นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเยือนเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒ - ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเยือนเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒ - ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,859 view
เมื่อวันที่ ๒ - ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง  และเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการในรอบ ๖ ปี และมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีนและร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ในระยะต่อไปบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ท่ามกลางความผันผวนของสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
 
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนได้หารือข้อราชการเต็มคณะกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรอบด้านและเห็นพ้องว่าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเป็นมิติที่โดดเด่นของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะผลักดันความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ “Connecting the Connectivities” ที่ไทยริเริ่มในฐานะประธานอาเซียนกับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีนเพื่อต่อยอดไปสู่การเชื่อมโยง กับกรอบอนุภูมิภาคอื่น ๆ และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง -  มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) โดยทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งกลไกระดับสูงเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้มีผลเป็นรูปธรรมขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้หารือกันต่อไปในเรื่องสัญญาของโครงการความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ ๑ และสนับสนุนให้ความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างไทย - จีน-ญี่ปุ่นในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบินในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นแบบอย่างในการขยายผลความร่วมมือลักษณะนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในไทยและภูมิภาค รวมทั้งจะส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนนโยบายประเทศไทย ๔.๐  นอกจากนี้ จีนแสดงความพร้อมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านขจัดความยากจน และการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้าว ผ่านช่องทางการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ด้วย
ในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจในกรอบต่าง ๆ เช่น อาเซียน - จีน แม่โขง - ล้านช้าง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งจีนได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS กลุ่มแรก และยินดีที่ประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องสามารถสรุปการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) แล้วเสร็จ และจะร่วมกันหารือประเด็นคั่งค้างเพื่อให้ลงนามความตกลงฯ ในปี ๒๕๖๓ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) อย่างมีประสิทธิภาพและครบถ้วนและการบรรลุการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติตามทะเลจีนใต้ (Code of Conduct: COC) ที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมประเด็นสำคัญภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๑ หรือก่อนหน้าด้วย
 
ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามเอกสาร ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ และนวัตกรรมระหว่าง  กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวและข้อมูลข่าวสาร ระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับสำนักข่าวซินหัว และ (๓) บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท SCG จำกัด (มหาชน) กับ Chinese Academy of Sciences Innovation Cooperation Center 
 
ในการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าเยี่ยมคารวะนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ฝากคำเชิญให้ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติของจีนเยือนไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของหน่วยงานนิติบัญญัติของทั้งสองประเทศต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ