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ และโครงการกลไกอาสาประชารัฐ ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาปี ๓-๔ ใช้ระยะเวลา ๑ ภาคเรียน ให้ไปทำงานร่วมกับชาวบ้านและสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ทั้งหมด ส่งเสริมการพัฒนาต่อยอด  องค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมสร้างสรรค์
 
๗. ทั้งหมดนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในไทย เพื่อให้เกิด Ease of Doing “Innovation” Business ทั้งนี้ สำหรับการสนับสนุนสตาร์ทอัพในบริบทของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ การสนับสนุน Innovation Startup ให้เกิดเป็น BCG Startup (Bio-Circular-Green) เพื่อใช้ความเข้มแข็งของความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Diversity) พร้อมทั้งมุ่งไปสู่สตาร์ทอัพเพื่อสังคม (Social Startup) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (Inclusiveness)
 
๘. ในปี ๒๕๖๒ นี้ ประเทศไทยได้รับโอกาสในการเป็นประธานอาเซียน โดยบทบาทหนึ่งที่สำคัญก็คือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในทุกด้าน ซึ่งรวมถึงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือและเครือข่ายที่เข้มแข็งในเรื่องของสตาร์ทอัพ เราจึงได้ริเริ่มจัดประชุม Southeast Asia Startup Assembly หรือ SEASA เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ภายใต้แนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียน และพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งมิติการจัดทำข้อมูลการบ่มเพาะ การขยายตลาด และการพัฒนาศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศสตาร์ทอัพเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสากล ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้จะดำเนินการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ
 
๙. ความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายควรให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องต่อไป เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายของทั้งสองฝ่ายที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัต การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และมีความยั่งยืน ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นเรื่องของนวัตกรรม และสอดคล้องกับถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นหุ้นส่วน และแผนปฏิบัติการอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สำหรับปี ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๔ โดยเฉพาะในเรื่องส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนสตาร์ทอัพระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี สิ่งที่อาจพิจารณาต่อไป คือ พัฒนาเครือข่าย focal points ของหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองฝ่ายที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนานโยบายและความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพเพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง ในการนี้ ผมยินดีที่เมื่อวานนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งผมหวังว่า ความสัมพันธ์และความร่วมมือกันในเรื่องนวัตกรรมและสตาร์ทอัพระหว่างไทย อาเซียน และสาธารณรัฐเกาหลีจะเข้มแข็งและเติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป
 
๑๐. ในโอกาสนี้ ผมขอให้เราช่วยกันมองไปในอนาคต และร่วมมือกันเพื่อสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีต่าง ๆ และนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้กับภูมิภาค โดยเฉพาะเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ในงาน ASEAN-ROK Startup Summit 2019 ผมขอแสดงความยินดีอีกครั้งครับ
 
๑๑. คัม-ซา-ฮัม-นี-ดา 
 
* * * * *