รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันสร้างอนาคตที่ครอบคลุม-ยืดหยุ่น-ยั่งยืน-มีนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันสร้างอนาคตที่ครอบคลุม-ยืดหยุ่น-ยั่งยืน-มีนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,016 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผลักดันการสร้างอนาคตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น ยั่งยืน และมีนวัตกรรม โดยเน้นการปฏิรูปโครงสร้างภายในให้เอื้อต่อการค้า และการลงทุน เสริมสร้างศักยภาพของวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) สตรี และเยาวชน เสริมสร้างทักษะแรงงานเพื่อรองรับยุคปกติใหม่และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นหุ้นส่วนที่ยั่งยืน รวมทั้ง ได้หารือเรื่องความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงยาและวัคซีนโควิด-๑๙ ในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๑ เพื่อเตรียมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๗

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๑ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๗ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

ที่ประชุมย้ำความสำคัญของบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่เสรี เปิดกว้าง ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส และคาดเดาได้ ในฐานะปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตและความมั่งคั่งร่วมกันของภูมิภาค และเรียกร้องว่า ในช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายเผชิญกับผลกระทบของโควิด-๑๙ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยึดมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่เป็นไปตามกฎระเบียบ เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) จะส่งสัญญาณเชิงบวกและย้ำความมุ่งมั่นต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และปฏิเสธกระแสกีดกันทางการค้า

การฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคหลังยุคโควิด-๑๙ จะต้องเป็นไปอย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม ยั่งยืน และยืดหยุ่น โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล การปฏิรูปโครงสร้างภายในให้เอื้อต่อการค้า และการลงทุน เสริมสร้างศักยภาพของวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง หรือ MSMEs ผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลกและเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะถูกบรรจุไว้ในวิสัยทัศน์หลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ซึ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจะให้การรับรองในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๗ ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เพื่อใช้เป็นแนวทางกำกับความร่วมมือของเอเปคในระยะ ๒๐ ปีต่อไป

ในการประชุมดังกล่าว ไทยผลักดัน ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) เอเชีย-แปซิฟิกในอนาคตจะต้องมีนวัตกรรม ยืดหยุ่น และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ (๒) สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์ทางการค้าเป็นพื้นฐานสำคัญ และการดำเนินงานขององค์การการค้าโลก หรือ WTO อย่างมีประสิทธิภาพ (๓) การสร้างอนาคตที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น ยั่งยืน และพร้อมสำหรับยุคดิจิทัล ให้ความสำคัญกับ MSMEs แรงงานในภาคบริการ สตรี และเยาวชน โดยสนับสนุนด้านการเงิน และการเสริมสร้างความรู้และทักษะแรงงานที่สอดรับกับยุคปกติใหม่ (new normal) และการทำธุรกิจทางดิจิทัล สนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model รวมถึงผลักดันให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และ (๔) ย้ำความสำคัญของการเคลื่อนย้ายของคนและสินค้าที่จำเป็นในสถานการณ์โควิด-๑๙ เรียกร้องให้เอเปค ร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาและวัคซีนโควิด-๑๙ อย่างทันท่วงที เป็นธรรม และราคาเข้าถึงได้

รัฐมนตรีเอเปคได้รับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๑ ซึ่งย้ำความสำคัญของการรับมือและการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-๑๙ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายใน และการร่วมมือเพื่อมุ่งสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ