การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ ๑

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ ๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 454 view
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนายสก สีพันนา ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา เป็นประธานร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ACMECS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาครั้งที่ ๑ (ACMECS Inaugural Senior Officials’ Meeting with Development Partners) ซึ่งจัดคู่ขนานกับ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิก ACMECS และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเข้าร่วม
 
      การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่าง ACMECS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มแรก (กลุ่มที่ ๑) จำนวน ๖ ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี  สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน และอินเดีย ในลักษณะแยกรายประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองการเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS และนำเสนอร่างแผนปฏิบัติการ เพื่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน (Joint Development Plan) อย่างเป็นทางการ โดยร่างเอกสารดังกล่าวมี วัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ACMECS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา รวมทั้งแผนการ ดำเนินการในระยะต่อไป
 
      ในโอกาสนี้ หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้ง ๖ ประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงที่สะท้อนเจตนารมณ์ในการพัฒนาความร่วมมือกับ ACMECS และสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับโครงการเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. ๒๐๑๙ - ๒๐๒๓) และความต้องการที่แท้จริงของอนุภูมิภาค อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนา การศึกษา การบริหารจัดการน้ำ การส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
 
      การประชุมครั้งนี้นับว่าสะท้อนความก้าวหน้าและความสำเร็จของ ACMECS ในการปรับภาพลักษณ์กรอบความร่วมมือให้มีความเปิดกว้าง ทันสมัย และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ผ่านการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจและการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคที่มีอยู่เดิม ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่เล็งเห็นว่า ACMECS จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างอนุภูมิภาคที่มีความสมดุล มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
 
      อนึ่ง ไทยเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ACMECS เมื่อปี ๒๕๔๖ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย และมีกลไกการขับเคลื่อนโดยการประชุมระดับผู้นำ รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโสและคณะทำงาน โดยไทยมีบทบาทหลักในฐานะผู้ประสานงานระหว่าง ACMECS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และกัมพูชาเป็นประธาน ACMECS สาหรับวาระปัจจุบัน (๒๕๖๒)