การแถลงข่าวร่วมของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑

การแถลงข่าวร่วมของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,564 view

ร่างคำกล่าวของ
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
สำหรับการแถลงข่าวร่วม (Joint Press Conference)
ของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑
ณ ห้อง ๑๐๔-๑๐๕ ศูนย์การประชุม BEXCO นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
วันพุธที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๔๐ – ๑๒.๐๐ น.

* * * * *

 

  • สวัสดีครับ
     
  • ผมขอขอบคุณ ฯพณฯ มุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีและกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของทั้งสองประเทศที่มีส่วนร่วมทำให้การจัดประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ ประสบความสำเร็จอย่างดี นับเป็นการต่อยอดจากการประชุมสุดยอดอาเซียน–สาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและสมาชิกลุ่มน้ำโขงขึ้นสู่ระดับสูงสุด ผมในฐานะประธานร่วมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในผลสำเร็จที่พวกเราได้บรรลุร่วมกันในวันนี้
     
  • พวกเราผู้นำ ได้เห็นพ้องกันว่า ในระยะเวลาการก่อตั้งเพียง ๘ ปี กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง–สาธารณรัฐเกาหลีเป็นกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคที่มีพลวัตมากที่สุดกรอบหนึ่ง พวกเราชื่นชมความมุ่งมั่นและความชัดเจนของรัฐบาลเกาหลีที่ได้พัฒนากลไกการทำงานที่มีระบบที่ท่านประธานาธิบดีมุนได้ประกาศที่จะผลักดันกรอบความร่วมมือให้สอดคล้องกับ ACMECS มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงยังขอขอบคุณรัฐบาลเกาหลีที่เป็นประเทศแรกที่พิจารณาประกาศสนับสนุนเงินจำนวน ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกองทุนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS
     
  • ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาแม่น้ำโขง-แม่น้ำฮัน ซึ่งพวกเรามีความยินดีจากใจจริงที่สาธารณรัฐเกาหลีได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยสอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของท่านประธานาธิบดีมุน และการประกาศวิสัยทัศน์แม่โขง-เกาหลี ในการเยือนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปฏิญญานี้ยังสอดคล้องกับแผนแม่บท ACMECS ของประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย ผมยังได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลเกาหลีที่ได้พัฒนาให้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีมีองค์ประกอบครบถ้วน ได้แก่ แผนงาน กองทุน สถาบันติดตามผล และกิจกรรมคู่ขนานของภาคเอกชน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจและตั้งใจจริงของรัฐบาลเกาหลีต่อประเทศลุ่มน้ำโขง
     
  • ผมได้เสนอต่อที่ประชุมใน ๓ ประเด็น อันสอดคล้องกับสามเสาหลักของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ดังต่อไปนี้
     
  • ข้อแรก ในเรื่องของประชาชน ไทยจะสนับสนุนความใกล้ชิดและการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศลุ่มน้ำโขงผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา โดยตั้งเป้าให้มีการเพิ่มจำนวนนักศึกษาระหว่างกันเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี ๒๕๖๗ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ ทุกปี และได้เสนอให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนภาคประชาชน อาทิ การแลกเปลี่ยนนักวิชาการและอาจารย์ ทั้งนี้ ไทยพร้อมสนับสนุนสาธารณรัฐเกาหลีในการดำเนินโครงการปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษา ในปี ๒๕๖๔ ซึ่งจะฉลองครบรอบ ๑๐ ปี ของความร่วมมือของเรา นอกจากนี้ ผมได้ย้ำถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของพวกเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายที่พวกเรากำลังเผชิญ ในส่วนของไทยได้สนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแผนงานที่สาธารณรัฐเกาหลีจะดำเนินการในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พร้อมทั้งจะแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับสมาชิก
     
  • ข้อสอง ในเรื่องความเจริญรุ่งเรือง ผมเห็นว่าความเชื่อมโยงในทุกมิติ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองนั้นต้องอาศัยการสร้างความเชื่อมโยงเพื่อนำพาประเทศและอนุภูมิภาคเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของโลก ซึ่งรวมทั้งเราจะต้องให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ๔.๐ ผมจึงได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อสนับสนุน SMEs และ MSMEs ของประเทศลุ่มน้ำโขงให้มีความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อที่จะสามารถเข้าสู่ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งพวกเราสามารถใช้เวทีการประชุมภาคธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ช่วยสร้างขีดความสามารถให้แก่ภาคธุรกิจ SMEs / MSMEs เหล่านี้ได้
     
  • ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภาคธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๗ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ ที่กรุงเทพฯ เราได้เน้นหัวข้อการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ SMEs เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีที่เมื่อวานนี้ ภาคธุรกิจของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงและสาธารณรัฐเกาหลี ได้ร่วมกันจัดตั้งสภาธุรกิจลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีขึ้น ผมเชื่อมั่นว่า สภาธุรกิจฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ภาคเอกชนของเรามีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
     
  • ข้อ ๓ เรื่องสันติภาพ ไทยเห็นพ้องกับสาธารณรัฐเกาหลีเกี่ยวกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่กระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรน้ำ และปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งผมได้เสนอให้ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศที่ทันสมัยของสาธารณรัฐเกาหลีในการพยากรณ์สภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง ในระยะยาวเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งได้แสดงความชื่นชมสาธารณรัฐเกาหลีที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ที่เกาหลี ผมได้เน้นย้ำว่าน้ำและแม่น้ำโขง ก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงร่างกายของประเทศสมาชิก และเราจะได้ประโยชน์อย่างมากหากสามารถร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลีเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน
     
  • นอกจากนี้ ในประเด็นสถานการณ์ของโลก ผมได้ย้ำถึงการให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และตระหนักว่าคาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์มีความสำคัญยิ่งต่อเสถียรภาพและ ความมั่นคงของภูมิภาคและของโลก จึงคงยึดมั่นและปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและพันธกรณีระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างเคร่งครัด
     
  • ท่านทั้งหลายครับ สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณท่านประธานาธิบดีมุนอีกครั้งสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำครั้งแรก ท่ามกลางบรรยากาศฉันท์มิตรและประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง พวกเราสมาชิกทุกประเทศพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมนี้ เราขอแสดงความยินดีกับเวียดนามที่จะเป็นประธานร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีในห้วงปีหน้านี้ด้วยครับ
     
  • ขอบคุณครับ
     

* * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ