ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ในนามประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับการประชุม United Nations Climate Action Summit 2019 วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ในนามประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับการประชุม United Nations Climate Action Summit 2019 วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,556 view

As delivered

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี
ในนามประเทศสมาชิกอาเซียน
สำหรับการประชุม United Nations Climate Action Summit 2019
วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

ท่านเลขาธิการสหประชาชาติ
ท่านประธานสมัชชาสหประชาชาติ
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
สุภาพสตรี สุภาพบุรุษ

ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้กล่าวแถลงการณ์นี้ในนามของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศอาเซียนมีความยินดีต่อการจัด Climate Action Summit ในวันนี้ ขอชื่นชมท่านเลขาธิการสหประชาชาติที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง วันนี้วิกฤตเกิดขึ้นทั้งทางอากาศ ทางน้ำ อุณหภูมิสูงขึ้น อากาศแปรปรวน ซึ่งมีผลกระทบต่อเรื่องภัยแล้ง อุทกภัยต่าง ๆ ด้วย

สำหรับอาเซียนนั้นมีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่อยู่ในระดับต่ำและที่ราบลุ่มแม่น้ำ และผลกระทบที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค ดังนั้น เราจึงเร่งเสริมสร้างภูมิต้านทานผ่านการดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเตรียมพร้อมในปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อาเซียนมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลกอย่างแข็งขัน ในทุกระดับ

ในระดับโลก อาเซียนสนับสนุนความพยายามในการแก้ปัญหาภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้เข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส และได้ประกาศการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) แล้ว

ในระดับภูมิภาค อาเซียนได้ดำเนินมาตรการยุทธศาสตร์ภายใต้แผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ๒๐๒๕ เพื่อมุ่งสู่การมี สภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน” และชุมชนที่มีภูมิต้านทาน โดยต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ว่าเราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาตินี้ได้อย่างไร โดยมีเป้าหมายที่สำคัญประกอบด้วย

(๑) เป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อาเซียนได้บรรลุเป้าหมายของภูมิภาคในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานมากกว่าร้อยละ ๒๑.๙ เมื่อเทียบกับปี ๒๐๐๕ ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับปี ๒๐๒๐ แล้ว และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานลงร้อยละ ๓๐ ให้ได้ภายในปี ๒๐๒๕ และได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ ๒๓ ภายในปี ๒๐๒๕ ด้วย

(๒) เป้าหมายด้านการขนส่งทางบก อาเซียนมุ่งลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ยของยานพาหนะใหม่ขนาดเล็กที่จำหน่ายในอาเซียนลงร้อยละ ๒๖ ระหว่างปี ๒๐๑๕ ถึง ๒๐๒๕  นอกจากนี้ ยังจะเสริมสร้างมาตรการนโยบายการคลังบนพื้นฐานการประหยัดพลังงานหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับประเทศ และส่งเสริมการประกาศมาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะขนาดเล็กของแต่ละประเทศ เพื่อจะมุ่งสู่มาตรฐานระดับภูมิภาคในระยะยาวต่อไป

อาเซียนเน้นย้ำความเชื่อมโยงทางตรงระหว่างการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและกลไกสนับสนุน ทั้งในด้านการเสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสนับสนุนทางการเงิน วันนี้ถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศพัฒนาแล้วในการดำเนินการตามคำมั่นด้านการสนับสนุนทางการเงิน และเราหวังว่า จะเห็นสัญญาณทางการเมืองที่เข้มแข็งในการเพิ่มเงินทุนสนับสนุนอย่างมั่นคง ประมาณการได้ และยั่งยืน ภายหลังปี ๒๐๒๐ ด้วย

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

จากรายงานพิเศษของ IPCC เตือนว่า เวลาสำหรับการดำเนินการเพื่อจะหลีกเลี่ยงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปอย่างถาวรเหลือน้อยลงทุกที เราต้องตระหนักว่าไม่มีประเทศใดที่จะสามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพียงลำพัง เราจะต้องก้าวไปด้วยกัน

เราจะต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการด้วยความร่วมมือทั้งทวิภาคี ไตรภาคี หรือมาตรการที่เกี่ยวเนื่องยึดโยงกับภูมิภาคไปด้วยกัน กลไกภายในประเทศ มาตรการทางภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเดินไปได้ช้า สิ่งที่ประเทศไทยและอาเซียนมีประสบการณ์ในเรื่องนี้คือ การขับเคลื่อนด้วยกลไกประชารัฐ ประกอบไปด้วยรัฐ ประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน ที่จะร่วมมือกันในการสรรหามาตรการที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของสหประชาชาติในการลดการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิและระดับน้ำทะเล ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีมากในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งกับภาคธุรกิจเอกชนคือ เราต้องยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีสามหลักการที่สำคัญด้วยกันคือ การเคารพ การคุ้มครอง และเยียวยา ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ด้วย

ขอขอบคุณ