นายกรัฐมนตรีเป็นประธานร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,534 view
      เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓ ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนครปูซาน (Busan Exhibition and Convention Center: BEXCO) นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี และได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานร่วมกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีในการประชุมดังกล่าว
 
      ที่ประชุมได้หารือถึงการกระชับความสัมพันธ์อาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลีในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี ของความสัมพันธ์และประเด็นสำคัญระดับภูมิภาค รวมทั้งการดำเนินการตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของประธานาธิบดีมุนฯ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นหุ้นส่วน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในสามประเด็นหลัก ได้แก่ ความมั่นคงที่ยั่งยืนและความมั่นคงของมนุษย์ เศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วยการสนับสนุนความร่วมมือในสาขาที่ต่างฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ และสังคมและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน 
 
      ผู้นำยังเห็นพ้องต่อการใช้ประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยง โดยเน้น ๓ ประเด็นสำคัญคือ การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนวัตกรรม และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ผู้นำยินดีต่อการสรุปผลการเจรจา ๒๐ ข้อบทสำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) สำหรับ ๑๕ ประเทศสมาชิก ซึ่งมีแผนที่จะลงนามความตกลง RCEP ในปี ๒๕๖๓ รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนและการผสานความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค อาทิ แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)หรือกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong – Republic of Korea Cooperation) และอีกประเด็นหนึ่ง คือการลดผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการเสริมสร้างความเชื่อมโยง 
 
      นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องต่อการจัดการปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็งและมีอาเซียนเป็นแกนกลาง โดยเฉพาะสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยอาเซียนให้ความสำคัญกับการหารือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และพร้อมใช้เวทีการหารือต่าง ๆ  โดยเฉพาะกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) ในการอำนวยความพยายามทางสันติวิธีของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี และเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างยั่งยืน 
 
      ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ได้แก่ พิธีเปิดโครงการ Busan Eco-Delta Smart City การประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-ROK CEO Summit) การประชุมสุดยอดนวัตกรรมทางวัฒนธรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-ROK Culture Innovation Summit) การประชุมสุดยอดผู้ประกอบการรายใหม่อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-ROK Startup Summit) งานนวัตกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-ROK Innovation Showcase) และเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานไทยในงานนิทรรศการด้านนวัตกรรมการบริการสาธารณะอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-ROK Public Service Innovation) และงานเมืองอัจฉริยะอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-ROK Smart City Fair)
 
      ในโอกาสการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่นครปูซานในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้พบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นสำคัญ อาทิ การสนับสนุนและเชื่อมโยงนโยบาย New Southern Policy ของสาธารณรัฐเกาหลีกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย การลงทุนใน EEC ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การบริหารจัดการน้ำ ความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมาย และความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ในโอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองยังได้เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี ๓ ฉบับ ในสาขาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ความร่วมมือด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมาย
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ