ไทยกับเมียนมาเร่งหาทางออกอย่างยั่งยืนสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา

ไทยกับเมียนมาเร่งหาทางออกอย่างยั่งยืนสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.พ. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,562 view

เมื่อวันที่ ๑๐ - ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ U Kyaw Tin Shein รองอธิบดีกรมการกงสุลและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของเมียนมา พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ได้เดินทางลงพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ๓ แห่ง ในจังหวัดตาก ได้แก่ บ้านแม่หละ บ้านอุ้มเปี้ยม และบ้านนุโพ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้ประสานงานกลางของการส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ได้อำนวยความสะดวกคณะดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าร่วมเดินทางด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่สนใจร่วมกัน

การตรวจเยี่ยมพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของคณะผู้แทนระดับสูงของเมียนมาในรอบ ๓๐ กว่าปี โดยคณะได้พบปะและพูดคุยกับผู้หนีภัยการสู้รบฯ ในประเด็นสำคัญและข้อห่วงกังวลต่าง ๆ อาทิ ความปลอดภัย ที่พักอาศัย การศึกษาสำหรับเด็กผู้หนีภัยการสู้รบฯ และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ นอกจากนี้ คณะผู้แทนเมียนมายังได้สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบฯ ถึงความพร้อมของรัฐบาลเมียนมาในการรับผู้หนีภัยการสู้รบฯ กลับไปพำนักในเมียนมาอย่างปลอดภัย รวมทั้งแจ้งให้ทราบถึงมาตรการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนผู้หนีภัยการสู้รบฯ ที่เดินทางกลับมาตุภูมิแล้ว

ภารกิจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลเมียนมาในการแสวงหาแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการเร่งรัดกระบวนการการส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบฯ ซึ่งที่ผ่านมาไทยและเมียนมาได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมา ไทยและเมียนมาได้ส่งผู้หนีภัยการสู้รบฯ กลับเมียนมาโดยสมัครใจมาแล้วรวม ๑,๐๓๙ คน โดยได้รับการสนับสนุนและการอำนวยความสะดวกจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM)

ประเทศไทยให้การดูแลผู้หนีภัยการสู้รบฯ ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ รวม ๙ แห่ง มาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี และได้ร่วมกับองค์กรภาคเอกชนและองค์กรให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ดำเนินโครงการส่งเสริมสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หนีภัยการสู้รบฯ ในหลากหลายสาขา อาทิ การถนอมอาหาร เกษตรอินทรีย์ และการผลิตของใช้ภายในบ้าน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางกลับมาตุภูมิ