คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ งาน ASEAN Business and Investment Summit 2019

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ งาน ASEAN Business and Investment Summit 2019

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 2,624 view

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

               ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและถือเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน ASEAN Business and Investment 2019 ซึ่งสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน หรือ ASEAN-Business Advisory Council (ASEAN-BAC) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดขึ้นในวันนี้
 
               ปี 2562 ไม่เพียงแต่เป็นปีสำคัญที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน และรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 เท่านั้น แต่ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะองค์กรชั้นนำ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ยังได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีเสวนาระดับนานาชาติภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างพลังอาเซียน 4.0” เพื่อติดอาวุธทางปัญญาและปูแนวทางไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในยุคที่เรียกว่า 4.0
 
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
 
              ผมเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับนิยามของคำว่า 4.0 ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลปัจจุบัน ได้ผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น การค้า การส่งออก การลงทุนแบบ offline เพียงอย่างเดียว ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานระหว่างการค้า การลงทุน แบบ online และ offline ควบคู่กันไป ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลแล้ว โดยมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบันเป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคของประเทศ เป้าหมายสำคัญ คือ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
            ดังนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในแนวทางการดำเนินการของรัฐบาล ผมขอกล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจเอกชนได้ร่วมกันดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ดังนี้
 
             ในมิติด้านความมั่นคง รัฐบาลไทยได้หารือกับภาคเอกชนในหลายเวที โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในมิติด้านความมั่นคง ซึ่งในปัจจุบันครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง (cross-cutting Issues) อาทิ ความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงทางพลังงานและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนมีพันธกิจที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและทำให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นำปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมมาผนวกเข้าไว้ในนโยบายการสร้างความมั่นคงของประเทศ
 
            ในมิติด้านเศรษฐกิจ การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public and Private Partnership - PPP) ถือเป็นสิ่งที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งของความร่วมมือที่มีอยู่ในขณะนี้ การผลักดันโครงการ Eastern Economic Corridor หรือ EECโดยมีโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ (Megaprojects) ที่สำคัญ 4โครงการ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนที่สุดของการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนองคาพยพทางเศรษฐกิจของไทย อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ รวมถึงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง และเศรษฐกิจ BCG
 
            ในมิติด้านสังคม ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น ในด้านหนึ่ง โครงสร้างประชากรของไทยแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในเชิงบวกของคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และการสาธารณสุขของไทยที่มีมาตรฐานสูงในระดับสากล
 
                ในอีกด้านหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรเป็นปัจจัยเร่งให้ประเทศไทยต้องปรับตัวด้วยการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้เข้ามารองรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจเกิดใหม่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง การสร้างที่พักอาศัยเชิงอัจฉริยะ และการผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล
                   
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
 
                สิ่งที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะสำเร็จลงมิได้ หากขาดความร่วมมือจากภาคเอกชน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การเงิน และการธนาคาร โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ที่ความเชื่อมโยงเป็นไปอย่างอย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศสมาชิกอาเซียน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้องเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การเชื่อมโยงทางดิจิทัล การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับสังคมดิจิทัล และการส่งเสริมภาคธุรกิจ
 
             นอกจากนี้ ในยุคที่การค้าดิจิทัลขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการผลิต ช่องทางการกระจายสินค้า และการบริหาร การผสมผสานระหว่างการใช้ฐานการติดต่อผ่านดิจิทัลเพื่อกระตุ้นให้ปัจเจกบุคคลหรือผู้บริโภคเกิดความประสงค์ที่จะเข้ามาในห่วงโซ่อุปทานนั้น จำเป็นต้องใช้เครือข่ายการประกอบธุรกิจในประเทศและระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง โดยภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนและหาวิธีการทำให้ขั้นตอนในด้านการติดต่อ การนำเข้า-ส่งออก และการบริการ มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
 
              นอกเหนือจากการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางดิจิทัล รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่สำคัญที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลักดัน คือ ACMECS RCEP และ GMS ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดสำคัญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน ผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบของความร่วมมือ คือ การเชื่อมโยงกับประเทศและเขตเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งทางบก ทางทะเล และน่านฟ้า
 
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
 
             บทบาทและความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนทวีความสำคัญอย่างต่อเนื่องในการเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการพบปะหารือ การประชุมเสวนา และการนำเสนอข้อคิดเห็นในเชิงเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ให้กับภาครัฐบาลได้นำมาพิจารณาปรับใช้กับยุทธศาสตร์และแผนงานการดำเนินงาน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในการประชุมเสวนาที่จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็นในการประชุมสุดยอดในระหว่างสองวันนี้ อาทิ การหารือเรื่องอาเซียน 4.0 ในห่วงโซ่แห่งคุณค่าของโลกการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย และการพัฒนาและเสริมสร้างพลังทางความรู้ให้กับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสมาชิกอาเซียน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเสนอพัฒนาการที่เกิดขึ้นในระบบการค้าและการลงทุนของโลก รวมถึงข้อเสนอแนะในการวางยุทธศาสตร์และแผนการรองรับการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความพร้อมให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีพลวัต สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะเศรษฐกิจของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
            ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความชื่นชมกับผู้จัดงาน โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ ผมขออวยพรให้การจัดงาน ASEAN Business and Investment 2019 ประสบความสำเร็จและมีผลเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนต่อไป

            ขอขอบคุณครับ  

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ