ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,901 view

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันศุกร์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น.

ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

 

๑.  สารแสดงความยินดีจากนายกรัฐมนตรีในพิธีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโจเซพ ไบเดน

  • เมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔ นายกรัฐมนตรี ได้มีสารแสดงความยินดีถึงประธานาธิบดีไบเดน โดยย้ำถึงมิตรภาพไทย-สหรัฐฯ ที่ยาวนานกว่า ๒๐๐ ปี แสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประธานาธิบดีไบเดนและรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างพลวัตความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมหลากหลายมิติใน ทุกระดับ ตลอดจนการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ
  • ด้านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไทยต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต้องเห็นคุณค่าของกันและกันและเดินหน้าไปด้วยกัน การดำเนินนโยบายการต่างประเทศกับประเทศต่าง ๆ ของไทย อย่างสมดุลจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-สหรัฐฯ และบทบาทของไทยในการเชื่อมประสานให้สหรัฐฯ ได้มีความสัมพันธ์กับหลายประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อจรรโลงสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญก้าวหน้าของทุกประเทศ
  • Prime Minister Prayut Chan-o-cha sent a congratulatory letter to President Joseph Biden on the occasion of the latter’s inauguration, stressing more than 200 years of friendship between Thailand and the US, Thailand’s status as the US’ first and oldest treaty partner in Asia and readiness to work with President Biden and his Administration to reinvigorate the long-established Thailand-US relations and multi-faceted cooperation in all levels as well as to walk side by side with the US in dealing with challanges.

 

๒.  ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat)

  • เมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกของการเป็นประธานอาเซียนของบรูไนภายใต้หัวข้อหลัก “We Care, We Prepare, We Prosper”
  • ที่ประชุมได้หารือการสานต่อยอดผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ โดยเฉพาะการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อาทิ การใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ (COVID-19 ASEAN Response Fund) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทยในการจัดหาวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญในอาเซียน
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดัน สานต่อการดำเนินการตามข้อริเริ่มของไทยในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเชื่อมโยง (connectivity) ในภูมิภาคภายใต้ข้อริเริ่ม Connecting the Connectivities และการดำเนินการให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
  • นอกจากนี้ ได้เสนอให้ใช้แนวคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) เป็นยุทธศาสตร์ทางเลือกหนึ่ง เพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนในยุคหลังโควิด-๑๙ ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการได้เห็นชอบให้ไทยเป็นผู้ดำเนินงานแทนอาเซียนในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้แนวคิด BCG สำหรับอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับการผลักดัน BCG เป็นวาระแห่งชาติของนายกรัฐมนตรี รวมถึงการกำหนดให้ BCG เป็นวาระประธานของไทยในโอกาสการเป็นประธาน BIMSTEC และเจ้าภาพ APEC ด้วย
  • นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific)สถานการณ์ในภูมิภาค ทั้งในรัฐยะไข่ ทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลีด้วย
  • สถานการณ์ในรัฐยะไข่ รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาได้รายงานต่อผลการประชุม สามฝ่ายเมียนมา-บังกลาเทศ-จีน อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (๑) เมียนมาและบังกลาเทศเห็นชอบที่จะเร่งรัดกระบวนการส่งกลับผู้พลัดถิ่น โดยเริ่มจาก ๒ กลุ่ม คือ ผู้พลัดถิ่นที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศ และผู้พลัดถิ่นที่ได้รับการยืนยันถิ่นพำนักจากทางการเมียนมาแล้ว (ประมาณ ๒๘,๐๐๐ คน) ซึ่งรวมถึงผู้พลัดถิ่นที่นับถือศาสนาฮินดู และ (๒) ฝ่ายจีนจะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในพื้นที่รวมทั้งการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้พลัดถิ่นที่จะเดินทางกลับชุดแรก
  • ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีบทบาทในการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืนและอำนวยความสะดวกให้เกิดกระบวนการส่งกลับผู้พลัดถิ่น ผ่านการดำเนินงานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินโครงการตามสาขาเร่งด่วนที่ระบุในรายงานประเมินความต้องการเบื้องต้น (Preliminary Need Assessment: PNA) รวม ๓ โครงการ ได้แก่ (๑) การจัดหาเครื่องอ่านชีวมาตร เพื่อเร่งกระบวนการพิสูจน์สัญชาติในพื้นที่พักพิง (๒) การสนับสนุนอุปกรณ์การเกษตร และ (๓) การสนับสนุนการขุดหรือปรับปรุงบ่อเลี้ยงปลาและกุ้ง

๓. ผลการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๗ (17th Ministerial Meeting of the Asia Cooperation Dialogue - ACD)

  • เมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๗ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีตุรกีเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ“The New Normal and Healthy and Safe Tourism” โดยได้ย้ำให้ประเทศสมาชิกใช้ความโดดเด่นของ ACD ที่มีสมาชิก ๓๕ ประเทศจากทุกภูมิภาคของเอเชีย ในการยกระดับความร่วมมือเพื่อมุ่งไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-๑๙ และการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน ฝ่ายไทยได้ผลักดันความร่วมมือ ๒ ด้าน ได้แก่ (๑) ความมั่นคงด้านสุขภาพ ภายใต้แนวคิดการสร้าง 3H-Society คือ ประชาชนสุขภาพดี (Healthy) ระบบเศรษฐกิจมีมาตรฐานสูง (High Standard) และสังคมมีสุขอนามัยและสะอาด (Hygienic) เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอย่างยั่งยืน (๒) ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานและน้ำ เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ควบคู่กับการปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

 

๔. ผลการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)

  • เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๔ นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเอเปคฯ ซึ่งไทยกำหนดเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๖๕ โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ภาครัฐและภาคเอกชนบูรณาการการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนไทยในทุกภาคส่วน จะได้รับ และเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ในยุคหลังโควิด-๑๙ ตลอดจนการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
  • ที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบ ๓ วาระหลัก และ ๕ ประเด็นย่อย ที่ไทยจะขับเคลื่อน ในฐานะเจ้าภาพ โดย ๓ วาระหลัก ได้แก่ (๑) การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน (๒) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปค โดยเฉพาะด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว และ (๓) ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ ๕ ประเด็นย่อย ประกอบด้วย (๑) การส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างเสรี (๒) การก้าวไปสู่ สังคมดิจิทัล (๓) สุขภาวะ (๔) ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และ (๕) การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ รวมถึงโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy ที่จะนำมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด-๑๙ นอกเหนือจากนโยบาย Thailand 4.0 และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
  • On 18 January 2021, Prime Minister Prayut Chan-o-cha chaired the First National-Level Preparatory Meeting for the APEC Economic Leaders' Meeting 2022 and related meetings.
  • The preparatory meeting agreed to propose 3 priorities + 5 issues, as the APEC 2022 main agenda. The focus will be how APEC could help steer and rejuvenate the regional economy in the post-COVID-19 era.
  • The 3 priorities include (1) trade and investment facilitation,
    (2) revitalisation of APEC connectivity, especially travel and tourism and
    (3) promotion of sustainable and inclusive growth and development, especially reducing social inequality and environmental protection.
  • The 5 issues to be driven under the 3 priorities include (1) promotion of free trade, (2) digital transformation, (3) well-being, (4) food security and agriculture and (5) inclusive, sustainable and responsible growth and development, including the Bio-Circular-Green Economy (BCG) Model.

 

๕. การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการบริหารแม่น้ำโขงผ่านเวทีระหว่างประเทศในภูมิภาค

  • ตามที่เกิดกรณีการลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เนื่องจากทางการจีนมีการกั้นน้ำไว้ที่เขื่อนจิ่งหง เพื่อทดสอบระบบผลิตไฟฟ้าของเขื่อน เมื่อต้นเดือนมกราคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเกี่ยวกับระดับน้ำในแม่น้ำโขง ร่วมกันติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างทันที เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดยได้แจ้งความกังวลของไทยต่อฝ่ายจีนในทันที ทั้งผ่านกลไกทวิภาคี กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) และองค์กรความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) โดยย้ำให้ฝ่ายจีนแจ้งข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ ที่จะสร้างผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงสายประธานให้ประเทศท้ายน้ำทราบ และสามารถผลักดันให้จีนแจ้งข้อมูลเรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขงให้ประเทศสมาชิกทราบตลอดทั้งปี
  • ล่าสุด ตั้งแต่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ เป็นต้นมา สทนช. แจ้งว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในพื้นที่ดังกล่าวได้กลับเข้าสู่ระดับปกติ

 

๖. การให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศและมาตรการการคัดกรองการเดินทางเข้าไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

    ๖.๑ มาตรการการคัดกรองผู้เดินทางเข้าไทยจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างรุนแรง

  • โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในต่างประเทศยังคงรุนแรงนายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้กระทรวงการต่างประเทศ ผ่านสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่/สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยในต่างประเทศให้สามารถเรียกเอกสารเพิ่มเติมจากผู้มีสัญชาติไทยที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย อาทิ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโควิด-๑๙ (COVID-free) นอกเหนือจากหนังสือรับรอง Certificate of Entry และใบรับรองแพทย์ Fit to Fly/Fit to Travel ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่ต้นทางให้เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ยิ่งขึ้น
  • การดำเนินมาตรการนี้มีความจำเป็นเฉพาะในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรงเท่านั้น โดยไม่ต้องการให้เป็นการเพิ่มภาระให้แก่คนไทยที่ประสงค์จะเดินกลับประเทศไทยจนเกินสมควรแก่เหตุ

    ๖.๒ สถานะล่าสุดการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกคนไทยและชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศไทย

  • นับตั้งแต่มีมาตรการชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อำนวยความสะดวกให้คนไทยกลับ ปทท. ตั้งแต่ ๔ เม.ย. ๖๓ - ๒๐ ม.ค. ๖๔ แล้วทั้งสิ้น ๑๕๘,๓๐๐ คน แบ่งเป็น (๑) ทางอากาศ ๑๒๔,๗๙๒ คน (๒) ทางบก ๓๑,๒๗๐ คน (๓) ทางน้ำ ๒,๒๓๘ คน ในจำนวนคนไทยเดินทางเข้า ปทท. ทั้งหมด มีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ สะสมทั้งหมด ๑,๓๒๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๐.๘๔ ของ ผู้ที่เดินทางกลับจาก ตปท. ทั้งหมด (สถานะ ณ ๒๑ ม.ค. ๖๔)
  • กระทรวงฯ ได้ออก COE สำหรับชาวต่างชาติกลุ่ม ต่าง ๆ แล้วทั้งสิ้น ๗๐,๗๓๐ คน (สถานะ ณ ๒๐ ม.ค. ๒๕๖๔) ล่าสุด มีผู้ลงทะเบียนในระบบ COE ออนไลน์แล้วทั้งสิ้น ๘๖,๔๘๙ คน แบ่งเป็นคนไทย ๔๘,๕๕๐ คน คนต่างชาติ ๓๗,๙๓๙ คน

    ๖.๓ ผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานในทีมประเทศไทยท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการการดูแลให้ความช่วยเหลือ

  • จำนวนข้าราชการ คู่สมรสและครอบครัว ที่ประจำอยู่ทั่วโลก ติดเชื้อโควิด-๑๙ สะสม รวม ๖๓ คน ได้แก่ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ๑๑ คน คู่สมรส ๓ คน และบุตร ๑ คนข้าราชการหน่วยงานทีมประเทศไทย ๒ คน และคู่สมรส ๑ คน ลูกจ้างท้องถิ่น ๔๐ คน คู่สมรส ๔ คน และบุตร ๑ คน ในจำนวนนี้ มีผู้ที่รักษาหายแล้วรวม ๓๑ คน และเสียชีวิต ๓ คน ซึ่งทั้ง ๓ คนเป็นลูกจ้างของสำนักงานในต่างประเทศ
  • ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และดูแลสวัสดิภาพข้าราชการ ลูกจ้างและสมาชิกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ โดยได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ทยอยส่งหน้ากากอนามัยให้ทุกสำนักงานแห่งละ ๒,๑๐๐ ชิ้น และชุด PPE ซึ่งได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อส่งให้ทุกสำนักงานเพิ่มเติม

๗. ประชาสัมพันธ์

  • สารคดีพิเศษรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ใน ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๒๑.๐๐ น.เชิญชวนให้ทุกท่านรับชมสารคดีพิเศษรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล โดยมีกำหนดจะออกอากาศทางสถานี MCOT HD ช่อง ๓๐ ใน ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๒๑.๐๐ น.
  • กระทรวงการต่างประเทศเปิดรับสมัครสอบแข่งขันเข้ารับราชการในตำแหน่งนักการทูตปฏิบัติการ ประจำปี ๒๕๖๔ ระหว่าง ๑๑ มกราคม - ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ผู้สนใจ สามารถส่งสมัครได้ทางเว็บไซต์ของกระทรวงฯ mfa.go.th
  • Spokesman Live การสัมภาษณ์คุณสุทธิชัย หยุ่น อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจะสัมภาษณ์คุณสุทธิชัย หยุ่น ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ ระหว่างเวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ในหัวข้อ“สื่อมวลชนในโลกปกติวิถีใหม่กับภารกิจด้านการต่างประเทศของไทย: โอกาส อุปสรรคและสิ่งท้าทาย” โดยสามารถติดตามย้อนหลังได้ทาง Facebook Live“กระทรวงการต่างประเทศ”และ“Saranrom Radio”

 

โปรดติดตามคลิปการแถลงข่าวตามนี้  >>>>>

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

2564-01-22_แถลงข่าว_กต_22_Jan_final.pdf