การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,298 view

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7

 

          เมื่อวันที่  4 พฤศจิกายน 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน – สหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนลำดับต่อไป พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และนายโรเบิร์ต โอ ไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุม

            ที่ประชุมชื่นชมที่สหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาคและสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและกลไกความร่วมมือที่อาเซียนมีบทบาทนำมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนมุมมองอาเซียน ต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ในโอกาสนี้ ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แจ้งคำเชิญจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถึงผู้นำอาเซียนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษที่สหรัฐอเมริกาในปี 2563

          ที่ประชุมรับทราบถึงความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2016 – 2020 (Plan of Action to Implement the ASEAN-US Strategic Partnership 2016 – 2020) และสนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการใหม่สำหรับปี ค.ศ. ​2021 - 2025 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของการฝึกผสมร่วมทางเรือระหว่างอาเซียน – สหรัฐอเมริกา (ASEAN-US Maritime Exercise - AUMX) เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2562 และการหารืออาเซียน–สหรัฐอเมริกาด้านนโยบายไซเบอร์ ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนตุลาคม 2562

          ที่ประชุมเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมระบอบการค้าพหุภาคีอย่างเสรี มีความโปร่งใส และยึดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานสำคัญ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อข้อริเริ่ม Blue Dot Network ซึ่งเป็นแนวคิดร่วมกันของสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน ที่ประชุมเห็นพ้องให้สนับสนุนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงเพื่อความเชื่อมโยง (Connecting the Connectivities) ในภูมิภาคผ่านกลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว เช่น แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน  ค.ศ. 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)  ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาอยู่แล้ว และข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative: LMI) ซึ่งจะครบรอบการจัดตั้ง 10 ปี ในปีนี้

          ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือหลายด้าน อาทิ การจัดการภัยพิบัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสตรีและเยาวชน และความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการในระดับภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ ในทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรเกาหลี เป็นต้น

          อาเซียนและสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มความสัมพันธ์ในฐานะประเทศคู่เจรจาเมื่อปี 2520 ซึ่งต่อมาได้มีการยกระดับความสัมพันธ์มาเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เมื่อปี 2558  ปัจจุบัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - สหรัฐอเมริกา

 

…………………………..