การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,639 view

          เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาคติ และเลขาธิการอาเซียน

          ที่ประชุมได้ย้ำเน้นการสนับสนุนระบอบพหุภาคี การยึดหลักนิติธรรมบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ โดยที่ประชุมได้รับทราบว่าความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงสองปีที่ผ่านมา จึงมีเจตนารมณ์ที่จะกระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหประชาติอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น  ที่ประชุมได้รับทราบถึงความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 (ASEAN Community Vision 2025) กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ (UN 2030 Agenda for Sustainable Development)  และได้พิจารณาผลงานจากแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2016 – 2020

          ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนและสหประชาชาติได้ย้ำเจตนารมณ์ที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดนิยมรุนแรง รวมถึงความร่วมมือเพื่อบริหารการจัดการชายแดน การทูตเชิงป้องกัน ผ่านสถาบันอาเซียนว่าด้วยสันติภาพและความสมานฉันท์ (ASEAN Institute for Peace and Reconciliation - AIPR)  นอกจากนี้ เลขาธิการสหประชาชาติได้แสดงความชื่นชมที่อาเซียนเข้าร่วมการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพและความมั่นคง สหประชาชาติสนับสนุนกลไกส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) ด้วย นอกจากนี้สหประชาชาติสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผู้พลัดถิ่นในภูมิภาคด้วย

          ที่ประชุมสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  ร่วมมือเพื่อสร้างความเชื่อมโยงมากขึ้น และพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

          ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด การจัดการภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาสิ่งแวดล้อม การบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการส่งเสริมความร่วมมือผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

………………………………………