นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑ - ๓ กันยายน ๒๕๖๒

นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑ - ๓ กันยายน ๒๕๖๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,631 view

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในโอกาสการแถลงข่าวร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี

วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล

* * * * *
 
ฯพณฯ มุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี
รองนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรี แขกผู้มีเกียรติ
และสื่อมวลชนทุกท่าน
 
ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับท่านประธานาธิบดีมุน แช-อิน และภริยาในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล การเยือนครั้งนี้ นับเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำเกาหลีใต้ในรอบ ๗ ปี อีกทั้งเกิดขึ้นในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน จึงเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับทั้งสองประเทศในการพัฒนาความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างกันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและตอบสนองเป้าหมายและนโยบายของทั้งสองประเทศ รวมทั้งในการส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคโดยรวม ขอเรียนว่าในการเยือนไทยครั้งนี้ ท่านประธานาธิบดีได้นาคณะภาคเอกชนจากเกาหลีใต้จำนวนกว่า ๒๐๐ คนมาเข้าร่วมงานสัมมนาทางธุรกิจไทย -เกาหลีใต้ ซึ่งท่านประธานาธิบดีและผมจะร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงานช่วงบ่ายนี้
 
เมื่อสักครู่ท่านประธานาธิบดีและผมได้พบปะหารือกันแบบเต็มคณะ ซึ่งก็ได้หารือกันอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับเกาหลีใต้ในระยะต่อไป โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ไทยและเกาหลีใต้ยังคงมีศักยภาพอีกมากในการพัฒนาความสัมพันธ์และร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน
 
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ในสภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน โดยเฉพาะจากผลกระทบของสงครามการค้า จึงควรมองหาโอกาสและเพิ่มการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาคให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้บรรลุข้อสรุปภายในปีนี้ ในการนี้ ผมได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะยานยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ และดิจิทัล โดย EEC จะสามารถเป็นฐานรองรับการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน โดยผมได้เสนอให้ EEC และสานักงานส่งเสริมการค้าการลงทุนเกาหลี (KOTRA) พิจารณาจัดทำกรอบความร่วมมือระหว่างกันเพื่อรองรับการลงทุนของเกาหลีใต้ และยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ความร่วมมือระบบราง และด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔ เช่น ความร่วมมือด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ 5G และไทยยินดีที่เกาหลีใต้สนใจลงทุนในโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของไทย และเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ตกลงกันไว้ให้มีผลเป็นรูปธรรม  
 
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงที่จะรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย – เกาหลีใต้ (KOTCOM) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเป็นประธาน โดยจัดการประชุมฯ ภายในปีนี้
 
ด้านความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง และการทหาร ทั้งสองประเทศเห็นชอบเพิ่มปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงมากขึ้น และพัฒนากลไกหารือทวิภาคีทางยุทธศาสตร์ ระหว่างกัน นอกจากนี้ ผมยินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีชั้นความลับร่วมกัน ซึ่งสะท้อนถึงความไว้เนื้อเชื้อใจระหว่างสองฝ่าย
 
ด้านความร่วมมือในระดับประชาชน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต่อยอดความร่วมมือด้านนี้ ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงและโดดเด่นในความสัมพันธ์ไทย -เกาหลีใต้ ได้แก่ ความร่วมมือด้านภาพยนตร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจัดตั้งศูนย์ศึกษาเกาหลีในไทยและการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในไทย เมื่อสักครู่ก็ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาเกาหลี ซึ่งจะช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยและเตรียมความพร้อมสาหรับการรองรับธุรกิจการค้าการลงทุนจากเกาหลีใต้ในอนาคต
 
สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางไปทางานในเกาหลีใต้นั้น ผมย้ำกับท่านประธานาธิบดีมุนฯ ว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนให้แรงงานไทยเดินทางไปทางานในเกาหลีใต้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจจัดส่งแรงงานไปทางานในเกาหลีใต้ตามระบบจ้างแรงงานต่างชาติระหว่างสองประเทศที่มีอยู่ และไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับเกาหลีใต้เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย
 
ด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค ผมยินดีที่เกาหลีใต้สนับสนุนบทบาทการเป็นประธานอาเซียนของไทยและความเป็นแกนกลางของอาเซียน ปีนี้ครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน -เกาหลีใต้ ผมยินดีที่จะได้เป็นประธานร่วมกับท่านประธานาธิบดี ในการประชุมสุดยอดอาเซียน -เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ ที่นครปูซาน นอกจากนี้ ยินดีที่เกาหลีใต้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS และหวังอย่างยิ่งว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถจัดทาแผนงานร่วมเพื่อการพัฒนา (Joint Development Plan) ระหว่าง ACMECS กับเกาหลีใต้ได้โดยเร็ว
 
 
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณท่านประธานาธิบดีมุนฯ ในมิตรภาพและชื่นชมกับความมุ่งมั่นของท่านที่จะพัฒนาความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ให้มีความหมายต่อสองประเทศ ประชาชนและภูมิภาคโดยรวม โดยผมพร้อมร่วมมือกันท่านประธานาธิบดีมุนฯ เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้รุดหน้าก้าวไกลต่อไป
 
ขอบคุณครับ
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ