สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,329 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

 

  • ขณะนี้ สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-๑๙ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในการร่วมมือกันเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง

. การกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

  • ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖ (76th Session of the United Nations General Assembly: UNGA76) เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๔
    พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทศวรรษ (2nd Sustainable Development Goals (SDG Moment) of the Decade of Action) ครั้งที่ ๒ ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีสาระสรุปได้ ดังนี้
  • รัฐบาลไทยร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เพื่อดำเนินนโยบาย และใช้งบประมาณให้ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศและนำไปสู่การบรรลุ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตลอดจนได้นำเสนอรายงานผลการทบทวน การดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ระดับชาติ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review--VNR) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รายงานต่อสหประชาชาติ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
  • นายกรัฐมนตรีระบุถึงหมุดหมายที่สำคัญ ๓ ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ดังนี้
    (๑) ส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนทุกช่วงอายุ ผ่านการสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ครอบคลุมและทั่วถึง ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการบริการ สาธารณสุขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถพึ่งพาตนเองได้
    (๒) สร้าง “ความสมดุลของทุกสรรพสิ่ง” ผ่านการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของ ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น เพิ่มมูลค่าให้กับ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร การต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานทดแทน และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลกที่ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตรถไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ ๓๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐
    (๓) ขจัดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (digital literacy) เพื่อปลดล็อคศักยภาพให้แก่ประชาชนในประเทศ ใช้ประโยชน์จากระบบบริหาร จัดการข้อมูล Big Data เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจนอื่น ๆ ต่อไป
  • ทั้งนี้ ในช่วงการประชุม UNGA76 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงของไทยในอีก ๔ วาระ ได้แก่
    • การประชุมสุดยอดโควิด-๑๙ ยุติโรคระบาดและการสร้างกลับมาใหม่ (Global COVID-19 Summit: Ending the pandemic and building back better)
      ในคืนวันนี้ (วันพุธที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะกล่าวถึงความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน
    • การประชุมสุดยอดว่าด้วยระบบอาหาร (Food Systems Summit) ในวันพรุ่งนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๔) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์
      “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สร้างความมั่นคงทางอาหาร และขับเคลื่อนโมเดล BCG เป็นทศวรรษแห่งการทำงาน หรือ Decade of Action พลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืนและสมดุล
    • การประชุมระดับสูงด้านพลังงาน (High-level Dialogue on Energy) ในวันศุกร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์ การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของไทย โดยมุ่งจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ขับเคลื่อนภาคพลังงานของไทยสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ และการลดก๊าซเรือนกระจก และ
    • ในการอภิปรายทั่วไป (General debate) นายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกหลังยุคโควิด-๑๙ ในวันเสาร์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๔
  • สื่อมวลชนที่สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสดการกล่าวถ้อยแถลงฯ ผ่านช่องทาง ดังนี้ (๑) UN Web TV (webtv.un.org) ใน ๖ ภาษาทางการของ UN และ original language ของผู้กล่าวถ้อยแถลง (๒) United Nations channel บน Youtube (youtube.com/unitednations) เฉพาะภาษาอังกฤษ (๓) Facebook (facebook.com/UNWebTV) เฉพาะภาษาอังกฤษ และ (๔) Twitter (twitter.com/UNWebTV) เฉพาะภาษาอังกฤษ

 

. การเยือนสหรัฐอเมริกาฯ ของรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ
ครั้งที่ ๗๖ ณ นครนิวยอร์ก และเยือนกรุงวอชิงตัน

  • นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ
    สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖ (76th Session of the United Nations General Assembly–UNGA76) ณ นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๙ กันยายน ๒๕๖๔
  • โดยเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นวันแรกของภารกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาหารเช้า ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม และเข้าร่วมในพิธีเปิดการอภิปรายทั่วไปของการประชุม UNGA76 โดยได้รับฟังการกล่าวถ้อยแถลงของผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีบราซิล นอกจากนี้ ยังได้ทักทายกับผู้นำและรัฐมนตรีประเทศต่าง ๆ  เช่น ประธานาธิบดีเวียดนาม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและจับมือให้อุ่นกับนานาประเทศ
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าต่างประเทศ ๔ ประเทศ ดังนี้
  • นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย ในลักษณะการหารือแบบ pull-aside โดยทั้งสองยินดีกับความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีพลวัต ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-๑๙ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ
  • ดร. อับดุลละฏีฟ บิน รอชิด อัซซัย รัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน ทั้งสองฝ่ายได้หารือส่งเสริมความร่วมมือ และเห็นพ้องจัดตั้งกลไกเพื่อติดตามโครงการที่สองประเทศดำเนินร่วมกัน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรนเยือนประเทศไทย ย้ำการให้สนับสนุนบาห์เรนในการเป็นประธานกรอบความร่วมมือเอเชีย Asia Cooperation Dialogue (ACD) วาระปี ๒๕๖๔ - ๒๕๖๕ ซึ่งในกรอบการประชุมนี้จะเน้นผลักดันประเด็นความมั่นคงทางสุขภาพ
  • นายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม โดยแจ้งการให้ความช่วยเหลือของไทยในการช่วยเวียดนามรับมือการแพร่ระบาด
    โควิด-๑๙ และย้ำความพร้อมเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม ครั้งที่ ๔ หรือ JCBC ในปลายปีนี้
  • นายเปเตอร์ ซิยาร์โท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี โดยได้หารือส่งเสริมความร่วมมือทางสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนโควิด-๑๙ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากฮังการี และไทยยังได้ขอบคุณฮังการีที่ช่วยสนับสนุนการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-EU และใช้โอกาสนี้ ส่งเสริม
    การส่งออกยางพาราของไทยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ของฮังการี และเชิญชวนภาคเอกชนฮังการีมาลงทุนในโครงการ EEC ด้วย
  • ระหว่างการประชุม UNGA76 ณ นครนิวยอร์ก รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดภารกิจพบหารือทวิภาคีกับบุคคลสำคัญจำนวนมาก ได้แก่
    • กับผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติ ได้แก่ นายอันโตนิโอ กูร์เตอเรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ และนายอับดุลเลาะฮ์ ชะฮีด (Abdulla Shahid) ประธานสมัชชาสหประชาชาติ รวมทั้งนาย John Kerry ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านภูมิอากาศ และประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)
    • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประเทศต่าง ๆ ได้แก่ (นอกจากบาห์เรน เวียดนาม และฮังการี ข้างต้น) อินโดนีเซีย สิงคโปร์ คอสตาริกา เปรู อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โมซัมบิก และศรีลังกา
    • ภาคเอกชน ได้แก่ สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council - USABC) และสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา
      (U.S. Chamber of Commerce - USCC) ซึ่งมีความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าไทย - สหรัฐฯ
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีภารกิจสำคัญอื่น ๆ ในช่วง UNGA76 ดังนี้
    • การเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Foreign Ministers' Meeting ในวันพรุ่งนี้ (วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๔)
    • การกล่าวถ้อยแถลงใน ๒ วาระ คือ ในช่วงการประชุมนโยบายต่างประเทศกับสุขภาพโลก (Foreign Policy and Global Health (FPGH) Foreign Ministers’ Virtual Meeting) ในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔ และการประชุมว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า ในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔
  • นอกจากนี้ หลังจากภารกิจ UNGA ที่นครนิวยอร์ก รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเดินทางต่อไปกรุงวอชิงตัน
    ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๔ เพื่อพบหารือผู้แทนระดับสูง ทั้งภาคการเมืองและรัฐบาลของสหรัฐฯ ได้แก่ นาง Tammy Duckworth วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ และ
    นาย Kurt Campbell ผู้ประสานงานสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ สำหรับอินโด-แปซิฟิก (National Security Council Coordinator for
    the Indo-Pacific) รวมทั้งจะพบปะชุมชนไทยที่กรุงวอชิงตันด้วย
    • การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บริหารของกระทรวงการต่างประเทศในการ reconnect กับผู้นำระดับสูงของสหประชาชาติ และรัฐมนตรีต่างประเทศของนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพื่อสานต่อการติดต่อสัมพันธ์และความร่วมมือ และปูทางสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยที่ใกล้เข้ามา และผลักดันประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะแนวทางการขับเคลื่อนประเทศ การเน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกใน การรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลก และการร่วมกันฟื้นฟูหลังโควิด-๑๙ ในช่วงที่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยเริ่มจะเปิดประเทศ

 

. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฝ่ายเอเชียขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe (OSCE) Asian Conference)

  • เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ ในช่วงพิธีเปิดการประชุม
    ฝ่ายเอเชียของการประชุมองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป
  • ถ้อยแถลงของรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรับมือความท้าทายอุบัติใหม่อย่างโควิด-๑๙ และย้ำแนวทาง
    การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิด-๑๙ ๒ ประการ ได้แก่
    (๑) การให้ความสำคัญต่อการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมให้ประชาคมโลกเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึงผ่านการแบ่งปันวัคซีน
    การฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทาน และการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในทุกมิติ
    (๒) การส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นฟูอย่างเท่าเทียม
  • ผู้สนใจสามารถรับชมถ้อยแถลงย้อนหลังได้ที่เฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศ หรือเว็บไซต์ org/live
     

. การผ่อนคลายมาตรการสำหรับชาวต่างชาติจากภูมิภาคเอเชียใต้ในการเดินทางเข้าประเทศไทย

  • เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ใน ๕ ประเทศ ได้แก่ อินเดีย
    บังคลาเทศ ปากีสถาน เนปาล และมัลดีฟส์ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ที่ประชุม ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-๑๙ (ศปก.ศบค.) จึงเห็นควรอนุญาตให้ออกเอกสาร Certificate of Entry (COE) สำหรับบุคคลต่างชาติ ทุกประเภทที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียใต้ เข้าประเทศไทยได้ตามปกติแล้ว โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคและเข้ารับการกักตัวตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
    โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ ให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ของไทยใน ๕ ประเทศนี้ ให้ดำเนินการตามมาตรการผ่อนคลายดังกล่าวแล้ว
  • สำหรับการเดินทางเข้าโครงการพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องต่าง ๆ (Sandbox) ยังเป็นตามมาตรการและรายชื่อประเทศเดิม ซึ่งยังไม่รวมบุคคลต่างชาติจาก ๕ ประเทศดังกล่าว โดยสามารถศึกษารายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามช่องทาง
    • เว็ปไซต์กระทรวงการต่างประเทศ สำหรับการลงทะเบียนขอรับ COE
      https://coethailand.mfa.go.th
    • เว็ปไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำหรับโครงการพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง
      https://www.tatnews.org/2021/09/phuket-sandbox-faqs/

- Easing of measures for foreign nationals from South Asia entering Thailand

  • Thailand decided to ease travel measure on 5 countries namely India, Bangladesh, Pakistan, Nepal, and Maldives. The Center for Covid-19 Situation Administration (CCSA) has now approved the resumption of the visa and COE issuance for all types of visa categories traveling from these 5 countries to Thailand.
  • All passengers must follow the Royal Thai Government’s procedures and measures, including mandatory quarantine requirement, for a period of 14 days with no exception regardless of whether the person has been vaccinated or not and the travelers have to fulfil each visa’s requirements and eligibilities.
  • Travels to Phuket Sandbox, Samui Plus Sandbox, and other initiatives are subject to the lists of eligible countries and port of departure, as officially announced by Tourism Authority of Thailand. The lists of eligible countries and port of departure remain unchanged, meaning that Phuket Sandbox and Samui Plus Sandbox will not accept travelers from the 5 countries yet. We are working now on this measure. But the normal travel is allowed for these five countries.
  • For more information, please visit the website;

* หมายเหตุ สถานะล่าสุด ณ วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการเข้าออกประเทศฯ อนุมัติประเทศที่สามารถเข้าพื้นที่จังหวัดนำร่องเพิ่มเติม จำนวน ๘ ประเทศ ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการจัดประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพปีหน้า ดังนี้ (๑) อินเดีย (๒) มัลดีฟส์ (๓) ซาอุดีอาระเบีย (๔) จอร์แดน (๕) โอมาน (๖) เปรู (๗) คีร์กีซสถาน และ (๘) คาซัคสถาน

 

. กรณีการให้ความช่วยเหลือหญิงไทยตกทุกข์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

  • ตามที่ได้มีข่าวออกทางสื่อของไทย เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ที่ผ่านมา กรณีหญิงไทยร้องขอความช่วยเหลือว่าถูกหลอกให้มาขายบริการที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ
    ขอความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทย
  • หลังจากที่รับทราบเรื่องดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต ณ  กรุงอาบูดาบี และสถานกงสุลใหญ่  ณ  เมืองดูไบ ร่วมกับอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งประสานให้ความช่วยเหลือหญิงสาวรายดังกล่าวทันที
  • หญิงสาวรายนี้มีบุคคลชักชวนให้มาทำงานนวดที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยจะไม่ได้รับค่าจ้าง แต่จะได้รับเป็นเงินค่านายหน้าประมาณเดือนละ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ บาท จึงตัดสินใจเดินทางมาที่เมืองดูไบ โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔ เมื่อไปถึงกลับถูกบังคับให้ขายบริการ จึงขอยกเลิกและขอเดินทางกลับประเทศไทย แต่บุคคลที่ชักชวนมาเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก ผู้ร้องจึง ขอความช่วยเหลือผ่านเพจโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
  • ต่อมา สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ และฝ่ายแรงงานฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหญิงไทยคนดังกล่าวได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วเมื่อวาน
    (วันที่ ๒๑ กันยายน) โดยขณะนี้ ได้เข้ารับการกักกันตัวที่โรงแรมกักกันตัวทางเลือก
  • กระทรวงการต่างประเทศ ขอย้ำให้ผู้ที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ศึกษารายละเอียดการทำงาน ชนิดของงาน และความน่าเชื่อถือของนายจ้างอย่างรอบคอบถี่ถ้วนก่อนเดินทาง รวมทั้งอย่าลักลอบไปทำงานในต่างประเทศโดย ผิดกฎหมาย หรือใช้วีซ่าผิดประเภท เนื่องจากอาจถูกปฏิเสธ การเข้าเมือง หรือถูกจับกุม
    ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทย อาจไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกกรณี และไม่สามารถช่วยเหลือให้พ้นผิดจากกฎหมายท้องถิ่นได้ นอกจากนั้น เงื่อนไขในการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ และค่าตอบแทน อาจไม่ตรงกับที่โฆษณากล่าวอ้าง รวมทั้งอาจเกิดกรณีถูกยึดหนังสือเดินทาง หรือถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยว ตามที่ปรากฏในข่าวข้างต้นได้ ผู้ที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศควรระมัดระวังคำชักชวนที่มีข้อเสนอที่ดีเกินจริง โดยสามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากกระทรวงการต่างประเทศ (กรมการกงสุล และกรมสารนิเทศ) หรือกระทรวงแรงงาน รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ในเมืองปลายทาง

 

. การให้ความช่วยเหลือ สปป.ลาว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

  • นายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ กงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต และสถานกงสุลใหญ่ฯได้จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งของจำเป็นและเครื่องอุปโภคบริโภค มูลค่าประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ไปมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สปป.ลาว ในแขวงสะหวันนะเขตแขวงคำม่วน แขวงสาละวัน และแขวงจำปาสัก สำหรับใช้ประโยชน์ในการดูแลแรงงานที่เดินทางกลับจากไทยและอยู่ระหว่างการกักตัวในแขวงทางใต้ที่มีชายแดนติดกับไทย อาทิ มุ้ง หมอน ผ้าห่ม เสื่อ ชุดป้องกันเชื้อโรคหรือชุด PPE หน้ากากอนามัย
  • โดยล่าสุดได้ทยอยจัดส่งสิ่งของดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ จนครบถ้วนแล้วทั้ง ๔ แขวง โดยกงสุลใหญ่และรองกงสุลใหญ่ฯ ได้เดินทางไปมอบด้วยตนเองในแขวงสะหวันนะเขตและแขวงคำม่วน ส่วนอีกสองแขวงยังมีสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ จึงใช้วิธีจัดส่งโดยบริษัทขนส่งเอกชนเรียบร้อยแล้ว

๗. ประชาสัมพันธ์

    ๗.๑ รายการ Spokesman Live!!!  สัมภาษณ์ ดร. สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น หัวข้อ “ร้อยแก่นสารสินธุ์: เมืองนวัตกรรมระบบราง กับโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ” ในวันศุกร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๓.๓๐ น. สามารถติดตามชมได้ที่เฟซบุ๊ค “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

    ๗.๒  รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นางสาวสวียา สันติพิทักษ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา หัวข้อ“สายใยความสัมพันธ์ไทย กับอินเดียตะวันออก: อดีต ปัจจุบัน อนาคต”ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”

    ๗.๓ รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) สัมภาษณ์นางสาวภัคจิรา ศรีเจริญ นักการทูตปฏิบัติการ กรมยุโรป หัวข้อ “Commemorating 400 Years of Friendship between Thailand and Denmark” ในวันศุกร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ สามารถรับฟังย้อนหลังได้ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”

 

๘. คำถามจากผู้ชม

  • ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติในประเทศไทย – กระทรวงการต่างประเทศ (กรมการกงสุล) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติในไทยที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://expatvac.consular.go.th ของกรมการกงสุล ไปแล้วกว่า ๓๑,๐๐๐ คน มากกว่าร้อยละ ๕๐ จากจำนวนผู้ลงทะเบียนกว่า ๖๑,๐๐๐ คน
  • การช่วยเหลือค่ากักตัวแรงงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ – กระทรวงการต่างประเทศได้เคยแถลงข่าว เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๔ แจ้งว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศของคณะทำงานอำนวยการจัดเตรียมสถานที่กักกันสำหรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากการทำงานจากต่างประเทศ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายกักกันตัวให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยสามารถเข้ากักกันตัวในโรงแรมสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Quarantine: AQ) จำนวน ๒๑ แห่ง
    ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.mfa.go.th/th/content/weeklypressbriefing02092564?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d

* * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_22_ก.ย._64.pdf