เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่วัดไทยนอร์เวย์ เนื่องในวันปิยมหาราช

เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่วัดไทยนอร์เวย์ เนื่องในวันปิยมหาราช

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 3,078 view

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 นางสาวกานติมน รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่วัดไทยนอร์เวย์ เนื่องในวันปิยมหาราช โดยได้เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนำผู้เข้าร่วมพิธี ร่วมยืนสงบนิ่งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และชุมชนไทยเข้าร่วมด้วย หลังจากนั้น ได้เป็นประธานในพิธีบวงสรวง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 23 ตุลาคม  

ในพิธีเปิดนิทรรศการ ‘การเดินทางของนาย Carl Bock สู่สยามประเทศ’ เอกอัครราชทูตฯ ได้ร่วมตัดริบบิ้นเพื่อเปิดนิทรรศการฯ ซึ่งได้จัดแสดงพระพุทธรูปสยามโบราณจำนวน 5 รูป ที่ได้อัญเชิญมาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรม (Museum of Cultural History) กรุงออสโล และหนังสือเก่าของนาย Carl Bock ที่ได้จัดพิมพ์ในภาษาต่างๆ จากพิพิธภัณฑ์ฯ โดยมีนาย Jørgen Vik นายกเทศมนตรีเมือง Lillestrøm Dr. B. Bala Bhaskar เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศนอร์เวย์นาย Håkon Glørstad ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาตร์ด้านวัฒนธรรม นาย Egil Lothe ประธานสมาคมชาวพุทธแห่งนอร์เวย์ และคุณแม่สมจิตต์ เบอร์ก ประธานสมาคมชาวพุทธไทย ร่วมตัดริบบิ้นด้วย หลังจากนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ และฟังปาฐกถาโดยนาย Arild Engelsen Ruud อาจารย์จากมหาวิทยาลัยออสโล เรื่อง ‘การเดินทางสู่สยามของนาย Carl Bock ครบ 140 ปี’ หลังจากนั้น ได้ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลามิตรภาพไทย-นอร์เวย์ และร่วมตักบาตรเทโวโรหณะ วันออกพรรษา ก่อนร่วมรับประทานอาหารกับชุมชนไทย ซึ่งเป็นโอกาสให้เอกอัครราชทูตฯ ได้ให้ตอบคำถามด้านกงสุล

ในการกล่าวปาฐกถา อาจารย์ Ruud ได้กล่าวว่า นาย Carl Bock ได้เก็บรวมรวมข้อมูลด้านการเมือง สังคม ความเป็นอยู่ของชาวสยามในขณะนั้นเป็นอย่างดี โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวสยามในภาคเหนือ และชื่นชมพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าในหลากหลายด้าน เช่น การยกเลิกระบบทาส การจัดระบบการศึกษาแผนใหม่ให้ราษฎรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม และการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและโทรคมนาคม โดยให้ความเห็นว่า ความก้าวหน้าของประเทศไทยในขณะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับอิทธิพลของชาติตะวันตก

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ และนายกเทศมนตรีเมือง Lillestrøm ได้ร่วมวางแผ่นป้ายศิลาฤกษ์ที่เจิมโดยพระวิมลศาสนวิเทศ เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมในพิธี ชุมชนไทยได้วางแผ่นทอง และนำตอกไม้มงคล 9 อย่างโปรยในแผ่นป้ายศิลาฤกษ์ ด้วย

สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอน้อมนำบุญมาฝากพี่น้องชาวไทยในนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ และพี่น้องของเราในประเทศไทยทุกท่านค่ะ เป็นที่น่ายินดีที่อีกไม่นานเราจะมีศาลาไทย มิตรภาพไทย-นอร์เวย์ ที่วัดไทยนอร์เวย์ ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์และมิตรภาพที่งดงามระหว่างไทยกับนอร์เวย์อันยั่งยืน และน่าเชิดชูสืบต่อไปค่ะ 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ