รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดการประชุม ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development ครั้งที่ 2 ที่กรุงบรัสเซลส์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดการประชุม ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development ครั้งที่ 2 ที่กรุงบรัสเซลส์

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,627 view
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development ครั้งที่ 2 ร่วมกับนางยุตต้า อูรปิไลเนน (Jutta Urpilainen) กรรมาธิการยุโรปด้านหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรป สำนักเลขาธิการอาเซียน และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้คณะกรรมาธิการยุโรป ตลอดจนผู้แทนจากสถาบันการเงินและองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank – EIB) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(International Labour Organization - ILO) เข้าร่วมด้วย
 
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำถึงแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) ดังนี้ (1) การพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ และการเสริมสร้างบทบาทของสตรี (2) การพัฒนาเพื่อส่งเสริมการเติบโตสีเขียว และ (3) การพัฒนาที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในรูปแบบ “PPPP” (Public-Private-People Partnership)
 
ทั้งนี้ ในช่วงการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งมีนางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายคูน ดูนส์  (Koen Doens) อธิบดีกรมความร่วมมือและการพัฒนาระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปเป็นประธานร่วม ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปในเรื่องดังกล่าว โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องถึงความสำคัญของการสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างสองภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมการเติบโตสีเขียวและการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และการจัดการขยะทะเล นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างบทบาทของสตรีและเยาวชนสตรีอย่างรอบด้าน โดยอาเซียนและสหภาพยุโรปสามารถส่งเสริมความร่วมมือต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นได้ ผ่านเวทีและกลไกที่มีอยู่แล้ว อาทิ ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue – ACSDSD) และศูนย์อาเซียนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และที่ประชุมฯ ได้เห็นพ้องให้จัดการประชุม ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development เป็นประจำต่อไป
 
อนึ่ง สหภาพยุโรปยังได้ใช้โอกาสของการประชุมครั้งนี้ ประกาศให้การสนับสนุนกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility - ACGF) และความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับศูนย์ ACSDSD ในด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ