เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านธุรกิจของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ของสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย

เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านธุรกิจของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ของสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,438 view

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านธุรกิจของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก (Indo-Pacific Business Summit) ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดแบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 6 - 9 กรกฎาคม 2564 โดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการช่วยส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าการลงทุน และการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนของอินเดียและประเทศในภูมิภาค การประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมในระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเอกอัครราชทูตประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกประจำอินเดีย และภาคเอกชน ทั้งสิ้นกว่า 2,500 คน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียกล่าวเปิด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียเป็นประธานในช่วงการประชุมใหญ่สมัยพิเศษ

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีได้กล่าวถ้อยแถลงช่วงการประชุมหัวข้อ Promoting Trade Facilitation in the Indo-Pacific through Improved Cross Border Linkages and Trade Infrastructure โดยได้เสนอว่าการที่จะ  คงรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ-การค้าของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ไว้ได้นั้น จำเป็นต้องดำเนินการใน 2 ส่วน คือ (1) การช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยภาครัฐมีบทบาทนำ โดยต้องมีนโยบายใหม่ที่มีความสร้างสรรค์ และอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาในการส่งเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคในช่วงที่การไปมาหาสู่ระหว่างกันทำได้อย่างยากลำบากและเศรษฐกิจชะลอตัว โดยได้แบ่งปันประสบการณ์ของภาครัฐไทย เช่น การปรับการให้บริการโดยใช้ระบบแชทออนไลน์รักษาการติดต่อกับผู้ประกอบการ และการจัดสัมมนา/ฝึกอบรมออนไลน์เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการของกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งบทบาทสถานเอกอัครราชทูต/สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในอินเดียที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบ/วิธีการเพื่อส่งเสริมโอกาสการค้าให้ต่อเนื่องผ่านแบบออนไลน์และกึ่งออนไลน์ (Hybrid) ร่วมกับผู้ส่งออก ในด้าน business matching เป็นต้น รวมทั้งความริเริ่มส่งเสริมภาพลักษณ์มาตรฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารไทยผ่านโครงการ Thailand Deliver With Safety ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าสินค้าไทยในต่างประเทศ  และ (2) การลดต้นทุนทางการค้า โดยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศ ทั้งทางบกและทะเล ซึ่งมีการริเริ่มอยู่แล้วในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ BIMSTEC ACMECS GMS โดยทั้งสองประเทศยังสามารถร่วมมือกันได้อีกมากเพื่อขับเคลื่อนให้โครงการต่างๆ เดินหน้า ซึ่งหากแล้วเสร็จนอกจากจะช่วยเชื่อมโยงการค้าระหว่างไทยและอินเดีย แต่ยังเชื่อมอินเดียสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผ่านประเทศไทยที่เป็นเสมือนประตูสู่ภูมิภาค อาทิ โครงการ India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway Project แผนงานด้านการขนส่งในกรอบ GMS รวมถึง Master Plan on Transport Connectivity และการเชื่อมโยงท่าเรือของอินเดียและไทยระหว่างเมืองกัลกัตตา เมืองเจนไน เมืองวิสาขปัตนัมของอินเดีย กับท่าเรือระนองของไทย

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ