วันที่นำเข้าข้อมูล 27 พ.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
๑. ตามคำเชิญของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา แห่งราชอาณาจักรไทย ฯพณฯ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๒ - ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
๒. ในการเยือนไทย นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลและฯพณฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรที่อาคารรัฐสภา
๓. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการเยือนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการยืนยันความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ในอนาคต ท่ามกลางพัฒนาการทางภูมิสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ภาพรวมความสัมพันธ์ทวิภาคี
๔. ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ปี ๒๕๖๒ เป็นปีสำคัญสำหรับทั้งราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนและความสำเร็จที่โดดเด่นด้านการพัฒนาประเทศโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียังได้ส่งความปรารถนาดีไปยังประชาชนชาวจีนสำหรับความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย ๑๐๐ ปี ๒ ประการ และความฝันของจีนในการฟื้นฟูความรุ่งเรืองของชาติจีน นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง แสดงความยินดีต่อราชอาณาจักรไทยและประชาชนชาวไทยเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูรกิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกรัฐมนตรีจีน ยังได้แสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ฯ ในโอกาสที่ได้รับการเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง และแสดงการสนับสนุนต่อรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยในการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชน นายกรัฐมนตรีหลี่ ได้อวยพรให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) ด้วยความราบรื่น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสการฉลองครบรอบ ๗๐ ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงสายสัมพันธ์ฉันมิตรอันยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ
๕. ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อความต่อเนื่องและพลวัตทางความสัมพันธ์ทวิภาคี และเห็นพ้องที่จะใช้กลไกและเวทีความร่วมมือทวิภาคีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย - จีน การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน การประชุมคณะกรรมการนโยบายดำเนินงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่าง กระทรวงกลาโหม - กระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีนคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย - จีน คณะกรรมการร่วม เพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน และการประชุมระดับรัฐมนตรีไทย - จีนด้านความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในเชิงลึกและเชิงกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) ให้มีผลที่จับต้องได้
๖. ผู้นำทั้งสองฝ่ายตระหนักความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนท่ามกลางผันผวนของเศรษฐกิจโลกผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของสองประเทศ อนุภูมิภาคและภูมิภาคในภาพรวม ท่ามกลางความผันแปรของเศรษฐกิจโลก
ด้านการเมืองและความมั่นคง
๗. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเคารพแนวทางการพัฒนาประเทศของแต่ละฝ่าย แบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านการบริหารราชการ และให้ความเข้าใจและสนับสนุนอีกฝ่ายในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์หลักและข้อห่วงกังวลสำคัญ ฝ่ายไทยย้ำถึงการยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว การสนับสนุนให้ความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบมีการพัฒนาอย่างสันติ และการรวมชาติอย่างสันติของจีน ฝ่ายไทยเน้นย้ำถึงการสนับสนุนหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”
๘. ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรนิติบัญญัติ พรรคการเมือง กองทัพ และหน่วยงานท้องถิ่น และสนับสนุนให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างสองประเทศ
๙. ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิดระหว่างกระทรวงกลาโหมและกองทัพของทั้งสองประเทศผ่านการร่วมซ้อมรบ การฝึกอบรมบุคลากร และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ รวมถึงการประสานงานด้านความมั่นคงในระดับพหุภาคี
๑๐. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในเรื่องการขจัดการลักลอบขนยาเสพติด การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และการต่อต้านการก่อการร้าย การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย ตลอดจนการต่อต้านการฟอกเงินและการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง
ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
๑๑. ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อการดำเนินความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ และเห็นพ้องที่จะให้ความร่วมมือรถไฟจีน-ไทยเป็นต้นแบบความสำเร็จของความร่วมมือที่มีคุณภาพสูงภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) รวมเร่งการดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ เร่งการดำเนินการภายใต้โครงการรถไฟจีน - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - ไทย และพิจารณาแนวทางความร่วมมือในกรอบระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงและการพัฒนาของภูมิภาค
๑๒. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความประสงค์ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการประสานงานและการอำนวยความสะดวกการนำเข้าและส่งออกระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย - จีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของการค้า โดยฝ่ายจีนยินดีต้อนรับฝ่ายไทยในฐานะประเทศเกียรติยศเข้าร่วมงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China International Import Expo: CIIE) ครั้งที่ ๒ ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒
๑๓. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทย โดยการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลไกความร่วมมือที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมความเชื่อมต่อระหว่าง EEC กับ GBA ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนความเชื่อมโยงระหว่าง GBA กับ EEC และภูมิภาคในภาพรวมสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
๑๔. ทั้งสองฝ่ายจะขยายความร่วมมือทางอุตสาหกรรมด้านกำลังการผลิตต่อไป และสร้างเสริมการทำงานร่วมกันเพื่อผลสัมฤทธิ์ด้านการวางแผนและนโยบายทางอุตสาหกรรม โดยใช้รูปแบบที่ดำเนินการมาแล้วเป็นพื้นฐาน เช่น นิคมอุตสาหกรรมไทย - จีน (ระยอง) โดยใช้ประโยชน์จากที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของไทยในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์กับประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ยานยนต์พลังงานใหม่ ยานยนต์ประหยัดพลังงาน และยาง ฝ่ายไทยยินดีสนับสนุนให้บริษัทเอกชนจีนขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะพัฒนาความร่วมมือสามฝ่ายใน EEC และเห็นว่าแนวคิดความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นต้นแบบสำหรับความร่วมมือในพื้นที่อื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและนอกภูมิภาค
๑๕. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงิน สนับสนุนการขยายการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าและการลงทุน ส่งเสริมเครือข่ายสถาบันการเงินและการบริการทางการเงิน และสร้างความเข้มแข็งให้ความร่วมมือด้านการกำกับดูแลข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ
๑๖. ทั้งสองฝ่ายยินดีกับจำนวนนักท่องเที่ยวของแต่ละประเทศที่ไปมาหาสู่กันเพิ่มขึ้น ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้อง ที่จะกระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาความปลอดภัยและการกำกับดูแลด้านการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว การคุ้มครองความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และคุณภาพของการท่องเที่ยวรวมถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระหว่างสองประเทศ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
๑๗. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือด้านนวัตกรรมเป็นสาขาที่โดดเด่นภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาโครงการ เช่น ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การเปิดศูนย์นวัตกรรม นิคมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศแบบหลอมรวม ซอฟต์แวร์และบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรม ความมั่นคงทางไซเบอร์ การประมวลผลบนระบบคลาวด์ (cloud computing) และปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล (digital Silk Road) ร่วมกัน
๑๘. ทั้งสองฝ่ายจะยังคงร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป เพื่อสังคม และเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว และเทคโนโลยีแนวหน้า (frontier technology)
ด้านการศึกษา วัฒนธรรม และความเชื่อมโยงระดับประชาชน
๑๙. ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการดำเนินความร่วมมือทางการศึกษาภายใต้บันทึกความตกลงด้านการศึกษาและเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการศึกษาในหลายระดับและหลายสาขาผ่านความร่วมมือผ่านสถาบันการศึกษาหุ้นส่วน การแลกเปลี่ยนพิเศษ การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และการเรียนรู้ทางไกล เพื่อที่จะส่งเสริมบุคคลที่มีทักษะและให้การสนับสนุนทางวิชาการเพื่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ
๒๐. ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม ปี ๒๕๖๒ - ๒๕๖๔ เพื่อให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และเห็นพ้องที่จะพิจารณาความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกันเพื่อฉลองโอกาสการครบรอบ ๔๕ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ๒๕๖๓
๒๑. ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างความร่วมมือด้านสื่อและข้อมูลเพื่อส่งเสริมความเชื่องโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน และการพัฒนาวิชาชีพสื่อ โดยดำเนินการผ่านการอำนวยความสะดวกให้แก่สื่อมวลชน การแลกเปลี่ยนข่าวสาร/สารคดี และการแลกเปลี่ยนการเยือน รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมและเทศกาลต่าง ๆ
ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
๒๒. ฝ่ายจีนชื่นชมการทำงานของไทยในฐานะประธานอาเซียนในการเสริมสร้างการพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน - จีน และความร่วมมือเอเชียตะวันออก และแสดงความยินดีกับประเทศไทยต่อความสำเร็จในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
๒๓. ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการที่ความสัมพันธ์อาเซียน – จีนยังคงความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และก่อเกิดผลประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย และจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน - จีนมีพลวัตและเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ ความรุ่งเรือง และความยั่งยืนในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายจะย้ำอย่างต่อเนื่องถึงความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมของภูมิภาคผ่านกลไกที่นำโดยอาเซียน เช่น การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three: APT) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers' Meeting Plus: ADMM Plus) ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างการบูรณาการระหว่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025: MPAC 2025) กับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความเชื่อมโยงต่าง ๆ (Connecting the Connectivities) และจะส่งเสริมการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินระหว่างอาเซียนกับจีน
๒๔. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้กรอบภูมิภาคและอนุภูมิภาค เช่น อาเซียน - จีน แม่โขง - ล้านช้าง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ประเทศไทยแสดงความยินดีที่จีนได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS กลุ่มแรก ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่า กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) และ ACMECS เกื้อกูลซึ่งกันและกันโดยธรรมชาติ
๒๕. ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) อย่างมีประสิทธิภาพและครบถ้วนและการบรรลุการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติตามทะเลจีนใต้ (Code of Conduct : COC) ที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมประเด็นสำคัญภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๑ หรือก่อนหน้า และชื่นชมต่อความสำเร็จในการเจรจารอบแรกของร่างเอกสารฉบับเดียวของการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Single Draft COC Negotiating Text: SDNT) และยินดีต่อการเริ่มต้นการเจรจารอบสองของร่าง SDNT ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือทางทะเลในเชิงปฏิบัติรวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อปรับเปลี่ยนทะเลจีนใต้ให้กลายเป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง”
๒๖. ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างการประสานงานและความร่วมมือในเวทีพหุภาคี เช่น สหประชาชาติ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (APEC) การประชุมเอเชีย – ยุโรป (ASEM) และกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) เพื่อธำรงไว้ซึ่งบรรทัดฐานและหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ และร่วมกันเสริมสร้างผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา
๒๗. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายที่น่าวิตกกังวลของโลกที่เกิดจากลัทธิปกป้องทางการค้าและการดำเนินการฝ่ายเดียว ปกป้องระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎระเบียบเป็นพื้นฐาน และส่งเสริมกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจให้มุ่งสู่ความเปิดกว้าง ความครอบคลุม ประโยชน์สากล
มีความสมดุล และมีผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องสามารถสรุปการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) แล้วเสร็จ และจะร่วมกันหารือประเด็นคั่งค้างเพื่อให้ลงนามความตกลงฯ ในปี ๒๕๖๓
๒๘. นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง แสดงความขอบคุณรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และขอเชิญนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก โดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ฯ ตอบรับคำเชิญด้วยความขอบคุณ
* * * * * * * * * * *
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **