การแถลงข่าวร่วมโดยประธานร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓

การแถลงข่าวร่วมโดยประธานร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,604 view
(as delivered )
ประเด็นแถลงข่าว 
งานแถลงข่าวร่วม
โดยประธานร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓
วันอังคารที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๕.๒๐ น.
ณ ห้อง ๑๐๔-๑๐๕ ชั้น ๑ อาคาร Convention Hall, BEXCO นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี 
 
* * * * *

 
ท่านประธานาธิบดีมุน แช-อิน 
พี่น้องสื่อมวลชน
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
 
๑. อันยองฮาชิมนีกา
 
๒. ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่ประธานร่วมกับท่านประธานาธิบดีมุนฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓ ที่นครปูซานแห่งนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับท่านประธานาธิบดีและสาธารณรัฐเกาหลีสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้อย่างดียิ่ง ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี และส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความไพบูลย์และความยั่งยืนในภูมิภาคของพวกเรา
 
๓. การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓ ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เราหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์และประเด็นสำคัญระดับภูมิภาค รวมทั้งการดำเนินการตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของประธานาธิบดีมุนฯ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งจะช่วยสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มองไปสู่อนาคต และคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติ  พวกเราได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นหุ้นส่วน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ในอนาคต และอาเซียนยินดีที่สาธารณรัฐเกาหลีจะสนับสนุนการดำเนินการตามเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก หรือ AOIP อีกด้วย  ในวันนี้ ผมขอกล่าวถึง ๔ คำที่สรุปผลลัพธ์สำคัญของการประชุมฯ ดังนี้
 
๔. หนึ่ง แน่นแฟ้นขึ้น เรามุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในสามประเด็นหลัก ได้แก่ ความมั่นคงที่ยั่งยืนและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ให้สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ  เศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วยการสนับสนุนความร่วมมือในสาขาที่ต่างฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาทุนมนุษย์ และการสนับสนุนเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน สุดท้าย คือ สังคมและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน โดยพวกเรายินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนในกรุงเทพฯ และศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนที่นครปูซาน ซึ่งจะสนับสนุนการเพิ่มความรู้ความเข้าใจด้านวัฒนธรรมในระดับประชาชน สอดคล้องกับการประกาศปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ๒๕๖๒ อีกทั้ง จะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย 
 
๕. สอง เชื่อมโยงและยั่งยืนขึ้น เราเห็นพ้องต่อการใช้ประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยง ซึ่งจะนำไปสู่ความไพบูลย์และความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเน้น ๓ ประเด็นสำคัญคือ การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนวัตกรรม และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยพวกเรายินดีต่อการสรุปผลการเจรจา ๒๐ ข้อบทสำหรับ RCEP สำหรับ ๑๕ ประเทศสมาชิก เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาที่ประเทศไทย และมีแผนที่จะลงนามความตกลง RCEP ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ประเด็นต่อมาคือ การสร้างความเชื่อมโยงบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนและการผสานความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค อาทิ แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี กรอบ ACMECS หรือกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี และอีกประเด็นหนึ่ง คือการลดผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการเสริมสร้างความเชื่อมโยง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ 
 
๖. สาม มั่นคงขึ้น เราเห็นพ้องต่อการจัดการปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็งและมีอาเซียนเป็นแกนกลาง ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือเรื่องสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งพวกเราสนับสนุนบทบาทที่สำคัญและสร้างสรรค์ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยอาเซียนให้ความสำคัญกับการหารือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และในบริบทนี้ อาเซียนยินดีต่อความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีมุนฯ เพื่อนำไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ในการนี้ ผมหวังว่าทุกฝ่ายจะปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันปฏิบัติตามความตกลงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ อาเซียนพร้อมใช้เวทีการหารือต่าง ๆ  ของอาเซียน โดยเฉพาะกรอบการประชุม ARF ในการอำนวยความพยายามทางสันติวิธีของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี และเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างยั่งยืน 
 
๗. และ สี่ ครอบคลุมขึ้น คือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ มากขึ้น ในบริบทความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับประธานาธิบดีมุนฯ ในประเทศไทย ๒ ครั้งเมื่อเดือนกันยายนและพฤศจิกายน โดยเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ผมกับท่านประธานาธิบดีมุนฯ ได้หารือทวิภาคีที่นครปูซาน และร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ ๓ ฉบับ ได้แก่ ความร่วมมือในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและครอบคลุมสาขาใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น  
 
๘. สุภาษิตภาษาเกาหลีที่ว่า “ในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดมีค่าไปกว่ามิตรภาพที่แท้จริง”  พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านมิตรภาพที่มีค่ายิ่งระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมา ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ ขอบคุณประชาชนสาธารณรัฐเกาหลีและอาเซียนทุกท่านที่ร่วมวางรากฐานมิตรภาพอันดีมาโดยตลอด และถึงเวลาของพวกเราที่จะต่อยอดมิตรภาพที่มีค่ายิ่งนี้ให้เหนียวแน่นมากขึ้นในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประชาคมอาเซียนและความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี 
 
๙. ท้ายที่สุด ในนามของอาเซียน ผมขอขอบคุณสาธารณรัฐเกาหลีอีกครั้ง ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดฯ ครั้งนี้ และให้การต้อนรับทุกประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างอบอุ่น และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้การประชุมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ครับ ขอบคุณมากครับ
 
๑๐. คัมซาฮัมนีดา
 
* * * * *
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ