ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ ๑๘ ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ ๑๘ ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ต.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,016 view
เมื่อวันที่ ๒๕ – ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ ๑๘ (XVIII Summit of Heads of State and Government of the Non-Aligned Movement (NAM)) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยมีประมุข ผู้นำ และผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิก ประเทศผู้สังเกตการณ์ และองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงนายทิจจานี มูฮัมหมัด-บานเด ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๔ และนางโรสแมรี่ เอ ดิคาร์โล รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านการเมืองและการสร้างสันติภาพ เข้าร่วมด้วย 
 
หัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ คือ “NAM Baku Summit: Upholding the Bandung Principles to ensure concerted and adequate response to the challenges of contemporary world” โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในระดับโลกและภูมิภาค อาทิ การเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน การปฏิรูปสหประชาชาติ เป็นต้น โดยที่ประชุมได้รับรองเอกสารสุดท้าย (Final Document) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม และปฏิญญากรุงบากู (Baku Declaration) 
 
ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมระดับผู้นำ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งระบอบพหุภาคี การเคารพกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ และการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศในการตอบสนองต่อข้อท้าทายต่าง ๆ ในโลกปัจจุบัน เช่น ความไม่เท่าเทียม การข่มขู่คุกคาม และการดำเนินการฝ่ายเดียว (unilateralism) เป็นต้น รวมทั้ง    เน้นย้ำความสำคัญของเคารพหลักการบันดุง (Bandung Principles) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และการส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินการ พลวัต และความข้องเกี่ยวของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที
 
NAM ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๕๐ - ๑๙๖๐ ขณะที่โลกอยู่ในยุคสงครามเย็น โดยเริ่มการประชุมที่กรุงโคลัมโบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ (ค.ศ. ๑๙๕๔) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศในขณะนั้น และมีประเทศที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้น จนมีการประชุมสุดยอดผู้นำเป็นครั้งแรกที่กรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ (ค.ศ. ๑๖๙๑) ปัจจุบัน NAM มีประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๒๐ ประเทศ ประเทศผู้สังเกตการณ์ ๑๗ ประเทศ และองค์กรผู้สังเกตการณ์ ๑๐ องค์กร โดยไทยเข้าเป็นสมาชิก NAM เมื่อ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๖ (ค.ศ. ๑๙๙๓) และส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ของกลุ่มฯ มาโดยตลอด โดยการประชุม NAM Summit เป็นการประชุมระดับสูงสุดของกลุ่มฯ จัดขึ้นทุก ๓ ปี