สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,541 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

 

. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือกับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับเมียนมา (วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕)

  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนางโนลีน เฮย์เซอร์ (Ms. Noeleen Heyzer) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา (Special Envoy of the Secretary-General of the United Nations on Myanmar)
  • ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา รวมถึงการสู้รบบริเวณใกล้ชายแดนไทย-เมียนมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นมา ส่งผลให้ชาวเมียนมาต้องหนีภัยเข้ามาในฝั่งไทย และเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ความสงบ เสถียรภาพ และความเป็นปกติสุขกลับคืนสู่เมียนมาโดยเร็ว
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติและอาเซียนในการแสวงหาทางออกอย่างสันติสำหรับสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะการผลักดันให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อของอาเซียน และสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน ไทยพร้อมสนับสนุนอาเซียนและกัมพูชาในการดำเนินการนี้อย่างเต็มที่
  • ไทยยังคงจะให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่เข้ามาในฝั่งมาไทยตามหลักมนุษยธรรม พันธกรณีระหว่างประเทศ และประสบการณ์ที่ยาวนานของไทย และพร้อมสนับสนุนการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเมียนมา
  • นางเฮย์เซอร์ชื่นชมบทบาทของไทยในการประสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่าง ๆ โดยได้แสดง ความพร้อมที่จะช่วยเชื่อมต่อความพยายามดังกล่าวกับสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศ
  • ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาได้เข้าเยี่ยมนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาในเมียนมา ทั้งในบริบทความสัมพันธ์ทวิภาคี ความร่วมมือกับอาเซียน และสหประชาชาติ ประเด็นปัญหาในเมียนมามีความซับซ้อน ซึ่งต้องมองด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาอย่างแท้จริง
  • นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ควรแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความเข้าใจ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้นำเมียนมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ปัญหา ไทยได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ การยุติการใช้ความรุนแรง การพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยสันติ และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา ไทยพร้อมที่จะช่วยขับเคลื่อนความพยายามในด้านนี้ของอาเซียนและของประชาคมโลก ผ่านการขนส่งลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในเมียนมา โดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนทางการแพทย์และมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง
  • นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเมียนมาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อแสวงหาทางออกสู่สันติภาพ และสวัสดิภาพของประชาชนเมียนมา

 

. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๕)

  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับนายฮากิอูดะ โคอิจิ (H.E. Mr. HAGIUDA Koichi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Minister of Economy, Trade and Industry - METI) ในการเยือนประเทศไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ที่กระทรวงการต่างประเทศ
  • ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกมิติ การเยือนไทยในครั้งนี้จะช่วยกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโอกาสการครบรอบ ๑๓๕ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้
  • ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบเอเปค โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของไทยกับยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น เรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific -FTAAP) การเสริมสร้างความเชื่อมโยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอนาคตผ่านการร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) ระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่นภายใต้ข้อริเริ่ม Asia-Japan Investing for the Future ของญี่ปุ่น รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ด้วย
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้เยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและได้หารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ นายกรัฐมนตรีขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความเชื่อมั่นในการมาลงทุนในไทยจากการที่ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ ๑ ของไทยติดต่อมาหลายทศวรรษ และเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยด้วย โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการแพทย์

 

. ผลการสัมมนาเอเปค “การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSMEs เพื่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ครอบคลุมและยั่งยืน: การลดขยะภาค อาหารในห่วงโซ่อุปทาน” (วันที่ ๑๓ - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕)

  • ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSMEs (วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย) เพื่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ครอบคลุมและยั่งยืน: การลดขยะภาคอาหารในห่วงโซ่อุปทาน” (APEC Workshop on Enhancing Green MSMEs’ Competitiveness for a Sustainable and Inclusive Asia - Pacific: Food Sector Waste Reduction in Food Supply Chain) โดยได้จัดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคของไทย (APEC Business Advisory Council - ABAC)
  • นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดงาน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการขยะอาหารจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการส่งเสริมการลดขยะภาคอาหารในห่วงโซ่อุปทานของ MSMEs ไปจนถึงโมเดลธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชั่น โดยการประชุมนี้สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕
  • แนวคิดสำคัญที่ได้จากการประชุมฯ คือ (๑) ความท้าทายหลักสำหรับ MSMEs ในการการลดขยะอาหารคือ ต้นทุนและข้อจำกัดด้านศักยภาพ ซึ่งความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในระดับภูมิภาค และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัลโซลูชั่นจะเป็นตัวสนับสนุนที่ดี (๒) การลดขยะอาหาร อาศัยความร่วมมือแบบองค์รวมจากทุกภาคส่วน โดยควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อการป้องกันการสร้างขยะมากกว่าการจัดการขยะและฟื้นฟูและ (๓) การใช้ประโยชน์จากอาหารอย่างเต็มศักยภาพและแปลงขยะให้มีมูลค่าถือเป็นปัจจัยสำคัญ
  • ไทยพยายามให้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยส่งผลที่เป็นรูปธรรมต่อภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชน

 

. โอกาสของผู้ส่งออกผลไม้ไทยในการใช้ด่านรถไฟผิงเสียง ส่งออกผลไม้ไปประเทศจีน

  • เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๕ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าได้ลำเลียงทุเรียนไทย จำนวน ๑๗ ตู้ รวมน้ำหนัก ๒๘๘ ตัน มูลค่า ๑๑ ล้านหยวน (ประมาณ ๕๗ ล้านบาท) ผ่านเข้าสู่ประเทศจีนผ่านทางด่านรถไฟผิงเสียง ซึ่งนับเป็นขบวนรถไฟขนส่งผลไม้จากอาเซียนขบวนแรกที่เข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียงหลังจากที่ความตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
  • ด่านรถไฟผิงเสียง เป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของประเทศจีนและเป็นทางเลือกการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน จากเดิมที่เคยใช้ทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางเครื่องบินเท่านั้น โดยด่านแห่งนี้ได้ติดตั้งระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบสินค้า ลดความเสียหายของผลไม้จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตู้สินค้า ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมทั้งลดระยะเวลาในการรอผ่านแดนของด่านทางบกที่ใช้ระยะเวลานานกว่า
  • ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเที่ยวรถไฟเวียดนาม-จีน ในการลำเลียงสินค้าเข้าสู่ตลาดทั่วประเทศจีน โดยสามารถใช้รถบรรทุกสินค้าลำเลียงสินค้าออกจากภาคอีสานทางถนน R8 (หนองคาย) R9 (มุกดาหาร) และ R12 (นครพนม) ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่เวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย แล้วไปที่สถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน ซึ่งติดกับจีน เพื่อลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟ ก่อนเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงด้วยระยะทางเพียง ๑๗ กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งเพียง ๑ ชั่วโมง โดยเมื่อผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียงแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกเพื่อกระจายผลไม้ไปยังหัวเมืองอื่นทั่วจีนได้เช่นกัน
  • ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (https://thaibizchina.com) ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม (https://thaibiz-vietnam.com/) และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (https://business.mfa.go.th/)

 

. ไต้หวันประกาศห้ามคนไทยนำเนื้อสัตว์เข้าประเทศ

  • ตามที่มีข่าวไต้หวันประกาศห้ามคนไทยนำเนื้อสัตว์เข้าประเทศ โดยเฉพาะเนื้อหมู ฝ่าฝืนมีโทษปรับ ๑ ล้านบาท นั้น ขอเรียนว่ารายงานนี้เป็นข่าวจริง แต่รายงานคลาดเคลื่อนข้อมูลไม่ครบถ้วน ไต้หวันประกาศห้ามนำเข้าเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์หมูจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรค ASF รวมถึงประเทศไทย และรายงานโทษค่าปรับคลาดเคลื่อนในกรณีการกระทำความผิดครั้งแรก และการกระทำความผิดซ้ำ
  • สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป ไต้หวัน) รายงานว่า ไต้หวันห้ามการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศโดยบุคคลทั่วไป ทั้งการสั่งของทางไปรษณีย์และการนำเข้ามาพร้อมกับสัมภาระเมื่อเดินทางเข้าไต้หวัน ซึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยและจีน ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever – ASF)
  • สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้ประชาสัมพันธ์เตือนคนไทยในไต้หวันห้ามสั่งผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเข้ามายังไต้หวัน ผ่านช่องทาง Facebook ของสำนักงาน และเครือข่ายคนไทยในไต้หวันแล้ว นอกจากนี้ สำนักงานแรงงาน ณ ไทเป และสำนักงานแรงงาน ณ เกาสง ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับแรงงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามที่กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศเตือน โดยแรงงานต่างชาติที่ลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากประเทศที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงของโรค ASF จะถูกปรับหรือดำเนินคดี และจะถูกยกเลิกใบอนุญาตทำงานและส่งกลับประเทศ เนื่องจากผิดเงื่อนไขตามกฎหมายบริการจ้างงาน Employment Service Act ด้วยการทำผิดกฎหมายในไต้หวัน
  • เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕ กรมตรวจสอบและกักกันสุขภาพสัตว์และพืช (Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine – BAPHIQ) ของไต้หวัน ออกประกาศว่า บุคคลที่พยายามนำเข้าเนื้อหมู หรือผลิตภัณฑ์หมูจากประเทศไทย จะมีโทษปรับอย่างน้อย ๒ แสนดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ บาท) ในขณะที่ผู้กระทำผิดซ้ำจะมีโทษ ๑ ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ ๑,๒๑๐,๐๐๐ ล้านบาท) ภายหลังประเทศไทยยืนยันการพบโรค ASF นอกจากนี้ หากตรวจพบว่า ผู้เดินทางเข้าไต้หวันพยายามนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศไทย และไม่สามารถจ่ายค่าปรับที่ด่านขาเข้าได้ บุคคลนั้นจะถูกส่งกลับประเทศต่อไป

 

. เกาะสมุยได้รับการจัดอันดับ ๗ ของโลกในฐานะเกาะท่องเที่ยวยอดเยี่ยมปี ๒๕๖๔

  • เกาะสมุยได้รับการจัดอันดับ ๗ ของโลก และอันดับ ๒ ของเอเชีย ในฐานะเกาะท่องเที่ยวยอดเยี่ยม ปี ๒๕๖๔ จากการจัดอันดับของนิตยสารแทรเวล แอนด์ เลเชอร์ (Travel and Leisure) นิตยสารด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกชื่อดังของอเมริกา ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวร่วมลงคะแนน ระหว่างวันที่ ๑๑ มกราคม ถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยใช้หลักเกณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชายหาด อาหาร ความเป็นมิตร และมูลค่าโดยรวม
  • เกาะสมุยได้รับการประกาศว่าเป็นเกาะที่มีชายฝั่งทะเลที่สวยงาม น้ำทะเลใสราวแก้วคริสตัล จุดนี้เองทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติต่างหลงใหลและอยากมาเยือนสมุย โดยผลคะแนนสำรวจเกาะท่องเที่ยวโลกที่ ๑ กับ ๒ ได้แก่ เกาะมิลอสและเกาะโฟเลกันดรอส (Milos and Folegandros) ประเทศกรีซ อันดับ ๓ ได้แก่ เกาะเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ (St. Vincent and the Grenadines) ในทะเลแคริบเบียน
  • เป็นข่าวดี ๆ อีกข่าวหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างประเทศ สามารถเดินทางเข้ามาที่เกาะสมุยในรูปแบบแซนด์บอกซ์ โดยสามารถอยู่ในพื้นที่ ๗ วัน หากมีการฉีดวัคซีนครบโดสและแสดงหลักฐานการจองการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ครบถ้วน ซึ่งเกาะสมุยถือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมสูงในด้านการบริหารจัดการด้านสาธารณสุุขของไทย

 

. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๕) เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายจักรกฤดิ กระจายวงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด หัวข้อ “๗๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย- ปากีสถาน” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
  • ในวันพรุ่งนี้ (วันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๕) เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายรัชฎา จิวาลัย กงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง หัวข้อ “Thailand’s Economic and Investment Opportunities in Penang and the Northern Malaysia” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”

 

. รายการ Spokesman Live!!!

  • ในวันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ขอเชิญติดตามรายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส หัวข้อ “การส่งเสริม Soft Power ของคนไทยในต่างแดน” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

 * * * * *

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/aEGEomxioD/

คลิปแถลงข่าวช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: 

https://www.youtube.com/user/mfathailand

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_20_มค._as_delivered.pdf