การพิจารณาการนำเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) เป็นมรดกโลก

การพิจารณาการนำเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) เป็นมรดกโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 785 view

คณะผู้แทนไทย นำโดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสและผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก และนางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๓ ระหว่างวันที่ ๓๐ มิถุนายน – ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่ประชุมคณะกรรมการได้พิจารณาข้อเสนอของไทยให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยได้รับทราบถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของไทยในการดำเนินการตอบข้อห่วงกังวลที่คณะกรรมการเคยมีในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๔๐ เกี่ยวกับการนำเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทั้งนี้ ความก้าวหน้าที่สำคัญในเรื่องนี้ได้แก่ การที่ไทยและเมียนมาสามารถบรรลุความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับพื้นที่ของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งไทยได้ปรับตามข้อกังวลของเมียนมา นอกจากนี้ ข้อมติเดียวกันของคณะกรรมการยังรับทราบ และการที่ไทยมีกฎหมายใหม่เพื่อให้สิทธิสำหรับชุมชนในท้องถิ่นในประเทศไทยซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญ โดยเฉพาะการประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ อย่างไรก็ดี การปรับลดพื้นที่นำเสนอดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อข้อมูลด้านเทคนิคเกี่ยวกับแหล่งที่ไทยนำเสนอ โดยเฉพาะในประเด็นการศึกษาวิเคราะห์ด้านคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ของแหล่งที่ปรับขอบเขตแล้ว รวมถึงการแสดงข้อมูลด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่สำหรับการนำเสนอแหล่งดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มีมติส่งเรื่องดังกล่าวกลับมาให้ไทยดำเนินการเพื่อส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้คณะกรรมการพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป

ในการประชุมคณะกรรมการครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาสามปีจนสามารถแก้ไขประเด็นปัญหาที่คั่งค้างและผลักดันให้มีพัฒนาการสำคัญในที่สุด ส่วนประเด็นที่ไทยยังต้องแก้ไขในลำดับต่อไป เป็นประเด็นทางเทคนิคที่มีขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ ดังนั้น ในภาพรวม แม้ว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานจะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกครั้งนี้ ไทยก็ได้ดำเนินการมาถึงจุดที่ก้าวข้ามพ้นประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญแล้ว ยังเหลือก็เพียงประเด็นทางเทคนิคที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้สามารถนำเสนอที่ประชุมพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการในโอกาสต่อไป

การดำเนินการที่ผ่านมาไม่ได้มุ่งหวังเพียงการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ฝ่ายไทยได้ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ มีความภาคภูมิใจและได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์และปกป้องในระยะยาวอย่างยั่งยืน

กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่มีคุณค่าโดดเด่นในระดับโลก คณะกรรมการได้พิจารณาการเสนอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานของไทยเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกครั้งแรกปี ๒๕๕๘ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๐ เมื่อปี ๒๕๕๙ ได้มีมติส่งการเสนอแหล่งดังกล่าวกลับมาให้ไทยเพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงในกลุ่มป่าแก่งกระจาน รวมถึงแนะนำให้ไทยหารือกับเมียนมาเรื่องขอบเขตพื้นที่การนำเสนอเพื่อคลายความกังวล

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ คณะผู้แทนไทยได้เชิญผู้แทนประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม Thai Night โดยกิจกรรมสำคัญในงานดังกล่าว ได้แก่ การกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมโดยคุณสิริกิติยา เจนเซน และการกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ของไทยโดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เพื่อขอรับการสนับสนุนในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการมรดกโลกวาระปี ๒๕๖๒-๒๕๖๖ ของไทย

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ ได้มีวาระรับรองการบรรจุเมืองโบราณศรีเทพ และกลุ่มปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกจะสามารถได้พิจารณาแหล่งดังกล่าวเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในโอกาสต่อไปนอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้พิจารณาสถานภาพการอนุรักษ์นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาด้วย

อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) หรือ “อนุสัญญามรดกโลก”มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษาความโดดเด่นทางธรรมชาติและวัฒนธรรมไว้สำหรับคนรุ่นหลัง ปัจจุบันมีรัฐภาคี ๑๙๓ ประเทศ ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อปี ๒๕๓๐ และมีแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ๕ แหล่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่