ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,446 view

As delivered

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี
ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(High-level Meeting on Universal Health Coverage)
วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒
ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

 

 

ท่านประธาน                                    

ความสำเร็จด้านสาธารณสุขของไทยมีพื้นฐานจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ การลงทุนด้านสุขภาพเป็นการลงทุนทั้งเพื่อปัจจุบันและอนาคต ประชาชนที่มีสุขภาพดีจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่ความฝัน แต่ทำได้จริง หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ โดยทำทุกอย่างอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยมาตรการที่เหมาะสม ตามมาตรการที่มีอยู่

ท่านประธาน               

ผมขอใช้โอกาสนี้แบ่งปันประสบการณ์ของเรา ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ ๓ ประการ ดังนี้

หนึ่ง ความเท่าเทียม การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องมุ่งให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐบาลไทยได้พัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ ๗๒ ชั่วโมงในกรณีฉุกเฉิน ก่อนที่จะส่งต่อให้โรงพยาบาลของรัฐต่อไป ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและรักษาโรคซึ่งรวมถึงโรคเรื้อรังและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง

นับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคมนี้ ไทยจะขยายสิทธิประโยชน์ให้รวมถึงการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง สานต่อความสำเร็จของโครงการในพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

สอง ประสิทธิภาพ รัฐบาลไทยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราจัดสรรงบประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ แม้ว่าเราจะมีงบประมาณจำกัด เราก็ได้เพิ่มการใช้งบประมาณจากภาษีสุราและยาสูบ และสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น รวมไปถึงมาตรการทางการเงินสมัยใหม่ กองทุนเงินสะสม เพื่อดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่าต่อไป

สาม การมีส่วนร่วม หัวใจสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืนคือการมีส่วนร่วม
จากทุกภาคส่วนในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตามแนวทางประชารัฐ ให้ทุกฝ่ายรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เน้นการส่งเสริมบริการสุขภาพในระดับ
มูลฐานที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลางเพื่อจะลดการเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

ท่านประธาน                                    

ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดียิ่งขึ้น ให้ประชากรทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชายขอบ พัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยี และระบบออนไลน์ในการปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลใหญ่ และลดภาระในการเดินทาง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในโรงพยาบาล มีการจัดชุดแพทย์หมอครอบครัวต่อประชากรสามหมื่นคนทั่วประเทศ การดูแลผู้ป่วยติดเตียง การรับยาหลังจากที่ได้รับใบสั่งยาจากหมอเพื่อไปรับยาตามร้านที่มีเภสัชกรเพื่อลดเวลาการรอคอยการจ่ายยา  เพื่อให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อจะลดภาระในการรอคอย และความอึดอัดในโรงพยายาลใหญ่ให้ได้มากที่สุดด้วยการแก้ปัญหาที่ระบบปฐมภูมิ

ประเทศไทยพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม และจะร่วมมือกับทุกหุ้นส่วนเพื่อขับเคลื่อนให้ประชากรโลกมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นไปด้วยกัน เราให้ความสำคัญกับระบบปฐมภูมิ โดยการให้คนออกกำลังกาย ไม่เป็นโรค ไม่บริโภคอาหารที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะลดภาระการใช้จ่ายทางสุขภาพและของโรงพยาบาลต่อไป

ขอบคุณครับ