นายกรัฐมนตรีมีสารแสดงความยินดีถึงนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓

นายกรัฐมนตรีมีสารแสดงความยินดีถึงนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,535 view

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีสารแสดงความยินดีถึงนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ดังนี้
 

- คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ –
สารแสดงความยินดีจากนายกรัฐมนตรี
ถึงนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓

* * * * *

ฯพณฯ

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะครบรอบ ๔๕ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ในโอกาสพิเศษอันเป็นมงคลนี้ ในนามของรัฐบาลและประชาชนแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าพเจ้าถือเป็นเกียรติที่จะส่งคำอวยพรอย่างจริงใจมาถึงท่าน และผ่านท่านไปยังรัฐบาลและประชาชนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและท่านที่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งสองประเทศ 

เมื่อมองย้อนกลับไปบนเส้นทางแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน นับเป็นความพิเศษที่ทั้งสองประเทศได้แบ่งปันความทรงจำอันล้ำค่าและฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากลำบากร่วมกัน สิ่งนี้ได้ช่วยหล่อหลอมเป็นความผูกพันอันใกล้ชิดและลึกซึ้งระหว่างไทยกับจีนที่ไม่เพียงครอบคลุมความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลกลาง แต่ยังได้ขยายไปสู่รัฐบาลระดับมณฑล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนของพวกเรา ความสัมพันธ์พิเศษนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับคำกล่าวในภาษาจีนที่ว่า “ไทยกับจีนใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน” (Zhong-Tai Yi Jia Qin)

ตลอดระยะเวลา ๔๕ ปีที่ผ่านมา ไทยกับจีนได้ร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ให้มีความก้าวหน้าอย่างเด่นชัด อันนำมาซึ่ง “การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "นโยบายจีนเดียว" 
ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อสันติภาพ 
ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา ผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงไทยและจีนต่างมีมิตรไมตรีต่อกันและติดต่อสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งได้กระชับให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือน ในด้านเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ปริมาณการค้าทวิภาคีได้เพิ่มขึ้นถึง ๓,๐๐๐ เท่า ขณะที่การลงทุนสะสมระหว่างกันมีมูลค่ามากกว่า ๑๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วนมากที่สุดในจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเยือนไทย ทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันและภายในภูมิภาคผ่านโครงการความร่วมมือรถไฟไทย - จีน เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย 4.0 ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนก็มีพลวัตเช่นกัน โดยมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา กีฬา และวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและมิตรภาพระหว่างสองประเทศ การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับจีนยังครอบคลุมความร่วมมือในกรอบอาเซียน - จีน กรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง และกรอบ ACMECS รวมทั้งเวทีพหุภาคีอื่น ๆ ในการนี้ ไทยสนับสนุนบทบาทอันสร้างสรรค์และในเชิงรุกของจีน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่จะแสดงบทบาทของจีนในฐานะประเทศมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบในเวทีระหว่างประเทศ

ขณะที่เรากำลังก้าวสู่ความสัมพันธ์ในทศวรรษถัดไป ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นที่ไทยและจีนจะร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายที่เราจะต้องเผชิญด้วยจิตวิญญาณแห่งมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของรัฐบาลไทยที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อยกระดับและขยายขอบเขตของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านต่อไป

ขอแสดงความนับถือ


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ